×

สำรวจ ‘วัฒนธรรมโต้คลื่น’ แห่งเกาะภูเก็ต กับการเติบโตสู่การท่องเที่ยวและกีฬา

26.07.2019
  • LOADING...
Phuket Surf Fest 2019

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read
  • ปี 2019 คือปีแรกที่จังหวัดภูเก็ตจัดกิจกรรม Phuket Surf Fest 2019 โดยได้รับการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย 
  • กิจกรรมนี้ได้รับการบรรจุเข้าสู่ปฏิทินการท่องเที่ยวของเกาะภูเก็ต
  • THE STANDARD ได้ลงพื้นที่พูดคุยกับทั้งโรงแรม 8080 Hotel Surf ใกล้หาดปาตองที่นำไลฟ์สไตล์ของนักบิดมอเตอร์ไซค์มาพบกับไลฟ์สไตล์ของนักโต้คลื่น เพื่อส่งเสริมไลฟ์สไตล์การท่องเที่ยวแบบใหม่
  • สำรวจการแข่งขัน Kamala Go Surfing ครั้งที่ 15 ที่หาดกมลา พบว่า รายการนี้คือ 1 ใน 5 ทัวร์นาเมนต์ทั่วภูเก็ตและพังงา ที่ส่งเสริมและค้นหาดาวดวงใหม่ของวงการเซิร์ฟไทย 
  • สำรวจโรงงานทำบอร์ด The Board Factory ของแบรนด์ Sunova ในพังงา ซึ่งเป็นโรงงานที่ส่งเสริมให้พนักงานเล่นเซิร์ฟในเวลาทำงาน

หลายคนเมื่อได้ยินชื่อของเกาะภูเก็ต แน่นอนว่า ต้องนึกถึงช่วงเวลาพักผ่อน หรือเป็นช่วงเวลาพักร้อนสำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางหนีหนาวมาจากต่างประเทศ แต่ในปี 2019 นี้ถือเป็นปีแรกที่ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้เข้ามาร่วมสนับสนุนและจัดกิจกรรมที่มีชื่อว่า Phuket Surf Fest 2019 ซึ่งประกอบไปด้วยกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการโต้คลื่นในเกาะภูเก็ตและจังหวัดพังงา 

 

Phuket Surf Fest 2019

 

นอกจากนี้ยังเป็นปีเดียวกับที่มหกรรมกีฬาซีเกมส์ที่ประเทศฟิลิปปินส์ได้บรรจุเซิร์ฟเข้าสู่การแข่งขัน รวมถึงโอลิมปิกในปี 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ก็จะเป็นครั้งแรกที่นักเซิร์ฟจะมีโอกาสก้าวขึ้นมารับเหรียญทองโอลิมปิก 

 

จากการเติบโตทั้งไทยและต่างประเทศนี้เอง ทำให้ THE STANDARD ตัดสินใจเดินทางลงใต้ไปสำรวจอุตสาหกรรมและการเติบโตของวงการเซิร์ฟที่เกาะภูเก็ต 

 

8080 & Surf จุดบรรจบของนักเดินทางและนักโต้คลื่น 

 

Phuket Surf Fest 2019

 

จุดแรกที่เดินทางมาถึงคือ โรงแรมที่มีชื่อว่า 8080 Hotel ป่าตอง ซึ่งเป็นโรงแรมเก่าแก่ที่ปรับปรุงมาเป็น 8080 Hotel Surf โรงแรมที่ ธีระ เจียรนัย เจ้าของ ได้นำไลฟ์สไตล์ของนักเดินทางด้วยมอเตอร์ไซค์ กับ เอกนรินทร์ โยติภัย Factory manager/Product ของกระดานโต้คลื่น Sunova แบรนด์จากออสเตรเลีย และนักเซิร์ฟที่ใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ มารวมกัน จนเกิดเป็นแบรนด์ไลฟ์สไตล์ที่มีชื่อว่า Amity ซึ่งแปลว่า มิตรภาพ 

 

Phuket Surf Fest 2019

 

“จริงๆ มันเป็นไลฟ์สไตล์ของคนต่างชาติมานานแล้ว” ธีระเริ่มต้นเล่าประวัติความเป็นมาของร้านแห่งนี้ เสมือนเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการเปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวมาสู่การพักผ่อนของเกาะภูเก็ต 

 

“ที่ 8080 Cafe เราก็ทำเรื่องของมอเตอร์ไซค์ในประเทศไทยมานาน พอวันหนึ่งเรามาถึงภูเก็ต เราก็ได้พบกับไลฟ์สไตล์ใหม่ มาเจอกับใครหลายๆ คน โดยเฉพาะพี่เอกจาก Sunova เซิร์ฟบอร์ด มันก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่น่าสนใจ

 

“ที่ผ่านมา ทั้งมอเตอร์ไซค์และเซิร์ฟต่างก็มีแฟชั่นและหนทางของตัวเอง เราก็เอามารวมกันออกแบบสิ่งใหม่ๆ ที่น่าสนใจ พอทั้งหมดมารวมกันมันก็เกิดเป็นกิจกรรมหลายๆ อย่างขึ้น มี Surf Camp มีสอนเซิร์ฟ มีเส้นทางการขี่มอเตอร์ไซค์ริมทะเล มีแคมปิ้ง คือเราอยากจะทำเป็นการขี่มอเตอร์ไซค์ไปแคมปิ้งแบบนั่งริมทะเล นั่งดื่มกาแฟดริป มองดูคลื่น จนถึงเวลาก็ลงไปเล่นเซิร์ฟ เราได้ลองทำมาบ้างแล้ว 2-3 ครั้ง แต่ก่อนหน้านี้ยังไม่ใช่กาแฟดริป แต่เป็นข้าวเหนียวส้มตำ (หัวเราะ) เพราะมันเหนื่อยมาก เลยขออะไรที่มีพลังงานหน่อย

 

Phuket Surf Fest 2019

 

“ซึ่งกิจกรรมแบบนี้ก็ใช้เวลา 3-4 ชั่วโมง เราเป็นคนเมืองมาก่อน ไม่เคยจับต้องกับกีฬาแบบนี้เลย มันไม่ใช่อะไรที่เราคุ้นเคย เพราะที่ผ่านมาเราอาศัยเครื่องจักรตลอด มอเตอร์ไซค์หรือแม้กระทั่งเวกบอร์ดก็ต้องใช้เครื่องลาก แต่นี่มันไม่ใช่ เราเล่นเซิร์ฟ เราต้องอยู่กับธรรมชาติ ต้องคอยเวลาของมัน แต่เรามีความสุขมาก โดยเฉพาะครั้งแรก ผมเชื่อว่าทุกคนจะจำได้ ครั้งแรกที่ยืนบนคลื่นได้ แล้วไหลเข้ามาถึงฝั่งแบบไม่ล้ม ถึงจะเป็นเวลาสั้นๆ แต่มันก็เป็นอะไรที่น่าประทับใจมาก เราก็อยากผลักดันให้คนรู้จักกิจกรรมเหล่านี้มากขึ้น”

 

เป้าหมายของสถานที่แห่งนี้คือ อยากให้คนกรุงหรือนักท่องเที่ยวได้มีโอกาสมาสัมผัสประสบการณ์รูปแบบใหม่ของทั้งการเดินทางด้วยมอเตอร์ไซค์ และการอยู่กับธรรมชาติของทะเลด้วยกระดานโต้คลื่น

 

Phuket Surf Fest 2019

 

“คือเรื่องนี้จะออกไปชวนหรือบอกให้เขาเชื่อคงเป็นเรื่องยาก แต่เราจะพยายามจัดกิจกรรมให้หลายๆ คนได้ลองสัมผัสให้ได้มากที่สุด เพราะบางทีเราไปบอก เขาอาจจะไม่ชอบก็ได้ แต่ถ้าเขาได้ลองเขาอาจจะชอบเอง หน้าที่ของเราคือ การให้ผู้คนได้ทดลองสัมผัสเยอะๆ 

 

“แบรนด์ที่เกิดขึ้นตรงนี้คือ Amity ซึ่งมันแปลว่ามิตรภาพ จะเป็นแบรนด์ที่ตรงกับคนของพื้นที่ที่มีทั้งเซิร์ฟและมอเตอร์ไซค์ เป็นเหมือนประตูเข้าสู่ไลฟ์สไตล์ของคนที่นี่

 

“เรามองว่าคนไทยผ่านมาเกือบจะครบหมดแล้ว ทั้งวิ่ง ดำน้ำ ปีนเขา จักรยาน แต่เซิร์ฟเป็นกีฬาที่กำลังเติบโต พอคนพบว่าในไทยเล่นได้กระแสมันก็เริ่มเติบโต โรงงานบอร์ดใหญ่ๆ ก็ผลิตที่เมืองไทยหมดเลย ต้องบอกว่าทั้งหมดนี้อยู่ที่ไทยมาตลอด เพียงแต่ว่ามันเพิ่งถูกค้นพบเท่านั้นเอง”

 

ส่วนในฝั่งของเซิร์ฟนั้น เราได้ค้นพบจากเอกนรินทร์ว่า ปัจจุบันมีโรงงานผลิตกระดานโต้คลื่นในประเทศไทยจำนวนมาก เนื่องจากแบรนด์ต่างๆ มีความเชื่อมั่นในฝีมือของแรงงานไทย 

 

Phuket Surf Fest 2019

 

“ต้องบอกเลยว่างานแฮนด์เมดบอร์ดคุณภาพสูงต่างๆ ผลิตในไทยทั้งนั้นเลย จนมาถึงทุกวันนี้ เราก็เพิ่งพยายามทำให้เห็นว่า นี่เป็นสิ่งที่คนไทยผลิต และมีคนไทยเล่นเยอะ ก็พอมาเจอพี่เอ๋อ ก็ลงตัวกันพอดี ผมก็เลยอยากให้คนไทยรู้ว่าแบรนด์ Sunova เป็นของออสเตรเลีย แต่เป็นคนไทยทำ และอยากให้เห็นว่าสิ่งที่คนไทยทำมันดีขนาดไหน

 

“ขณะที่เสน่ห์ของการโต้คลื่น จริงๆ แล้วเป็นกีฬาทางน้ำที่ง่ายที่สุด เพราะหัดเล่นอย่างถูกต้อง จำสิ่งที่ครูฝึกบอกได้ ไม่กี่วันเราก็เล่นได้แล้ว พอเราเรียน รู้วิธีการนอนบนบอร์ด รู้วิธีการพาย รู้วิธีการว่าย การมองคลื่น และจับคลื่น เท่านี้เอง เพราะจริงๆ แล้วกีฬามันเป็นกายภาพอัตโนมัติ คือเมื่อเราขึ้นไปยืนบนบอร์ดได้ เราจะควบคุมมันได้ง่ายด้วยการมอง เรามองซ้ายบอร์ดก็เลี้ยวซ้าย มองขวาตัวเราก็ไปทางขวา คนที่เล่นเซิร์ฟทุกคนจะบอกเหมือนกันว่า อยากไปทางไหนก็มองไปทางนั้น ถ้ามองลงคุณก็ลงน้ำไปเลย ถ้ามองขึ้นก็หงายขึ้น จริงๆ ร่างกายเราไปเอง เหมือนกับมอเตอร์ไซค์ แล้วถ้าเราจับทางได้เมื่อไร มันจะง่ายมาก”

 

เอกนรินทร์ได้เริ่มต้นชี้ไปยังบอร์ดต่างๆ ที่อยู่บนผนัง และเริ่มอธิบายถึงสาเหตุว่าทำไมหลายคนถึงได้มีความหลงใหลในกีฬาชนิดนี้ และด้วยสาเหตุนี้ที่ประกอบกับการเติบโตของโซเชียลมีเดีย ทำให้วงการโต้คลื่นในประเทศไทยกำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

 

“กีฬาเซิร์ฟคือกีฬาโชว์ออฟ เพราะพอคุณยืนอยู่บนคลื่นได้คนเดียว ทุกคนก็จะมองคุณนั่นแหละ จากนั้นถ้าคุณทำอะไรเท่ๆ ต่อจากนั้นได้ จะเป็นความรู้สึกที่สุดยอดมาก ทุกคนถึงคิดว่า กีฬานี้เป็นการสู้กับตัวเอง ถ้าเราชนะตัวเองได้ เราก็ขึ้นไปยืนบนคลื่นแล้วโชว์ออฟคนได้ เราก็เกิดความภูมิใจ ซึ่งมันต่อยอดความภาคภูมิใจจนอยากพัฒนาและเรียนรู้มากขึ้นเรื่อยๆ พอเราเรียนและเริ่มทำได้ เราก็อยากเรียนมากขึ้นๆ เรื่อยๆ พอคนอื่นเห็นก็อยากลองบ้าง พอทำสำเร็จก็ลงโซเชียล คนอื่นเห็นก็อยากลอง เราจึงได้เห็นกีฬานี้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในโลกโซเชียลมีเดีย มันมีสไตล์ที่ไม่เหมือนใครเลย

 

“ที่เขาหลักทุกวันนี้คนหัดเล่นเซิร์ฟนับเป็นผู้หญิงสูงถึง 80% ของทั้งหมด สิ่งที่พวกเขาทำได้ดีคือ เชื่อฟังและตั้งใจเรียนรู้จากครูฝึก พอลงฝึกก็มีถ่ายรูปให้ พอผ่านอาทิตย์แรกไปก็โพสต์เฟซบุ๊ก พอเล่นได้ครั้งเดียวก็เริ่มมีความชอบและกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญมากขึ้น คนก็เริ่มสนใจและอยากลองก็มากันเยอะขึ้นมาก 

 

“กระแสมันเริ่มตั้งแต่ปีที่แล้ว ทั้งลงนิตยสารและสื่อต่างๆ ความเชื่อที่ว่า ไทยเล่นเซิร์ฟไม่ได้ก็เปลี่ยนไป และคนก็เริ่มรู้จักกับการเล่นเซิร์ฟในภูเก็ตมากขึ้น

 

“พอกระแสเกิด คนในพื้นที่ก็เริ่มจัดกิจกรรมหรือคอร์สเรียนต่างๆ ให้ คนที่มาจากพื้นแออัดหรือคนเมือง พอได้มาพบกับบรรยากาศที่โล่งสบาย และยังได้เล่นกีฬาที่อยู่กับธรรมชาติ ก็เหมือนกับการได้พบกับโลกใหม่เลย

 

“ช่วงที่เหมาะสมที่สุดคือเดือนมิถุนายนถึงกันยายน ซึ่งตรงกับ Low Season ของการท่องเที่ยว แต่สำหรับวงการเซิร์ฟบ้านเรา คนจะรู้ดีว่าช่วงนี้คือช่วง High Surf Season คลื่นช่วงนี้ดีมาก”

 

Kamala Go Surfing ครั้งที่ 15 แหล่งบ่มเพาะดาวดวงใหม่ของวงการเซิร์ฟในประเทศไทย 

 

Phuket Surf Fest 2019

 

หลังจากการสนทนาของเรา 3 คน จบลง ธีระและเอกก็ชักชวนเราขึ้นรถที่บรรทุกกระดานโต้คลื่นขนาดใหญ่หลายอัน มุ่งหน้าสู่ชายหาดกมลาที่กำลังมีกิจกรรม Kamala Go Surfing ครั้งที่ 15 การแข่งขันเซิร์ฟประจำปีวันแรกเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา

 

เราได้เห็นเยาวชนจากหลากหลายจังหวัดวิ่งถือกระดานโต้คลื่นลงสู่ทะเล เพื่อโอกาสในการเดินตามความฝันไปสู่เส้นทางของนักเซิร์ฟอาชีพ ก่อนจะได้พบกับกลุ่ม Kata Crew ที่เดินทางมาจากหาดกะตะ มาชมการแข่งขันในปีนี้ ซึ่งจากคำแนะนำของทีม เราก็ได้พบกับ จำลอง สิทธิโชค ประธานชมรมนักกีฬากระดานโต้คลื่นจังหวัดภูเก็ต ที่หลายคนในพื้นที่ยกให้เป็นหนึ่งในรุ่นบุกเบิกของวงการเซิร์ฟที่ชายหาดกมลาแห่งนี้ หลังจากแนะนำตัวกันได้ไม่นาน จำลองก็เริ่มต้นเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการโต้คลื่นในเกาะภูเก็ต 

 

Phuket Surf Fest 2019

 

ช่วงเวลาเริ่มต้นของเซิร์ฟในภูเก็ตนั้นเกิดขึ้นเมื่อประมาน 20-30 ปีก่อน โดยจุดเริ่มต้นเกิดจากชาวต่างชาตินำเซิร์ฟเข้ามาทดลองเล่นในประเทศไทย ก่อนที่คนพื้นที่จะเห็นชาวต่างชาติเล่น และได้โอกาสลองเล่นด้วย เมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางกลับ พวกเขาก็ได้ทิ้งบอร์ดไว้ให้เป็นของขวัญสำหรับคนพื้นที่

 

“พอเราได้เห็นชาวต่างชาติเล่น เราจึงเริ่มต้นเล่นตาม ซึ่งช่วงแรกเราก็เล่นกันไปจนบอร์ดพัง ซึ่งแน่นอนเราไม่มีศูนย์​หรือร้านขายอุปกรณ์บอร์ด เราก็ต้องซ้อมกันตามที่เราทำได้ เช่น ถ้าสายยางผูกข้อเท้าขาด เราก็ต้องเอาเชือกแข็งๆ มาผูกข้อเท้าแทน แน่นอนว่าเวลาล้มในน้ำและสายกระตุกขาก็สนุกเลย

 

“ถ้าบอร์ดหักเราก็ต้องรออันใหม่เวลาชาวต่างชาติเดินทางกลับมาอีก มาตอนหลังๆ เราก็เริ่มสั่งอุปกรณ์ ซึ่งเราก็ต้องรอนานหลายเดือนสำหรับอุปกรณ์แต่ละอย่าง พอมาถึงทุกวันนี้ เราก็สามารถเข้าถึงได้ และกีฬาเซิร์ฟในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ก็เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

 

“พวกเราจัดการแข่งขันเป็นประจำทุกปี ที่ชายหาดกมลาแห่งนี้ก็เข้าสู่ปีที่ 15 ขณะที่ การแข่งขันที่เก่าแก่ที่สุดคือ หาดกะตะ เพราะปีนี้จะเป็นการจัดการแข่งขันปีที่ 18 ของพวกเขา 

 

Phuket Surf Fest 2019

 

“ของเราเป็น Local Surfing Contest ซึ่งก็เปิดรับนักแข่งจากต่างประเทศด้วย ช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม หลายคนจะรู้ว่า นี่คือช่วงเวลาแข่งขันเซิร์ฟในภูเก็ต 

 

“2 ปีที่ผ่านมา เราก็รวมเขาหลักเข้าไปด้วยจากพังงา กลายเป็น 5 ชายหาดที่จัดแข่งขันเซิร์ฟ โดยช่วงที่ผ่านมาเราเห็นคนเล่นเซิร์ฟเพิ่มจำนวนขึ้นมาก เริ่มเข้ามาร่วมแข่งขันกับพวกเรามากขึ้น ผมเชื่อว่าวงการเซิร์ฟบ้านเราเกิดแล้ว เริ่มรู้จักถึงต่างประเทศ 

 

“โซเชียลมีเดียช่วยให้ทุกคนเห็นและเชื่อว่า เราสามารถเล่นเซิร์ฟได้ในประเทศไทย ก็เดินทางมาภูเก็ต จุดเด่นอย่างหนึ่งของชายหาดบ้านเราคือ ความสะดวกสบายในการเดินทางจากชายหาดไปถึงที่พักหรือศูนย์อาหาร 

 

“งานประจำปีของพวกเราตอนนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยก็เข้ามามีบทบาทในวงการเซิร์ฟ ด้วยการตั้งเป็นปฏิทินการท่องเที่ยวของภูเก็ต เรียกรายการทั้งหมดว่า Phuket Surf Fest ทั้ง 5 ชายหาด ปีที่แล้ว ททท. ช่วยประชาสัมพันธ์ค่อนข้างมาก ทำให้เราได้นักเซิร์ฟจากต่างประเทศ รวมถึงคนที่อยู่ในภาคตะวันออกก็มาร่วมกับเรา 

 

Phuket Surf Fest 2019

 

“บวกกับตอนนี้ เซิร์ฟบ้านเราก็คัดเลือกทีมชาติอยู่ที่จะไปแข่งซีเกมส์ปีนี้และโอลิมปิกในปีหน้า 

 

“สิ่งที่พวกผมเน้นทุกปีคือ การแข่งขันรุ่นเยาวชนอายุไม่เกิน 14 ปี ผมจะให้ชายหาดที่เป็นเครือข่ายของ Phuket Surfing Club ปั้นนักกีฬารุ่นเยาวชน พวกเราจะช่วยสนับสนุนเรื่องการหาอุปกรณ์บริจาคให้ชายหาดต่างๆ ร่วมกันปั้นนักกีฬารุ่นใหม่ 

 

“เด็กๆ ไม่ต้องเสียค่าสมัคร ค่าอุปกรณ์ ค่าอาหาร เราช่วยสนับสนุนหมด ถ้าคว้าแชมป์ได้รางวัลก็เอากลับบ้านไป นอกจากนี้คุณจะอยู่ในการจัดอันดับของพวกเราด้วย เพื่อที่ในอนาคตเราจะส่งนักกีฬารุ่นเยาวชนไปแข่งในประเทศเพื่อนบ้าน เช่นที่มาเลเซียที่มีรายการหาดาวรุ่ง 

 

“ปีนี้เราก็ส่งรุ่นใหญ่ Long Board ไปแข่งที่อินโดนีเซีย ที่บาหลี แล้วก็ทำผลงานได้ดี ต่อจากนี้เราก็จะพยายามให้วงการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เพราะผลที่จะได้รับต่อไปคือ การเติบโตของอุตสาหกรรมโต้คลื่น ทั้งโรงเรียนสอนเซิร์ฟ มีร้านให้เช่า ชมรมนักกีฬาโต้คลื่น เราก็จะนำวิทยากรเข้ามาอบรมเรื่องเทคนิค ปีนี้เรามี กลินดิน ริงโรส อดีตนักกีฬาเซิร์ฟอาชีพ ที่แข่งขันอยู่ใน World Surf League ซึ่งเป็นลีกการแข่งขันโต้คลื่นสูงสุดของโลก มาอบรมให้เรา

 

“เยาวชนเหล่านี้มาจากหลากหลายพื้นที่ ส่วนใหญ่มาจาก Christian Surfer ซึ่งมีหน้าที่ดูแลเด็ก บางคนหลังจากเหตุการณ์สึนามิแล้วพ่อแม่เสียชีวิตเขาก็อยู่ที่นี่ โดยกิจกรรมนี้ช่วยให้เด็กเหล่านี้มีมุมมองที่ดีเกี่ยวกับทะเล เพราะเด็กส่วนใหญ่ที่ผ่านเหตุการณ์สึนามิมักจะกลัวทะเล 

 

Phuket Surf Fest 2019

 

“เราก็ทำโปรเจกต์ร่วมกับ เบธานี ฮามิลตัน นักกีฬาเซิร์ฟที่แขนขาดจากการโดนฉลามกัดที่ฮาวาย ร่วมกันทำเซิร์ฟคลินิกให้เด็กลงไปเล่นเมื่อประมาน 10 กว่าปีก่อน เด็กก็จะคุ้นเคยกับทะเลมากขึ้น 

 

“พอพวกเขาเล่นเซิร์ฟจนกลายเป็นกีฬา ก็จะชวนเพื่อนมารุ่นต่อรุ่น ตอนนี้กีฬาประเภทนี้มีบทบาทมากสำหรับเยาวชนที่อยู่ตามหัวเมือง ชายทะเล เพราะถ้าเราไม่ชวนเขาเล่นเซิร์ฟ พวกเขาก็จะหันเหไปทางมอเตอร์ไซค์ ขับแข่งกัน แต่ถ้าคุณเล่นเซิร์ฟวันละ 2 ชั่วโมงหลังเลิกเรียน กลับไปบ้าน กินข้าวเสร็จก็นอน เพราะหมดแรง พอนอนบางคนชอบมากก็เก็บไปฝัน 

 

“กีฬาเซิร์ฟเป็นสิ่งที่ช่วยเหลือเด็กได้ตรงที่เป็นกีฬาที่ต้องสู้กับตัวเองและธรรมชาติ คุณฟิตพอไหม ต้องถามตัวเองก่อนที่จะลงทะเล ถ้าฟิตพอถึงจะลงได้ คลื่นขนาดไหน เราจะพอบอกได้เองว่า ขนาดไหนที่เราพอรับไหว กีฬาประเภทนี้มันให้หลายอย่าง และเป็นวิชันใหม่ของภูเก็ต เพราะตอนนี้ทั้งในไทยและต่างชาติก็เริ่มรู้จัก 

 

“ในอนาคตผมก็หวังว่าเราจะได้ส่วนแบ่งเล็กๆ น้อยๆ จากบาหลีมาก็ยังดี แต่นอกจากนี้กีฬานี้ยังสามารถต่อยอดและมีการเติบโตทางธุรกิจได้อีกมาก เราส่งเด็กๆ ไปร่วมอบรมกับ International Surfing Association (ISA) เรายังทำงานร่วมกับ International Surf Lifesaving Association (ISLA) ก็คือองค์กรไลฟ์การ์ดนั่นเอง เพราะเมื่อก่อนไม่มีไลฟ์การ์ด คนที่ลงไปช่วยคนจมน้ำก็คือนักเซิร์ฟเนี่ยแหละ บางทีเราก็เป็นผู้ที่เห็นเหตุการณ์ก่อน เราก็จะพยายามเข้าไปช่วย พอได้ทำงานร่วมกับ ISLA เราก็จะกลายเป็นอีกหนึ่งขุมกำลังในการช่วยเหลือนักท่องเที่ยวในช่วงมรสุมได้ด้วย 

 

Phuket Surf Fest 2019

 

“อีกอย่างที่สำคัญคือ การสร้างวัฒนธรรมใหม่ สมัยก่อนถ้าเราได้ยินคำว่า Beach Boy เนี่ย มันค่อนข้างที่จะเกเร เกือบ 20 ปีที่แล้ว เด็กจากต่างหาดจะไม่สามารถข้ามมาเล่นได้ แต่หลังจากที่เราจัดกิจกรรมนี้ขึ้นมา ทุกคนมากินข้าว ทำงานร่วมกันจนรุ่นลูก ตอนนี้ก็มีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น 

 

“ตอนนี้เราตื่นเช้ามา สมมติเราประจำอยู่หาดกะตะ เราก็โทร.เช็กกับเพื่อนที่นี่ว่าคลื่นเป็นอย่างไร ถ้าดีก็ชวนกันมาเล่น กลายเป็นความสามัคคีจากรุ่นสู่รุ่น 

 

“ผมเป็นรุ่นแรกที่หาดแห่งนี้ เมื่อก่อนผมเล่นอยู่หาดสุรินทร์ บางวันที่คลื่นเละ เราก็ย้ายมาดูที่กมลา มาพบกับน้องๆ หลายๆ คนที่เล่นอยู่แล้วบ้าง เราก็ร่วมกันสร้างเป็นชมรม Kamala Go Surfing Club หาดสุรินทร์ก็เป็น Surin Surfers Club หาดกะหลิมก็เป็น Kalim Reef Surfers หาดเขาหลักเป็น Pakarang Surf Club ส่วนหาดกะตะก็เป็น Kata Crew เป็นทั้งหมด 5 ชายหาด 5 ชมรม ทั้งหมดนี้เราไปจดทะเบียนกับสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทยประจำจังหวัดภูเก็ต 

 

“2-3 ปีที่เซิร์ฟเริ่มเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เราจะเริ่มเห็นเพจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเซิร์ฟเกิดขึ้นเยอะมาก” 

 

Sunova แบรนด์ออสเตรเลียที่ผลิตในประเทศไทย 

 

Phuket Surf Fest 2019

 

นอกเหนือจากที่พัก กิจกรรม และชายหาดแล้ว ในจังหวัดพังงายังเป็นสถานที่ตั้งของโรงงานผลิตเซิร์ฟบอร์ดแห่งเดียวในโลกที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกับชายทะเลมากที่สุด โดยห่างจากชายหาดเพียงแค่ 2 กิโลเมตรเท่านั้น 

 

โรงงาน The Board Factory แห่งนี้ เคยเป็นโชว์รูมอุปกรณ์ก่อสร้างบ้านมาก่อน ก่อนที่บริษัท Sunova จะมาค้นพบและแปลงโฉมให้กลายเป็นโรงงานผลิตเซิร์ฟบอร์ดที่ปัจจุบันผลิตและส่งออกไปใช้งานในการแข่งขันระดับสูงทั่วโลก จากฝีมือการผลิตของคนไทย 

 

เบิร์ต เบอร์เกอร์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Sunova ชาวออสเตรเลีย ได้เผยกับ THE STANDARD ว่าสาเหตุที่เลือกประเทศไทย เพราะแรงงานไทยมีฝีมือในการผลิตบอร์ด 

 

“ตั้งแต่ที่ผมเห็นว่าคนไทยทำงานฝีมือดีและสร้างบอร์ดได้ดีมาก ตอนที่ผมอยู่ออสเตรเลีย ผมพบว่า มีคนเพียง 1 ใน 10 ของออสเตรเลียที่มีฝีมือเพียงพอที่จะคงอยู่ในวงการทำบอร์ด แต่พอผมมาไทยกลับพบว่า มีคนไทยเพียง 1 ใน 10 ที่ทำไม่ได้ ทำให้ผมประทับใจมาก ผมตัดสินใจอยู่พักใหญ่ และอยากออกจาก Firewire แบรนด์แรกที่ผมร่วมทำ ผมจึงตัดสินใจมาสร้างโรงงานที่นี่ โดยตั้งชื่อว่า Sunova ซึ่งเป็นแบรนด์ที่มีมาตั้งแต่ปี 1989

 

“ผมตัดสินใจออกจาก Firewire มาก่อตั้ง Sunova และด้วยการที่แบรนด์นี้เป็นสินค้าไฮเอนด์ที่อาศัยฝีมือ ประเทศไทยจึงเป็นที่ที่เหมาะสมมาก เราย้ายมาที่เขาหลักเป็นเวลา 3 ปีแล้ว สาเหตุที่เรามาที่นี่ เพราะที่นี่มีคลื่นที่ดีที่สุดในประเทศไทย”

 

ระหว่างการอัดเทปสัมภาษณ์ เราจะแอบเห็นพนักงานของโรงงานแห่งนี้ไถสเกตบอร์ดไปมาในโรงงาน ก่อนจะมุ่งหน้าไปสายพานการทำงานตามจุดต่างๆ 

 

Phuket Surf Fest 2019

 

สาเหตุที่เราเห็นสภาพที่ผ่อนคลายในช่วงเวลางานแบบนี้ ทางเอกนรินทร์ได้อธิบายว่า เป็นไลฟ์สไตล์การทำงานของโรงงานแห่งนี้ 

 

นอกจากการเล่นสเกตบอร์ดในโรงงานแล้ว พวกเขายังสามารถลางานไปเล่นเซิร์ฟได้อีกด้วย 

 

“ถ้าใครมองในรูปแบบของการทำงานโรงงาน มาถึงตอนเช้าสแกนนิ้วเข้างาน ทำงานจบก็สแกนนิ้วออกกลับบ้าน ที่นี่มันต่างกันนิดหนึ่ง ไลฟ์สไตล์ของเรามันถูกจูนให้เข้ากับรูปแบบการทำงานและรูปแบบการใช้ชีวิตของเซิร์ฟเฟอร์ 

 

Phuket Surf Fest 2019

 

“บางเช้าผมอาจจะได้รับโทรศัพท์จากลูกน้องว่า พี่ครับ ผมเข้า 10 โมงได้ไหม อ้าว ทำไมล่ะ เปล่าพี่ ผมจะไปเซิร์ฟ โอเค เราสนับสนุนเต็มที่ ถ้าอย่างนั้นคุณไปเซิร์ฟแล้วจะเข้ากี่โมง 10 โมงเช้า ได้เต็มที่เลย แล้วค่อยมาชดเชยเวลาเอา 

 

“พอทำงานเต็มวัน เลิกงานไปเขาก็ยังมีความสุขในการทำงานอยู่ พอพนักงานมีความสุข ทำงานแต่ละชิ้นออกมาด้วยความสุข คุณภาพมันก็จะดีตามมาครับ

 

“เรารู้สึกภูมิใจ เป็นโรงงานเดียวในโลกที่ออกจากโรงงานเลี้ยวขวาลงไปหาดเพียง 2 กิโลเมตร แล้วเซิร์ฟได้เลย นี่เป็นไลฟ์สไตล์ที่ไม่มีใครมี 

 

Phuket Surf Fest 2019

 

“เราปลูกฝังให้พนักงานทุกคนที่อยู่กับเราชอบกีฬาประเภทนี้ ไม่ว่าจะเป็นเซิร์ฟ ซับ หรือวินเซิร์ฟก็ตาม เป็นสินค้าที่เราผลิตเองแล้วเราต้องเล่นเอง”

 

Phuket Surf Fest 2019

 

อีกสิ่งสำคัญของโรงงานแห่งนี้คือ การที่พนักงานในโรงงานมีส่วนในการออกแบบและผลิตบอร์ดรูปแบบต่างๆ 

 

“ทุกคนมีส่วนหมดครับ ทุกคนช่วยกัน อย่างโมเดลใหม่ๆ เรามีไอเดียไม่มาก บางครั้งลูกค้าก็ขอ Custom Design อะไรประมาณนี้ 

 

“พอลูกค้าไม่รู้แล้วทำอย่างไร ก็เผื่อลูกน้องจะรู้ เนี่ย อยากได้ประมาณนี้ ก็บอกให้ลูกน้องจัดการกันเอง อยากได้อะไรก็ทำ สุดท้ายสิ่งที่ออกมาบางครั้งก็เป็นไอเดียของพนักงานเรา ก็เป็นอะไรที่เซอร์ไพรส์มาก เขาทำมาด้วยความคิดของเขาว่ามันจะสวยแบบนี้ๆ เรานึกไม่ออก แต่สิ่งที่ออกมาหลังจากนั้นเป็นอะไรที่สุดยอดมาก” 

 

จากการสำรวจ เราค้นพบว่า กีฬาโต้คลื่นหรือที่เรียกเซิร์ฟนั้นเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับภูเก็ตและพังงามาเป็นเวลานาน จนถูกค้นพบและเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยโซเชียลมีเดีย ที่ตอบคำถามหลายๆ คนรวมถึงตัวเราเองที่เคยสงสัยว่า ประเทศไทยโต้คลื่นได้ด้วยเหรอ 

 

วันนี้นอกจากเราจะพบว่า บริเวณนี้มีชายหาดที่สามารถโต้คลื่นได้ถึง 5 หาดดังแล้ว เรายังพบกับอุตสาหกรรมหลากหลายรูปแบบที่กำลังเติบโตขึ้นตามความนิยมของกีฬาและไลฟ์สไตล์รูปแบบใหม่นี้ 

 

ซึ่งสิ่งที่วงการเซิร์ฟจำเป็นต้องพิสูจน์กับคนในวงกว้างคือ เมื่อพวกเขาได้รับโอกาสไปแข่งขันซีเกมส์ที่ประเทศฟิลิปปินส์ คือผลงานที่ดีของตัวแทนจากประเทศไทย ซึ่งอาจกลายเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยสำคัญในการผลักดันความนิยมของกีฬาเซิร์ฟ และเพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมในภาคใต้นี้ให้เติบโตขึ้น 

 

Phuket Surf Fest 2019

 

เนื่องจากความสำคัญของการผลักดันกีฬาเซิร์ฟก็ไม่ต่างจากก่อนหน้านี้ที่หลายฝ่ายผลักดันให้เกิดการสนับสนุนวงการกีฬาชนิดอื่นๆ เพราะถ้าหากกีฬาชนิดนี้ได้รับความนิยมมากขึ้น อุตสาหกรรมโดยรอบก็จะเติบโต รายได้ก็จะเกิดขึ้นในพื้นที่และชุมชนโดยรอบ วงการเซิร์ฟในประเทศไทยก็จะแข็งแกร่งขึ้น จากกีฬาที่ใช้เพียงแค่กระดานโต้คลื่นและจิตวิญญาณที่พร้อมจะไหลลื่นไปกับธรรมชาติของทะเล 

 

ภาพ: ดิษยุตม์ ธนบุญชัย

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X