วันนี้ (31 สิงหาคม) ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์อุทกภัยจังหวัดสุโขทัย นครสวรรค์ และชัยนาท
ภูมิธรรม เป็นประธานการประชุมร่วมกับหน่วยบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อสรุปสถานการณ์น้ำ และแผนการแก้ไขปัญหา ที่ศาลากลางจังหวัดสุโขทัย
สุชาติ ทีคะสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย รายงานสถานการณ์ว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างเฝ้าระวัง เนื่องจากมีน้ำท่วมหลายจังหวัดในภาคเหนือ ซึ่งสถานการณ์ภาคเหนือตอนบนค่อนข้างน่าเป็นห่วง และแม่น้ำยมนั้นไม่มีจุดรองรับ จึงต้องมีการทบทวนเพื่อหาช่องทางในการจัดการน้ำก่อนที่จะทะลักอย่างเคร่งครัดและจริงจัง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำซาก เพราะผู้ที่จะได้รับผลกระทบคือประชาชนในพื้นที่
นอกจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้ดำเนินการเฝ้าระวัง ติดตาม แก้ไข และฟื้นฟู ถึงแม้ว่าน้ำจะเริ่มลดลง เข้าสู่สภาวะปกติ แต่ยังอยู่ในฤดูฝนก็ต้องระมัดระวังและติดตามต่อเนื่อง พร้อมเน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนใส่ใจ เร่งดำเนินการฟื้นฟู เพราะยังมีความเสียหายที่จะต้องดูแล พร้อมทั้งเยียวยาประชาชนให้ทั่วถึง เพราะบางคนยังสิ้นเนื้อประดาตัว
ทั้งนี้ ในการรายงานสถานการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดสุโขทัย พบว่าปริมาณน้ำที่ไหลผ่านพื้นที่ในช่วงที่เกิดน้ำท่วม มีปริมาณ 1,707 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่ขณะนี้เหลือเพียง 800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที สถานการณ์โดยรวมคลี่คลาย โดยทางจังหวัดสุโขทัยจะเร่งช่วยเหลือประชาชน สำหรับปริมาณน้ำที่ไหลเข้าท่วมจังหวัดสุโขทัยมีปริมาณทั้งสิ้น 35 ล้านลูกบาศก์เมตร
ด้าน สุรสีห์ กิตติมงคล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้ประเมินปริมาณฝนที่จะตกในช่วงเดือนกันยายน พบว่าพื้นที่ภาคเหนือ 16 จังหวัด ยังเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อน้ำท่วมฉับพลัน ดังนั้น ต้องรีบเร่งระบายน้ำในพื้นที่ และซ่อมคันน้ำที่ชำรุด เพื่อควบคุมการไหลของน้ำ
ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอว่าควรมีแผนระยะยาวในการแก้ไขปัญหาแม่น้ำยม ตั้งแต่จังหวัดพะเยาจนถึงจังหวัดสุโขทัยที่มีน้ำท่วมมาตลอด ตนเองได้ทำงานร่วมกับ สมศักดิ์ เทพสุทิน มาโดยตลอด และเห็นว่ามีแต่การตั้งรับ ควรหามาตรการป้องกันมากกว่านี้
ส่วน สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เกิดมาเห็นน้ำท่วมสุโขทัยมาตลอด ไม่มีปีไหนไม่ท่วม แม่น้ำยมที่อำเภอศรีสัชนาลัยรับน้ำได้ 1,900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่เมื่อมาถึงสุโขทัยรับได้ 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ทั้งนี้ ต้องมีเขื่อนใหญ่ๆ และเลิกแก้ปัญหาแบบวันต่อวัน หากสร้างเขื่อนใหญ่ไม่ได้ต้องสร้างเขื่อนเรียงหินหรือเขื่อนคอนกรีตจุดต่างๆ รวม 9,640 เมตร มูลค่า 900 กว่าล้านบาท จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาเรื่องนี้
เช่นเดียวกับ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า แผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยก็มีแต่เรื่องบรรเทา ไม่มีเรื่องป้องกัน แต่ความเป็นจริงกระทรวงมหาดไทยถูกกดดันเรื่องเขื่อนและฝาย แต่ไม่มีเจ้าภาพ โยนกันไปมา จึงไม่เรียบร้อย ดังนั้นควรเป็นงบกลาง รัฐบาลควรมีแผนในเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม ควรผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ
จากนั้น ภูมิธรรม ได้ให้กำลังใจแม่ครัวที่โรงครัวศูนย์ประสานการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยจังหวัดสุโขทัยและโรงครัวพระราชทาน พร้อมช่วยแม่ครัวผัดกับข้าวเมนูผัดถั่วงอกใส่หมู ขณะที่อนุทินโชว์ฝีมือผัดกะเพรา และได้รับประทานอาหารที่ทำเองเป็นมื้อกลางวัน ร่วมกันกับรัฐมนตรีอีก 3 ท่านด้วย
จากนั้นภูมิธรรมกล่าวกับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ก่อนมอบถุงยังชีพจำนวน 200 ชุดว่า วันนี้เราจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาแก้ไขทางเดินน้ำเป็นวาระแห่งชาติ งบประมาณ 2 แสนล้านบาท ซึ่งแผนนี้เคยมีในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่เนื่องจากถูกรัฐประหารไปก่อน โดยเราจะนำกลับมาทบทวน เพราะเพื่อให้แม่น้ำยมมีพื้นที่รับน้ำเหมือนแม่น้ำปิง วัง น่าน ถ้าพี่น้องเห็นด้วยเราจะดำเนินการ ส่วนคนที่ค้านขอให้มาคุยกับพี่น้องที่กำลังโดนน้ำท่วม เพราะเสียงของเราที่อยู่ตามลุ่มน้ำประสบภัยมาตลอดชีวิตเป็นเสียงที่มีความหมาย
ทั้งนี้ในส่วนของการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเราจะแจกถุงยังชีพและเร่งระบายน้ำ ลดค่าน้ำค่าไฟ ตรวจความปลอดภัยหมู่บ้านที่ตัดน้ำตัดไฟ เพื่อคืนชีวิตปกติของท่าน ทลายน้ำท่วมน้ำขังให้หมดโดยเร็ว และหาทางป้องกัน เพราะฤดูฝนยังไม่หมด รวมถึงเร่งซ่อมแซมส่วนที่เสียหายโดยใช้งบกองทัพไทย ขอให้ท่านสบายใจ
ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์จะประสานกับกองทัพ บริษัทก่อสร้าง ให้เด็กอาชีวะและเทคนิคต่างๆ มาช่วยแก้ไขดำเนินการให้เร็วที่สุด โดยจะเสนอเข้าที่ประชุม ครม. ในวันอังคารที่ 3 กันยายน 2567
จากนั้นภูมิธรรมและคณะลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์และรับฟังรายงานเขื่อนหาดสะพานจันทร์ และประตูระบายน้ำบ้านคลองหกบาท พบว่าน้ำต่ำกว่าตลิ่งแล้ว
ในช่วงบ่ายภูมิธรรมและคณะขึ้นเฮลิคอปเตอร์เพื่อบินตรวจสถานการณ์น้ำและพื้นที่การเกษตร ผ่านบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ แม่น้ำน่าน แม่น้ำเจ้าพระยา และเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท
ก่อนที่ภูมิธรรมจะหารือแนวทางการบริหารจัดการน้ำเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำที่สำนักงานชลประทานที่ 12 ตำบลบางหลวง อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท และเดินทางกลับกรุงเทพฯ