โลกยุคใหม่ด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนเร็วและข้อมูลที่ล้นหลาม การบริหารจัดการข้อมูลจึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ภูเก็ตจึงเป็นเมืองนำร่องที่สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) หรือ BDI เลือกใช้ Big Data ทำงานบูรณาการระหว่างรัฐ เอกชน ชุมชน และหน่วยงานอื่น ให้เกิดขึ้น เพื่อนำข้อมูลทั้งหมดไปพัฒนาตามบริบทและสภาพพื้นที่แต่ละจังหวัด ให้เกิดผลทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้ครอบคลุมอย่างยั่งยืนในทุกมิติ
ใช้ AI และ Big Data ช่วยรัฐ-เอกชนทำงาน
การร่วมกันทำงาน ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชนหรือภาครัฐ หรือแม้แต่หน่วยงานรัฐกับรัฐ ถือเป็นเรื่องยากในโลกของความเป็นจริงที่หลายคนสัมผัสได้ แต่ทุกอย่างกำลังจะแปรเปลี่ยนไปด้วยการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ จากที่ BDI หน่วยงานในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เริ่มนำ AI เก็บข้อมูลเพื่อไปประมวลผล และการใช้ข้อมูล Big Data ไปวิเคราะห์ พร้อมส่งต่อข้อมูลให้ทุกภาคส่วนนำไปใช้ประโยชน์ขยายผลให้เกิดการพัฒนาทางด้านต่างๆ มากขึ้น
รศ. ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการ BDI เปิดเผยว่า ยุทธศาสตร์องค์กรคือการนำประโยชน์ของ Big Data ที่ผ่านการวิเคราะห์ไปใช้ขับเคลื่อนสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ตามบริบทของแต่ละพื้นที่และหน่วยงานให้ตรงจุดและความต้องการได้มากที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาแต่ละองค์กรต่างคนต่างทำ ทำให้ข้อมูลกระจัดกระจายและไม่เคยมีการรวมข้อมูลแบบรวมศูนย์มาก่อน ทาง BDI จึงเลือกภูเก็ตเป็นจังหวัดนำร่องของความร่วมมือหลายด้าน เนื่องจากเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สร้างเม็ดเงินเป็นอันดับต้นๆ ให้กับประเทศ ที่สำคัญการท่องเที่ยวภาคเอกชนมีการรวมตัวกันอย่างเข้มแข็งและมีความพร้อมที่จะให้ข้อมูล พร้อมลงมือปฏิบัติ เพื่อให้ภูเก็ตเป็นเมืองการท่องเที่ยวยั่งยืนในทุกมิติ อีกทั้งชุมชนก็แข็งแรงและพร้อมสนับสนุนทุกกิจกรรม
ภูเก็ตใช้ Big Data 3 แพลตฟอร์ม Travel Link, Envi Link และ CDP
BDI ส่งทีมลงสนาม เพื่อเก็บข้อมูลและนำมาแปรพร้อมประมวลผลเป็นแดชบอร์ด เพื่อเป็นชุดข้อมูลให้ส่วนอื่นนำไปแปรผลใช้ตามบริบทและการใช้งานของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งมีทั้งหมด 3 แพลตฟอร์ม คือ
- โครงการแพลตฟอร์มข้อมูลอัจฉริยะด้านการท่องเที่ยว (Travel Link) ที่ร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ได้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับจำนวนนักท่องเที่ยว เพื่อสามารถนำไปประเมิน เพื่อวิเคราะห์ทางนโยบายและทำการตลาดได้ตรงจุดความต้องการของนักท่องเที่ยว อย่างที่ภูเก็ตร่วมมือกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) กรมการปกครอง ที่มีข้อมูลถึง 3 ด่าน ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ทำให้เห็นข้อมูลและรายละเอียดที่ช่วยการเปิดประเทศได้อย่างราบรื่นหลังสถานการณ์โรคโควิด จนปัจจุบันทำให้การท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ประมาณ 90% โดยผลจากข้อมูลแดชบอร์ดเห็นชัดเจนว่านักท่องเที่ยวมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง ทางยุโรปกลับมาเที่ยวภูเก็ต 100% นักท่องเที่ยวจีนยังไม่กลับมา แต่ไทยกลายเป็นจุดผ่านระหว่างการเดินทางแทน รวมถึงมีนักท่องเที่ยวประเทศใหม่เข้ามาชัดเจน เช่น คาซัคสถาน ที่เข้ามา 100 คน ประมาณ 80 คนคือเข้ามาเที่ยวภูเก็ต หรือข้อมูลที่บอกชัดเจนว่าอัตราการเข้าพักของนักท่องเที่ยวต่างประเทศตอนนี้อย่างน้อยมาอยู่ 2 คืน ซึ่งมีผลต่ออัตราการเข้าพักโรงแรมเฉลี่ยต่อคืนมากขึ้น และนำข้อมูลเหล่านี้มาปรับใช้กับการตลาดให้ตรงจุดได้มากขึ้น
เป้าหมายระยะสั้นคือต้องการวิเคราะห์ข้อมูลนักท่องเที่ยวเชิงลึกมากขึ้นและพยายามทำโมเดล เพื่อให้สามารถคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาได้มากขึ้น รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลจากการเคลื่อนที่ของนักท่องเที่ยวจากการใช้โทรศัพท์ หรือการได้เห็นค่าใช้จ่ายการเข้าพักมากขึ้นจากความร่วมมือของ Online Travel Agency (OTA) ก็เพื่อให้แต่ละพื้นที่สามารถใช้แดชบอร์ดได้อย่างตรงจุด ซึ่งทั้งหมดจะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการได้ เพราะนี่คือสิ่งที่ BDI ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับเรื่อง Data Governance
- โครงการพัฒนาแพลตฟอร์มข้อมูลเมืองอัจฉริยะ (Smart Data Analytics Platform) โดยเป็นการทำงานร่วมกับภาครัฐเป็นส่วนใหญ่ BDI เสมือนเป็นถนนกลางที่คอยเชื่อมเส้นทางระหว่างทุกหน่วยงาน โดยมี Data Platform หรือ Cloud ที่คอยรวบรวมข้อมูลของจังหวัดนั้นๆ และทำให้การทำงานระหว่างหน่วยงานตั้งแต่ระดับบนลงล่างหรือล่างขึ้นบนสามารถใช้ข้อมูลได้อย่างสะดวกมากขึ้น ซึ่งมี 6 จังหวัดนำร่องคือ ภูเก็ต, เชียงราย, น่าน, นครสวรรค์, นครราชสีมา และมหาสารคาม โดยข้อมูลที่ใช้จะมีความแตกต่างกันตามบริบทและสภาพพื้นที่ เช่น ข้อมูลการเฝ้าระวังดินสไลด์/ถล่ม น้ำท่วม และระดับน้ำทะเลขึ้น-ลง เพื่อสามารถเตือนประชาชนได้ล่วงหน้า แต่จะมีข้อมูลส่วนกลางที่ได้รับมาเหมือนกัน นั่นคือข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุจากกรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และข้อมูลกลุ่มเปราะบางจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
สำหรับที่ภูเก็ตมีระบบ Cloud ของจังหวัดที่ BDI ได้รับข้อมูลและความร่วมมือกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เชื่อมต่อหน่วยงานต่างๆ ให้ โดย BDI จะช่วยดูแลระบบหลังบ้านหรือการบริหารจัดการข้อมูล พร้อมแก้จุดอ่อนและเพิ่มความต้องการของข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ (Pain Point) ให้ตรงกับความต้องการของผู้ปฏิบัติงาน เมื่อได้ข้อมูลก็จะประมวลผลนำเสนอออกมาในรูปของแดชบอร์ด เพื่อสามารถนำข้อมูลไปใช้ต่อได้อย่างสะดวก พร้อมจัดอบรมการใช้งานให้กับเจ้าหน้าที่
- โครงการแพลตฟอร์มบริการข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Envi Link) ที่ใช้ AI มาช่วยจับ เพื่อประมวลผลให้ได้ข้อมูล นำไปสู่เป้าหมายที่ภูเก็ตต้องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจก เพราะมีวัตถุประสงค์เป็นเมืองท่องเที่ยวแบบยั่งยืน (Sustainable Tourism)
“ภูเก็ตมีความพร้อมในหลายด้าน ทั้งจากภาคชุมชน หน่วยงานรัฐที่พร้อมให้ข้อมูล โดยเฉพาะภาคเอกชนที่มีความเข้มแข็งและพร้อมที่ลุยทำให้ภูเก็ตเป็นเมืองต้นแบบของความยั่งยืนหลายด้าน จึงพยายามทำให้ภูเก็ตเป็นตัวอย่างและนำร่องกระบวนการทำงานหลายอย่างให้จบที่ 3 แพลตฟอร์มในคราวเดียว เพื่อที่จะสามารถนำไปยกและวางที่จังหวัดอื่นๆ ก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงตามบริบทและรายละเอียดแต่ละพื้นที่ อย่าง Envi Link ที่ใช้เวลาทำงานได้ข้อมูลการปล่อยคาร์บอนเบื้องต้น 8 เดือน ถ้าจะนำไปใช้กับจังหวัดอื่นก็ควรใช้เวลาที่น้อยกว่า สิ่งที่สำคัญกว่าคือ เมื่อทำโครงการจบแล้วจะทำอย่างไรให้กระบวนการทำงานไม่จบและสามารถอยู่อย่างยั่งยืนได้ด้วย โดยต้องมีหน่วยงานหรือสมาคมที่มารับช่วง ซึ่งต้องมีการดูแลและรับผิดชอบ เช่น กล้อง CCTV ที่พังและต้องซ่อมแซมหลังใช้งานมาอย่างหนัก ดังนั้นต้องเลือกและส่งต่องานกับหน่วยงานหรือภาคเอกชนที่เข้มแข็งในจังหวัดนั้นๆ ได้ เพราะท้ายสุด BDI ก็เหลือหน้าที่เพียงประสานงานให้”
Envi Link ใช้ AI และ Big Data ลดคาร์บอนในเมืองเก่าภูเก็ต
เป้าหมายของภูเก็ตคือต้องการเป็นเมือง Sustainable Tourism เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี มูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืน ชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ต และเทศบาลนครภูเก็ต จัดทำโครงการความเป็นกลางทางคาร์บอนเมืองเก่าภูเก็ต (Phuket Old Town Carbon Neutrality 2030) โดยตั้งเป้าให้ย่านเมืองเก่ามีความเป็นกลางทางคาร์บอนภายใน 3 ปี (2567-2569) หรือลดคาร์บอนได้ 30% แต่การจะลดคาร์บอนได้ต้องมีข้อมูลวัดผลการปล่อยคาร์บอนที่เป็นพื้นฐานออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรมก่อน
BDI เริ่มต้นจากใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ช่วยจับและประมวลภาพจากมุมกล้อง CCTV เพื่อนับจำนวนคนและยานพาหนะแต่ละประเภทที่สัญจรบริเวณบนถนนถลางและซอยรมณีย์ย่านเมืองเก่า ที่ติดตั้งทั้งหมด 3 กล้อง ซึ่งจะเพิ่มอีก 5 กล้องในเฟสต่อไป โดยต้องสอนให้ AI รู้จักสภาพและบริบทเฉพาะในพื้นที่ เพื่อให้สามารถนับและประเมินจำนวนได้อย่างชัดเจน เช่น รถโพถ้อง ซึ่งเป็นรถขนส่งสองแถวท้องถิ่น นับจำนวนในรูปแบบเดียวกับรถกระป๊อหรือตุ๊กตุ๊ก ส่วนรถพ่วงที่มีรถมอเตอร์ไซค์แบบพ่วงข้างที่ชาวบ้านไว้บรรทุกของอยู่ในหมวดรถมอเตอร์ไซค์
นอกจากนั้น มีการวัดค่าคาร์บอนทั้งจากปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่ได้ข้อมูลจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ปริมาณการใช้น้ำและการบริหารจัดการการใช้น้ำจากสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 15 การบริหารจัดการขยะจากเทศบาลนครภูเก็ต ข้อมูลสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา ข้อมูลคุณภาพอากาศจากกรมควบคุมมลพิษ
จากข้อมูล CCTV และการคำนวณการใช้ไฟฟ้า น้ำ อากาศ และการบริหารจัดการขยะในย่านเมืองเก่าภูเก็ต ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม – 7 ตุลาคม 2567 พบว่ามีการปล่อยคาร์บอนทั้งหมด 967,373 KgCO2e แบ่งเป็นจากปริมาณการใช้ไฟฟ้ามากที่สุด 796,973 KgCO2e หรือคิดเป็น 82% อันดับ 2 คือจากปริมาณน้ำเสีย 73,027 KgCO2e คิดเป็น 8% อันดับ 3 จากยานพาหนะ 68,742 KgCO2e คิดเป็น 7% โดย 3 อันดับแรกคือจากรถบรรทุก รถเก๋ง และรถมอเตอร์ไซค์ ขณะที่จากปริมาณการจัดการขยะที่มาจากการเผา 28,631 KgCO2e คิดเป็น 3%
จากผลที่ได้สู่กระบวนบริหารจัดการขยะอย่างครบวงจร
ภูมิกิตติ์ รักแต่งาม ประธานมูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืน กล่าวว่า จากผลการวัดค่าคาร์บอนที่ออกมาในย่านเมืองเก่า เพื่อให้เกิดความเป็นกลางทางคาร์บอนเทียบเท่ากับต้องใช้พื้นที่เพื่อปลูกต้นไม้ให้ได้ 50 สนามฟุตบอลตามมาตรฐานฟีฟ่า จึงตั้งเป้าว่าภายใน 3 ปี ขอลดการปล่อยคาร์บอนเหลือเพียง 25 สนามฟุตบอล หรือภายในปี 2569 หรืออย่างน้อยประมาณ 30% จากค่าที่วัดได้ในปัจจุบัน ส่วนแผนต่อไป เพื่อให้ได้ค่าความเป็นกลางตามเป้าหมายอย่างแท้จริงโดยการจะไปซื้อคาร์บอนเครดิต ก็ต้องรอดูและพิจารณากันอีกที
“การทำท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนต้องทำควบคู่กันอย่างแยกไม่ออกระหว่างเรื่องท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อม เพราะก่อนที่เป้าหมายการเป็น Net Zero หรือการเป็นกลางทางคาร์บอนจะเกิดขึ้น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะมีการปฏิบัติตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว และที่สำคัญต้องปฏิบัติตามมาตรฐานที่ลูกค้าคำนึงด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังก่อนตัดสินใจมาใช้บริการมากขึ้นอยู่แล้ว ดังนั้นก่อนที่จะให้เกิดการท่องเที่ยวแบบมีความรับผิดชอบ (Responsible Tourism) ได้ สิ่งสำคัญคือต้องเริ่มจากเจ้าบ้านก่อน ที่ต้องมีความรับผิดชอบในเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมของชุมชนตัวเอง”
ทั้งนี้ เพื่อให้เข้าสู่กระบวนการลดคาร์บอนและเกิดการเป็นเจ้าบ้านที่ดี เริ่มจากการบริหารจัดการขยะให้เป็นระบบมากขึ้น ตั้งแต่ให้ชุมชนเมืองเก่ารู้จักแยกขยะเป็นระบบด้วยการให้ถุงขยะ 4 สี คือ สีฟ้าคือขยะเพื่อนำไปสู่การเผาทำลายที่เทศบาลเป็นผู้ดูแล สีเหลืองคือขยะรีไซเคิลที่สามารถนำไปเพิ่มมูลค่าได้ สีชมพูคือไขมันจากถังดักจับไขมันที่ระบุไว้ว่า ในทุกวันอังคาร ทุกร้านค้าและบ้านเรือนต้องนำมาวางไว้หน้าบ้าน เพื่อนำไปบริหารจัดการอย่างถูกต้องต่อไป
สุดท้ายสีเขียวคือขยะอินทรีย์ ซึ่งมูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืนซื้อเครื่องจัดการขยะแบบอินทรีย์มาติดตั้งย่านกลางเมือง เพื่อลดปริมาณขยะอินทรีย์ลง จากปัจจุบันมีประมาณ 500 กิโลกรัมต่อวัน โดยประชาชนหรือเกษตรกรที่สนใจสามารถมาขอเพื่อนำไปทำการเกษตรได้ตลอดเวลา นอกจากนั้น ยังได้ก๊าซชีวมวลจากขยะอินทรีย์ประมาณ 35-75 กิโลวัตต์
ขยายผลเก็บข้อมูลค่าคาร์บอนจากรถ EV Bus สาย Dragon
เพื่อขยายผลให้ต่อเนื่องจากการจัดกิจกรรมลดค่าคาร์บอนในย่านเมืองเก่าภูเก็ต จึงร่วมมือกับบริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง จำกัด ที่ให้ดึงข้อมูลจากกล้องที่ติดภายในรถ EV Bus สาย Dragon จำนวน 3 คัน เพื่อนับจำนวนผู้โดยสาร ที่วิ่งให้บริการฟรีแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวย่านเมืองเก่า ซึ่งตารางเดินรถจะออกทุกๆ 15 นาที
โดย BDI จะนำข้อมูลจาก AI ที่ได้ไปประมวลผลให้ได้ข้อมูลการปล่อยคาร์บอนออกมา
“ตอนนี้มีข้อมูลพื้นฐานแล้ว เหลือกลับไปหาวิธีคำนวณที่ปล่อยควันพิษออกมาได้ค่าเป็นจำนวนเท่าไร และมาหักลบกับจำนวนคน คาดว่าจะได้หาวิธีการนับจำนวนการปล่อยคาร์บอนได้ ซึ่งน่าจะได้ค่าการปล่อยคาร์บอนในเวลาอีกไม่นาน” รศ. ดร.ธีรณี กล่าว
โลกร้อนปีนี้ทำให้เห็นผลชัดเจนว่าร้ายแรงขนาดไหน แต่หากไม่รู้จะหาวิธีช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร ลองดูแนวทางความร่วมมือทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจากจังหวัดภูเก็ตก่อนได้ เพราะสิ่งสำคัญที่สุดคือการร่วมมือร่วมใจและความสามัคคีจากคนในท้องที่จริงๆ จึงจะค่อยๆ เกิดผลกระทบในวงกว้างได้
ภาพ: Pierrick Lemaret / Getty Images