องค์การยูเนสโกประกาศรับรองการขึ้นทะเบียนอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขือน้ำ ตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี เป็นแหล่งมรดกโลกประเภทภูมิทัศน์วัฒนธรรม ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 ที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย โดยถือเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 5 ของไทยต่อจากเมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ และส่งผลให้จังหวัดอุดรธานีเป็นจังหวัดแรกของไทยที่มีแหล่งมรดกโลก 2 แห่งต่อจากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง
สภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ (ICOMOS) เสนอขึ้นทะเบียนอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเป็นมรดกโลก ภายใต้เกณฑ์การนำเสนอคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากลคือ เกณฑ์ข้อที่ 3 และข้อที่ 5 ในกลุ่มภูมิทัศน์วัฒนธรรม และเสนอให้ขึ้นทะเบียนภายใต้ชื่อใหม่ ‘ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมาสมัยทวารวดี’ โดยพื้นที่ซึ่งถูกเสนอประกอบด้วย 2 พื้นที่ คือ
1. อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท
2. แหล่งวัฒนธรรมสีมา
สำหรับอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท มีความโดดเด่นด้านหลักฐานทางโบราณคดีและร่องรอยกิจกรรมมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ราว 2,500-3,000 ปี เช่น ภาพเขียนสีโบราณ 54 แห่ง
นอกจากนี้ ยังพบร่องรอยการดัดแปลงหินธรรมชาติให้เป็น ‘สีมา’ ห้อมล้อมลานพิธีสำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนา สำหรับผู้คนตั้งแต่สมัยทวารวดี เขมร ล้านช้าง และรัตนโกสินทร์ ถือเป็นแหล่งวัฒนธรรมสีมาซึ่งหาได้ยาก และมีความสมบูรณ์ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อ้างอิง:
– สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
– กรมศิลปากร
– อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท