วันนี้ (13 พฤษภาคม) ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หารือทวิภาคีกับ Boris Pistorius รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
ทั้งสองฝ่ายยืนยันถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและเยอรมนีที่มีมายาวนานถึง 163 ปี และมีการเสริมสร้างความร่วมมือในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
ในการประชุม UNPKM 2025 ไทยให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติการรักษาสันติภาพภายใต้อาณัติของสหประชาชาติ และมุ่งมั่นพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพไทยให้มีความพร้อมและมีมาตรฐานสากล โดยไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการฝึกอบรมภายใต้โครงการความร่วมมือไตรภาคี (Triangular Partnership Programme: TPP) ในห้วงปี 70-71 และหวังที่จะพัฒนาความร่วมมือกับเยอรมนีในการฝึกอบรมและพัฒนาศักยภาพกำลังพลในภารกิจรักษาสันติภาพ
นอกจากนี้ สำหรับความร่วมมือทางทหารระหว่างไทยและเยอรมนีก็มีพัฒนาการที่ดีอย่างต่อเนื่อง ทั้งการแลกเปลี่ยน การเยือน การสนับสนุนด้านศึกษา การจัดหายุทโธปกรณ์ รวมถึงการพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพ โดยเฉพาะด้านไซเบอร์และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการปรับปรุงกองทัพให้มีความทันสมัย
เยอรมนียังให้การสนับสนุนการดำเนินงานของอาเซียนด้วยดีเสมอมา และไทยยินดีที่เยอรมนีได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอาเซียนให้เป็นประเทศผู้สังเกตการณ์ของคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านการให้ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ และด้านความมั่นคงไซเบอร์ในกรอบ ADMM-Plus
ไทยยังมีความประสงค์ที่จะขอรับการสนับสนุนความร่วมมือด้านการแพทย์ทหารระหว่างศูนย์แพทย์ทหารนานาชาติของเยอรมนี กับศูนย์แพทย์ทหารอาเซียนของไทย
ทั้งนี้ กระทรวงกลาโหมของไทยกำลังพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตยุทโธปกรณ์และสิ่งอุปกรณ์ เพื่อพึ่งพาตนเองและเป็นหลักประกันด้านความมั่นคง รวมถึงสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการเอกชน โดยเฉพาะใน 4 ผลิตภัณฑ์เป้าหมาย ได้แก่ ยานพาหนะเพื่อความมั่นคง อุตสาหกรรมต่อเรือ อากาศยานไร้คนขับ และอาวุธและกระสุน จึงขอให้เยอรมนีพิจารณาความเป็นไปได้ในการที่ไทยจะเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และเชิญชวนเยอรมนีเข้าร่วมงาน Defense & Security 2025
อย่างไรก็ตาม ภูมิธรรมได้ติดตามสิ่งที่เคยสอบถามทางกระทรวงกลาโหมเยอรมนีว่า สามารถขายเครื่องยนต์เรือดำน้ำที่ประเทศไทยจัดหาจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่
ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ระบุว่า ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องมาจากการที่สหภาพยุโรป (EU) มีข้อห้ามส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับสาธารณรัฐประชาชนจีน