×

ภูมิธรรมชี้ ต้องเลือกแก้รัฐธรรมนูญแบบให้ผ่านได้-เป็นประชาธิปไตย หรือแก้ตามใจแล้วถูกตีตก โยน ครม. เคาะสรุปภายในไตรมาสแรกของปี

โดย THE STANDARD TEAM
02.01.2024
  • LOADING...
ภูมิธรรม เวชยชัย

วันนี้ (2 มกราคม) ที่ทำเนียบรัฐบาล ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2560 กล่าวถึงความคืบหน้าในการทำประชามติจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หลังจากคณะอนุกรรมการรับฟังความเห็นได้มีมติแล้ว

 

ภูมิธรรมกล่าวว่า ขณะนี้กำลังทำเอกสารรายงานข้อสรุปโดยรวม เพื่อรวบรวมความคิดเห็นที่แตกต่างกันมานำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา กระบวนการจะแล้วเสร็จอย่างช้าที่สุดคือภายในไตรมาสแรกของปีนี้ หรืออย่างเร็วที่สุดคือปลายเดือนมกราคม หาก ครม. เห็นชอบ ก็จะส่งต่อไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต่อไป

 

“ไม่ต้องกังวลว่าคณะทำงานชุดนี้จะนำเสนออะไรที่ตามใจตัวเอง เพราะเรานำเสนอจากความคิดเห็นของประชาชนจริงๆ ส่วนข้อเห็นต่างเราก็ไม่ได้ละทิ้ง เราก็ได้บันทึกไว้ และให้ทุกคนได้พิจารณาครบถ้วนทุกความเห็น ขณะนี้ความเห็นที่ต่างกันยังไม่อยากสรุปว่าใครเห็นมากกว่าใคร เพราะจะเถียงกันไม่จบ” ภูมิธรรมกล่าว

 

ภูมิธรรมกล่าวว่า จะมีการรวมตัวแทนของประชาชนทุกคนที่มาคุยกัน ทุกคนเห็นความจำเป็นของเรื่องนี้ แต่ก็มีความกังวลในความเห็นที่แตกต่างกัน เราก็จะรวบรวมให้มากที่สุด เพราะเรื่องนี้เราคาดไว้อยู่แล้วว่าเป็นเรื่องที่จะไม่สามารถหาความเห็นที่เหมือนกันทั้งหมด แต่เป็นความเห็นที่เอาเสียงส่วนใหญ่รับรอง และดูแลเสียงข้างน้อยที่มีอยู่เท่านั้นเอง

 

รอ ครม. เคาะคำถามประชามติ

 

ส่วนคำถามประชามติข้อแรกว่า ‘ท่านเห็นชอบหรือไม่ให้มีการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์’ ที่มีการเคาะมาโดยคณะกรรมการฯ และมีกรรมการเสียงข้างน้อยแสดงความไม่เห็นด้วยนั้น จะมีโอกาสเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้อีกหรือไม่ ภูมิธรรมกล่าวว่ายังไม่ได้เคาะ เพราะคนที่เคาะจริงๆ คือ ครม. คณะกรรมการเสียงข้างน้อยก็มีความเห็นแตกต่างกัน และทุกคนก็ตกลงกันแล้วว่าจะบันทึกความเห็นที่แตกต่างกันให้ครบถ้วน

 

แก้รัฐธรรมนูญให้ผ่านหรือตามใจแล้วตีตก

 

ภูมิธรรมกล่าวอีกว่า ความจริงในที่ประชุมวันนั้นมีมติเอกฉันท์ ไม่มีใครเห็นต่างจากคำถามที่ถามมา ทุกคนเห็นว่าการทำแบบนี้บนหลักการที่ทำให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น สามารถผ่านได้จริงๆ เป็นความจำเป็นสำคัญ มากกว่าที่จะยืนยันอะไรหลายๆ อย่าง แล้วทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ตกไป แล้วต้องกลับไปใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ใช้มาแล้วเป็นปัญหาอยู่อย่างนี้

 

“ความเห็นที่แตกต่างมาและได้ข้อสรุปอยู่ที่ตรงนี้เท่านั้นเอง แก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น หรือจะยอมแก้แบบที่ตามใจตัวเองแล้วไม่สามารถผ่านได้ ก็กลับไปใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 อยู่กับสถานการณ์เดิมๆ มา 10 ปี ต้องเลือกว่าจะเอาแบบใด เราเลือกเอาแบบที่คิดว่าไม่อยากจะอยู่กับรัฐธรรมนูญแบบเดิม เลือกให้ทุกอย่างมันดีขึ้น นั่นแหละที่เป็นข้อสรุป แต่ยังไม่ใช่ข้อตัดสิน เพราะเราไม่ได้มีอำนาจตัดสิน” ภูมิธรรมกล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X