×

พิชัยปิดดีลเจรจาความตกลงการค้าเสรี EFTA รอนายกฯ ลงนามมกราคมปีหน้า พร้อมสรุปผล FTA ฉบับแรกของไทยกับยุโรป

โดย THE STANDARD TEAM
30.11.2024
  • LOADING...
พิชัย EFTA

วันนี้ (30 พฤศจิกายน) พิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ EFTA Secretariat ประกาศความสำเร็จของการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-เอฟตา ที่ครอบคลุมทุกด้าน ซึ่งเป็นข้อสรุปจากหัวหน้าคณะผู้แทนของทุกชาติ วันนี้กระทรวงพาณิชย์จึงขอร่วมประกาศความสำเร็จในโอกาสที่ไทยสรุปผลการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) กับ ‘เอฟตา’ หรือสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association) ประกอบด้วยสมาชิก 4 ประเทศคือ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ 

 

ทั้งนี้ เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลไทยที่ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ตนเองเร่งดำเนินการเจรจาจัดทำ FTA กับประเทศคู่ค้าไทยต่างๆ ให้สำเร็จ เพื่อเพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าและบริการ สร้างแต้มต่อทางการค้าให้ผู้ประกอบการของไทย รวมทั้งดึงดูดต่างชาติมาลงทุนในไทยมากยิ่งขึ้น ซึ่งไม่ว่าหน่วยงานต่างชาติใดมาพบปะหารือกับรัฐบาลไทยก็จะสนับสนุนการเจรจาเอฟทีเอ อาทิ คณะนักธุรกิจจากสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียนที่ส่งเสริมให้ไทยเจรจา FTA กับคู่ค้าสำคัญอย่าง เอฟตา สหภาพยุโรป และแคนาดา

 

กระทรวงพาณิชย์โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้สรุปผลการเจรจา FTA กับเอฟตาสำเร็จ โดยได้ข้อสรุปทุกประเด็นภายใต้การเจรจาทั้งหมด 15 เรื่อง ได้แก่ 

 

  1. การค้าสินค้า 
  2. กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า 
  3. การอำนวยความสะดวกทางการค้า 
  4. มาตรการเยียวยาทางการค้า 
  5. มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช 
  6. มาตรการอุปสรรคเทคนิคต่อการค้า 
  7. การค้าบริการ 
  8. การลงทุน 
  9. ทรัพย์สินทางปัญญา 
  10. การแข่งขัน 
  11. การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ 
  12. การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน (ครอบคลุมประเด็นสิ่งแวดล้อมและแรงงาน) 
  13. ความร่วมมือด้านเทคนิคและการเสริมสร้างศักยภาพ 
  14. ประเด็นกฎหมายและการระงับข้อพิพาท 
  15. วิสาหกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดย่อม (SMEs)

 

พิชัยกล่าวอีกว่า การเจรจา FTA ไทย-เอฟตา ใช้เวลา 2 ปี ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายประกาศเริ่มต้นการเจรจาในปี 2565 ถือเป็นความสำเร็จตามนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ต้องการเร่งขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนกับประเทศคู่ค้าสำคัญ ผ่านการจัดทำ FTA เพื่อลดอุปสรรคทางการค้า อำนวยความสะดวกกับภาคธุรกิจ ยกระดับมาตรฐาน สร้างความเชื่อมั่นและดึงดูดการลงทุน รวมถึงกระชับความสัมพันธ์และสร้างความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน

 

ความสำเร็จในการจัดทำ FTA ฉบับนี้ ถือเป็นหน้าใหม่ของประวัติศาสตร์การค้าไทย เนื่องจากเป็น FTA ฉบับแรกที่ไทยทำกับกลุ่มประเทศในยุโรป มีความทันสมัยและมีมาตรฐานสูง สอดคล้องกับพัฒนาการของกฎเกณฑ์การค้ายุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจะปูทางไปสู่การเจรจาจัดทำ FTA กับคู่ค้าสำคัญอื่นๆ เช่น สหภาพยุโรป เพิ่มเติมต่อไปในอนาคตในขั้นต่อไป 

 

กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จะนำผลการเจรจาเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ เพื่อเตรียมการลงนาม FTA ฉบับนี้ ร่วมกับประเทศสมาชิกเอฟตาในช่วงเดือนมกราคม 2568 ในโอกาสที่นายกรัฐมนตรีและตนจะเดินทางเข้าร่วมการประชุม World Economic Forum (WEF) ณ เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ 

 

จากนั้นรัฐบาล โดยกระทรวงพาณิชย์ จะเสนอความตกลงฉบับนี้ต่อรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบ ก่อนที่ประเทศไทยจะให้สัตยาบันเพื่อให้ความตกลงฉบับนี้มีผลบังคับใช้และเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของไทยอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

 

ทั้งนี้ ปี 2567 (เดือนมกราคม-ตุลาคม) ไทยกับเอฟตามีมูลค่าการค้ารวม 10,293.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 2.03 ของการค้าทั้งหมดของไทยกับโลกขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ร้อยละ 23.22 โดยไทยส่งออกไปเอฟตา 3,787.97 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากเอฟตา 6,505.56 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ, นาฬิกาและส่วนประกอบ, อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป, เครื่องใช้สำหรับเดินทาง, เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล, แผงสวิตช์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า, เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ, เครื่องสำอาง, สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว, ผลิตภัณฑ์พลาสติก และข้าว

 

สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องเพชรพลอยอัญมณี, เงินแท่งและทองคำ, นาฬิกาและส่วนประกอบ, เนื้อสัตว์สำหรับการบริโภค, ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์, ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม, เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ, เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ, เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และการแพทย์, เครื่องประดับอัญมณี รวมถึงสัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูป และกึ่งสำเร็จรูป

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X