เพื่อนเล่าให้คุณฟังว่ามีข่าวแพทย์ไม่รับรักษาผู้ป่วยโควิดรายหนึ่ง ไม่ใช่เพราะเตียงเต็ม แต่เป็นเพราะในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ผู้ป่วยรายนั้นลงคะแนนเลือกพรรคการเมืองคนละพรรคกับแพทย์ที่ตรวจรักษา “ฮะ! เธอเชื่อเรื่องแบบนี้ไปได้ยังไง” คุณรู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นข่าวปลอม เป็นไปไม่ได้ที่แพทย์จะเลือกปฏิบัติกับผู้ป่วยเช่นนี้
“ถ้าเธอไม่เชื่อก็ลองไปเสิร์ชใน Facebook ดูได้” เพื่อนของคุณยืนยัน คุณจึงรีบหยิบมือถือขึ้นมาเสิร์ชตามที่เพื่อนบอก แต่คุณเข้าเว็บไซต์ Google แล้วพิมพ์คำว่า ‘สิทธิผู้ป่วย’
“นี่ไง” คุณหันหน้าจอไปทางเพื่อนแล้วอ่านข้อแรกของคำประกาศสิทธิและข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วย ลงวันที่ 12 สิงหาคม 2558 ว่า “1. ผู้ป่วยทุกคนมีสิทธิขั้นพื้นฐานท่ีจะได้รับการรักษาพยาบาลและการดูแลด้านสุขภาพตามมาตรฐานวิชาชีพจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ”
“ทำไมถึงไม่เสิร์ชหาข่าวที่ว่า” เพื่อนของคุณขมวดคิ้ว
“หมอจะรู้ได้ยังไงว่าผู้ป่วยลงคะแนนเลือกพรรคการเมืองไหน” คุณแย้ง “น่าจะเป็นเพราะเตียงเต็มมากกว่า ตอนนี้เขาให้ผู้ป่วยสีเขียว Home Isolation ที่บ้านได้แล้ว”
ถ้าเป็นแพทย์จริง เขาก็ต้องเคารพสิทธิผู้ป่วย คุณลองเปลี่ยนคำค้นหาใหม่เป็น ‘แพทยสภา จริยธรรม’ แล้วข้อบังคับฯ จริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2559 ก็ขึ้นมา
“อันนี้เป็นฝั่งหมอบ้าง” คุณหันหน้าจอไปทางเดิม พร้อมกับอ่านว่า “ข้อ 7 ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมย่อมประกอบวิชาชีพด้วยเจตนาดี โดยไม่คํานึงถึงฐานะ เชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา สังคม หรือลัทธิการเมือง” คุณอ่านคำสุดท้ายซ้ำอีกรอบ ถ้าเป็นแพทย์จริง เขาก็ต้องไม่เอา ‘ลัทธิการเมือง’ เข้ามาเกี่ยวข้อง จึงหวังว่าเรื่องเพื่อนที่เล่ามาจะไม่ใช่เรื่องจริง
. . .
ตัวละครทั้งหมดเป็นเรื่องสมมตินะครับ แต่เอกสารทั้ง 2 ชิ้นมีอยู่จริง โดย ‘คำประกาศสิทธิและข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วย’ เดิมมีเฉพาะ ‘สิทธิของผู้ป่วย’ (พ.ศ. 2541) แต่ใจความสำคัญไม่แตกต่างกัน ถึงแม้จะรัฐธรรมนูญจะเปลี่ยนไปหลายฉบับ ส่วนจริยธรรมของแพทยสภาข้อ 7 ก็เป็นเนื้อความเดียวกับข้อ 3 ในข้อบังคับฯ ฉบับแรก (พ.ศ. 2526)
ความเห็นต่างเป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตย แพทย์ซึ่งสวมหมวก 2 ใบ ใบแรกคือประชาชนทั่วไป ย่อมมีสิทธิในการแสดงความเห็นทางการเมือง หรือพูดให้ตรงกว่านั้นคือ ‘เลือกข้าง’ ได้ แต่สำหรับใบที่ 2 คือวิชาชีพแพทย์ ในขณะที่รักษาผู้ป่วย แพทย์ต้อง ‘เป็นกลาง’ ทางการเมือง ในความหมายว่า ‘ไม่เลือกปฏิบัติ’ กล่าวคือ
‘ไม่’ เลือกรักษาผู้ป่วยคนนี้เพราะเขามีความเห็นทางการเมืองตรงกัน หรือเลือกปฏิเสธที่จะรักษาผู้ป่วยคนนั้นเพราะเขาคิดเห็นทางการเมืองต่างออกไป เลือกฝั่งรัฐบาล-ฝ่ายค้าน หรือแม้แต่ตีตราผู้ป่วยกับความถูก-ผิดกฎหมาย เพราะขัดกับหลักมนุษยธรรม เพื่อคุ้มครองชีวิต สุขภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือขัดความตั้งใจที่จะช่วยเหลือผู้อื่น
. . .
“นี่ไง! เจอแล้ว” เพื่อนของคุณหยิบมือถือขึ้นมาเสิร์ชบ้างแล้วหันจอมาทางคุณ “หมอบอกว่าเขาจะไม่รับรักษาถ้าผู้ป่วยการ์ดตกเอง” ไม่สวมหน้ากากอนามัย ไม่ล้างมือ ไม่เว้นระยะห่าง ไม่วัดอุณหภูมิ ไม่สแกนไทยชนะก่อนเข้า-ออกสถานที่ต่างๆ ตามที่ ศบค. ประกาศอยู่ทุกวัน “ยิ่งถ้ายังรวมตัวกันเกิน 5 คน ถือว่าฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉิน จะยิ่งไม่รับเลย”
“ก็ถูกแล้วนี่” คุณบอก
คุณป้องกันตัวเองเต็มที่ สวมหน้ากากอนามัยก่อนออกจากบ้าน สวม 2 ชั้นเพื่อความปลอดภัย พกเจลแอลกอฮอล์ตลอด ไม่ใช้มือกดลิฟต์ แต่ถ้าเผลอไปแล้วต้องรีบล้างมือ ขับรถส่วนตัวไปทำงาน เพราะรถสาธารณะเว้นระยะห่างไม่ได้ ให้ความร่วมมือวัดอุณหภูมิและสแกนไทยชนะ “คนที่ยกการ์ดสูงแล้วติดเชื้อ ควรจะได้รับการรักษาก่อน”
“ถ้าการ์ดไม่ตก แล้วจะติดได้ยังไง” เพื่อนของคุณแย้ง
“เชื้อมันแพร่ทางอากาศ” คุณตอบ “สายพันธุ์ใหม่ก็แพร่ได้ง่ายกว่าเดิม ถ้าติดขึ้นมาก็อย่าซ้ำเติมกันเลย”
“แต่ก็ไม่ควรสมน้ำหน้า”
“ไม่สงสารพวกหมอ พยาบาลบ้างหรอ” คุณไม่ยอมแพ้ “พวกเขาทำงานหนักมาก ตอนนี้คนป่วยกันเยอะ เราต้องดูแลตัวเองให้ดีไม่ให้เป็นภาระ” ยิ่งตอนนี้เจ้าหน้าที่ไม่พอ เตียงเต็ม ICU เต็ม ถ้าพวกเขาเลือกได้ คงเลือกรักษาคนที่ตั้งใจดีมากกว่าคนที่คิดร้ายกับพวกเขามากกว่า “ระหว่างตำรวจกับคนร้ายโดนยิงมา เธอคิดว่าเขาจะช่วยใคร”
. . .
ก่อนที่ตัวละครทั้งสองจะเปิดประเด็นใหม่ ผมขอคั่นตรงนี้ก่อนว่า โดยปกติแล้วการจัดคิวในโรงพยาบาลจะมี 2 แบบคือ แบบห้องฉุกเฉิน (ER) กับแบบห้องตรวจผู้ป่วยนอก (OPD) สำหรับ ER เรียงคิวผู้ป่วยตาม ‘ความรุนแรง’ เหมือนที่มีการแบ่งผู้ติดเชื้อโควิดออกเป็นสี ผู้ป่วยสีแดงหอบเหนื่อยหายใจลำบากต้องได้รับการดูแลก่อนสีอื่น
ในขณะที่ OPD เป็นผู้ป่วยที่ไม่ฉุกเฉิน รอตรวจได้ก็จะเรียงคิวตามการมาก่อน-หลัง หรือผู้ป่วยนัดก็อาจได้รับการตรวจก่อน สถานการณ์โควิดในขณะนี้เป็นแบบ ER การช่วยเหลือตำรวจกับโจรผู้ร้ายก็ต้องประเมินความรุนแรงของอาการก่อน ใครป่วยมากกว่าก็ต้องช่วยคนนั้น ยกเว้นมีแพทย์ พยาบาลเพียงพอ ก็ตรวจรักษาไปพร้อมกันได้
นอกจากนี้ยังมีการจัดคิวอีกแบบในอุบัติภัยหมู่ มีผู้ป่วยจำนวนมาก แต่ทรัพยากรไม่พอ ผู้ป่วยที่มีอาการหนักมาก ไม่สามารถช่วยให้รอดชีวิตได้ คือระดับมากกว่าสีแดง แต่ยังไม่ใช่สีดำ ก็อาจต้องจัดให้เป็นสีดำไปเลย เพื่อนำทรัพยากรไปช่วยคนที่มีโอกาสรอดชีวิต อ่านถึงตรงนี้แล้วบางท่านน่าจะกำลังนึกถึงข่าวผู้ป่วยโควิดหลายรายเสียชีวิตที่บ้าน
อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าโดยหลักการแพทย์ไม่ได้ใช้ ‘…ฐานะ เชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา สังคม หรือลัทธิการเมือง…’ เป็นเกณฑ์ในการจัดคิวผู้ป่วย ซึ่งจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำแต่อย่างใด ยกเว้นแผนกที่สร้างขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ เช่น ห้องตรวจพิเศษ โรงพยาบาลเอกชน อาจมีฐานะหรือสังคมที่ทำให้การเข้าถึงบริการต่างกัน
. . .
