วันนี้ (19 ธันวาคม) ที่ทำเนียบรัฐบาล ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกรณีที่พรรครวมไทยสร้างชาติเตรียมเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สร้างเสริมสังคมสันติสุข หรือกฎหมายนิรโทษกรรมว่า ตนยังไม่เห็นรายละเอียด ขณะนี้แต่ละพรรคการเมืองมีสิทธิที่จะเสนอกฎหมายอะไรก็ได้
ภูมิธรรมกล่าวยกตัวอย่าง เช่น พรรคเพื่อไทยอยากจะเสนอก็เสนอได้ รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาลก็เสนอได้หมด ส่วนหากเสนอในสภาก็จะต้องมีการพูดคุยกันในคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) และจะต้องพิจารณาเนื้อหาว่าจะเสนอร่างประกบกันได้หรือไม่ และหากคุยกันเรียบร้อยก็จะต้องมาพูดคุยกับรัฐบาลว่ามีอะไรขัดข้องหรือไม่
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า การเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม สุดท้ายจะใช้ร่างของพรรคเพื่อไทยหรือร่างของพรรคร่วมรัฐบาล ภูมิธรรมกล่าวว่า ยังตอบไม่ได้ว่าเนื้อหาเหมือนกันหรือไม่ ต้องเอาของจริงมาดู
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ร่างของพรรครวมไทยสร้างชาติไม่เอาเรื่องคดีทุจริต คดีมาตรา 112 และคดีอาญา พรรคเพื่อไทยจะเอาด้วยหรือไม่ ภูมิธรรมกล่าวว่า แต่ละพรรคก็มีสิทธิเสนอทั้งนั้น แต่ของพรรคเพื่อไทยเน้นว่ามีอะไรที่จะสร้างปัญหาหรือไม่ หากมีข้อยุติเราก็คุยกัน แต่บางพรรคก็บอกอย่างชัดเจนว่าหากมีเรื่องมาตรา 112 ก็ไม่เอา หรือบางพรรคก็มีเรื่องอื่นๆ เข้ามา ถึงที่สุดแล้วหากเป็นร่างของรัฐบาลจะต้องมาพูดคุยกัน
ส่วนพรรคการเมืองอื่นๆ จะเสนอร่างประกบตามระเบียบก็สามารถทำได้ แต่ต้องคำนึงว่าจะมีปัญหาอะไรหรือไม่ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการพูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งในส่วนของพรรคเพื่อไทยก็มีการคุยกันเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม อยู่เรื่อยๆ
25 ธันวาคมนี้ ได้ข้อสรุปทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ
ภูมิธรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ยังได้กล่าวถึงความคืบหน้าในการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ความชัดเจนจริงๆ ต้องรอวันที่ 25 ธันวาคมนี้ ซึ่งจะมีการประมวลความเห็นทั้งหมดของ สส. และ สว. รวมถึงรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ โดยคณะกรรมการจะประชุมสรุปในวันดังกล่าว
ภูมิธรรมเชื่อว่าจะจบทุกอย่าง โดยจะนำข้อสรุปและความเห็นที่แตกต่างเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์แรกที่มีการประชุม ครม. หลังจากหยุดปีใหม่ จากนั้นต้องรอดูว่า ครม. จะมีมติอย่างไร เพราะเรื่องที่จะส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้อง และมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นในสภา เพราะหาก ครม. เสนอไปเอง อาจเป็นไปได้ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะบอกว่าเรื่องยังไม่เกิดขึ้น และไม่รับวินิจฉัย