“ทำไมถึงเปรียบเทียบคนป่วยกับคนร้ายล่ะ” เพื่อนคุณสงสัย
“คนป่วยที่ไม่รู้จักป้องกันตัวเองไม่ต่างจากคนร้าย” คุณตอบทันที “พอถูกตำรวจจับได้ก็กล่าวหาว่าตำรวจกลั่นแกล้ง ตัวเองทำตัวเอง จะไม่ให้ตำรวจจับได้ยังไง” พวกที่ออกมาชุมนุมเกิน 5 คนก็เหมือนกัน ฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ถ้าโรคระบาดขึ้นมา จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็น 2 หมื่น จะโทษรัฐบาลอีกไหมว่าควบคุมโรคไม่ได้
“ทำตัวเอง” คุณย้ำ
“กลับมาที่คนป่วยก่อน” เพื่อนยังติดใจ “เธอคิดว่าเขาอยากป่วยหรอ” เขาไม่อยากไม่ป้องกันตัวเองหรอก “แต่ลองคิดดูว่าบางคนจะเอาหน้ากากมาจากไหน ซื้อเจลแอลกอฮอล์ได้หรือเปล่า ขึ้นรถเมล์ไปทำงาน เว้นระยะห่างไม่ได้เลย ทำงานในตลาด โรงงาน พักอยู่ในชุมชนแออัด แคมป์ก่อสร้าง ล่าสุดที่ตายแล้วไม่มีใครเก็บศพก็เป็นคนไร้บ้าน
คุณนึกเถียง แต่ยังปล่อยให้เพื่อนพูดต่อ
“ทำตัวเอง
หรือว่าทำเต็มที่ในแบบของเขาแล้ว”
. . .
ผมไม่มีข้อมูลว่าปัญหาที่ตัวละคร ‘เพื่อนของคุณ’ ยกขึ้นมามีจำนวนมาก-น้อยเท่าไร ทั้งความขาดแคลนหน้ากากอนามัยหรือเจลแอลกอฮอล์ อาชีพที่ไม่สามารถทำงานที่บ้าน (WFH) ได้ และความแออัดของที่พักอาศัย เมื่อมีสมาชิกคนหนึ่งติดเชื้อ มีโอกาสป่วยยกครัวได้สูง รวมถึงปัญหาเศรษฐกิจและสังคมที่ประสบอยู่ก่อนหน้าที่จะมีโรคระบาด
แต่ถ้าปัญหาเหล่านี้ทำให้หลายคนต้องติดเชื้อ ก็คงไม่ใช่ ‘ความผิด’ ของผู้ป่วยที่ไม่สามารถป้องกันตัวเองได้ เพราะเขาไม่สามารถแก้ไขทุกปัญหาด้วยตัวของเขาเอง เขาต้องพึ่งพาหน่วยงานอื่นของรัฐเข้ามาช่วยเหลือ นอกจากนี้ เมื่อติดเชื้อแล้ว ระบบสาธารณสุขของกรุงเทพฯ ก็ทำให้พวกเขาเข้าถึงการตรวจรักษาได้ยากยิ่งขึ้นไปอีก
‘โรคทำตัวเอง’ เป็นคำเรียกโรคที่มักมีการให้ความรู้หรือคำแนะนำเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมแล้ว ผู้นั้นก็ยังทำพฤติกรรมนั้นอยู่จนป่วยเป็นโรคขึ้นมา ไม่ใช่แค่ประชาชนทั่วไป แพทย์หลายคนก็น่าจะเคยคิดเช่นนี้เหมือนกัน เช่น โรคตับแข็งจากการดื่มเหล้า ผู้ป่วยก็ยังดื่มเหล้าจนมีเลือดอออกในกระเพาะอาหาร โรคถุงลมโป่งพองจากการสูบบุหรี่
โควิดก็อาจจัดเป็นโรคนี้ในมุมมองของหลายคน เพราะวิธีการป้องกันโรคที่รณรงค์กันอยู่เริ่มต้นจาก ‘ตัวเอง’ สังเกตว่าเมื่อติดเชื้อขึ้นมาจะรู้สึกผิดจนต้องออกมาขอโทษสังคม ทั้งที่ไม่มีใครสามารถยกการ์ดได้ตลอดเวลา และการป้องกันโรคยังมีวิธีอื่นที่ ‘รัฐ’ จัดหาให้ได้ อย่างการตรวจหาเชื้อ การรักษาที่รวดเร็ว และวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและครอบคลุม
. . .
“แล้วพวกที่ออกมาชุมนุมเกิน 5 คนล่ะ อย่างนี้ทำตัวเองไหม” คุณโพล่งออกไป
“เธอคิดว่าพวกเขาติดเชื้อจากการชุมนุม หรือจากที่ไหนกันแน่” เพื่อนคุณไม่ได้พูด และตัวละครทั้งหมดเป็นเรื่องสมมตินะครับ
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง: