×

ปัดฝุ่น ‘กระเช้าขึ้นภูกระดึง’ อีกครั้ง โปรเจกต์ยักษ์ที่ ‘ยุคทักษิณคิด-เศรษฐาทำ’

โดย THE STANDARD TEAM
04.12.2023
  • LOADING...
กระเช้าภูกระดึง

เป็นการปัดฝุ่นอีกครั้ง ให้มีการสร้าง ‘กระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง’ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จังหวัดเลย ซึ่งเป็นสถานที่ยอดฮิตในภาคอีสาน 

 

ในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ หรือ ครม.สัญจร จังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งเป็นครั้งแรกของรัฐบาลที่ได้นายกรัฐมนตรีชื่อว่า ‘เศรษฐา ทวีสิน’ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา

 

มีวาระที่น่าสนใจและกลายเป็นกระแสให้พูดถึงอย่างน่าติดตาม โดยเฉพาะโครงการการลงทุนสำคัญของจังหวัดเลย ที่จะเสนอให้มีการก่อสร้าง ‘กระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง’ หลังจาก พวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยอมรับว่าเตรียมเสนอเข้า ครม.สัญจร พิจารณาเรื่องดังกล่าว 

 

ขั้นตอนแรกในการสร้าง ‘กระเช้าภูกระดึง’

 

โดยจะเสนอของบกลางจำนวน 28 ล้านบาท เพื่อดำเนินการจ้างสำรวจออกแบบก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง ซึ่งวานนี้ (3 ธันวาคม) พวงเพ็ชรระบุว่า การเสนอครั้งนี้ยังไม่ใช่การเสนอเพื่อขออนุมัติก่อสร้าง โดยงบประมาณส่วนหนึ่งจะเป็นของจังหวัดเลย แต่งบประมาณที่จะขอครั้งนี้ เป็นงบสำหรับการสำรวจและออกแบบการก่อสร้าง

 

ขณะเดียวกันยังต้องทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA แนบไปด้วย ดังนั้นจังหวัดเลยจึงจำเป็นจะต้องมีการออกแบบรูปแบบกระเช้าไฟฟ้าเพื่อประกอบการพิจารณาก่อน ซึ่งหากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เห็นชอบ EIA แล้ว ขั้นตอนต่อไปจะส่งกลับไปให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามขั้นตอนต่อไป 

 

ทั้งนี้ ก่อนการก่อสร้างจะต้องมีการขอทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรือ EIA และจะต้องมีแบบก่อสร้างแนบไปด้วย จึงต้องมีการออกแบบรูปแบบของกระเช้าไฟฟ้า เพื่อประกอบการพิจารณาของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เห็นชอบจาก EIA แล้ว ส่งต่อไปยังกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามขั้นตอนต่อไป 

 

ยังไม่เข้า ครม. ‘กระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง’ ต้องศึกษาให้ชัด 

 

ส่วน ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุถึงกรณีที่พวงเพ็ชร ขออนุมัติงบประมาณสำหรับการออกแบบกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง 28 ล้านบาทว่า คงต้องหารือหลายฝ่าย จริงๆ มันเป็นเรื่องความคล่องตัวในการอำนวยความสะดวกในการท่องเที่ยว และทำให้การท่องเที่ยวสามารถเดินได้ ในการเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวได้ดีขึ้น

 

กระแสการต้านไม่ให้สร้าง ‘กระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง’

 

“ถ้าทุกอย่างไม่มีปัญหา ทุกฝ่ายเข้าใจ รัฐบาลนี้ก็พร้อมทำได้ เกิดประโยชน์ก็พร้อมทำ ย้ำว่าต้องศึกษาให้ชัดเจน” ภูมิธรรมกล่าว 

 

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มอนุรักษ์ซึ่งมีความคิดเห็นต่างอยู่หลายเรื่อง เป็นเรื่องที่ต้องระดมความคิดและพิจารณาร่วมกัน การศึกษาเป็นสิ่งดี ทำให้เกิดความรอบคอบ เนื่องจากเป็นความขัดแย้งระหว่างความคิดเชิงวัฒนธรรม กับความคิดในการเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว

 

สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ค้านกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง

ย้อนไปเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2559 ศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ออกแถลงการณ์คัดค้านการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงว่า หากสร้างจริงจะทำลายพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อของชาติจนย่อยยับ เพราะอุทยานแห่งชาติภูกระดึงมีสภาพพื้นที่ป่าที่มีความหลากหลาย ทั้งป่าสนเขา ป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง รวมถึงสัตว์ป่าอีกหลายชนิด

 

และยังระบุอีกว่า “หากรัฐบาลไม่ทบทวนโครงการดังกล่าว สมาคมก็พร้อมที่จะร่วมมือกับชาวบ้าน และนักอนุรักษ์ทั่วประเทศ นำความขึ้นฟ้องร้องต่อศาลปกครองแน่นอน” 

 

2 ทางเลือกขึ้น ‘ภูกระดึง’ 

 

ทว่า พวงเพ็ชร​ยังเสนออีกว่า ทางขึ้นภูกระดึงมี 2 ​รูปแบบ​ คือ การเดินขึ้นแบบเดิม และสำหรับผู้สูงอายุที่อยากเห็นยอดภูกระดึงก็ให้เลือกขึ้นกระเช้าไฟฟ้าได้ เชื่อว่าถ้าหากเป็นความเจริญของจังหวัดเลย คนก็จะเห็นชอบ เพราะจะมีรายได้เข้าจังหวัดจำนวนมาก และพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยว

 

ย้อนอดีต ‘กระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง’ 

 

โครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง เริ่มต้นเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2547 หลังจาก ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น ได้เดินทางตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดเลย และสั่งการให้ทำการศึกษาการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง โดยไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ตัดต้นไม้ ขณะเดียวกันพื้นที่ป่าด้านล่างให้อนุรักษ์สัตว์ป่า เพื่อให้นักท่องเที่ยวเห็นสัตว์ป่าในมุมสูง

 

แต่โครงการยังไม่สำเร็จค้างต่อเนื่องมาหลายรัฐบาล จนมาถึงรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เดินทางมาประชุม ครม.สัญจร และรับฟังข้อเสนอถึงโครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง แต่ก็ยังไม่สามารถดันโครงการฯ ออกมาได้ เพราะรัฐบาลในขณะนั้นขอใช้เวลาศึกษาเพื่อความรอบคอบก่อน 

 

ทว่า เช่นเดียวกับรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยังไม่ได้หยิบยกโครงการฯ ขึ้นมาพิจารณา จึงทำให้โครงการฯ ค้างอยู่มาหลายรัฐบาล

 

ความคืบหน้าในปัจจุบัน 

 

สำหรับโครงการฯ ในปัจจุบัน โดยรัฐบาลเศรษฐา หลังจากรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดเลย และได้รับข้อเสนอเรื่องการผลักดัน โครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงอีกครั้ง ตามข้อเสนอระบุว่า

 

ปัจจุบันมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยกำหนดให้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ สร้างงาน และเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนในระดับชุมชนของแต่ละท้องถิ่นและประเทศ รวมทั้งส่งเสริมให้การท่องเที่ยวมีบทบาทสำคัญในการช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกภูมิภาค

 

แผนยุทธศาสตร์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเลย ปี พ.ศ. 2565-2570 กำหนดวิสัยทัศน์ของการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเลย ‘เมืองน่าพักผ่อนและเรียนรู้ประสบการณ์ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เอกลักษณ์วัฒนธรรมท้องถิ่น การพัฒนาที่ยั่งยืนสู่คุณภาพระดับสากล’

 

โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว โดยกำหนดว่าภายในปี 2570 จังหวัดเลยจะต้องมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 มีรายได้จากการท่องเที่ยวที่มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 15 ต่อปี คิดเป็นรายได้รวมจำนวนเงิน 35,505.56 ล้านบาท 

 

ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้เพิ่มขึ้น และการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งเพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว จำนวนวันพักในการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นตามเป้าหมายในปี 2570 พร้อมกับการยกระดับความสามารถในการแข่งขันทางการท่องเที่ยวของจังหวัดเลยให้ดีขึ้น และเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในยุคปัจจุบัน จึงเห็นว่าควรมีการพัฒนาก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง จังหวัดเลย เพื่อให้เป็นเครื่องมือในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และการจัดการสิ่งแวดล้อม 

 

และเป็นแหล่งท่องเที่ยวแม่เหล็กที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอีกแห่งในจังหวัดเลย ที่จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับจังหวัดเลยในระดับมหภาค สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจต่อชุมชน และสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวในจังหวัดที่เพิ่มขึ้นได้ โดยมีการศึกษาถึงความคุ้มค่าของการสร้างกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง

 

แนวทางแก้ไขปัญหา

 

  1. สำรวจออกแบบก่อสร้างโครงการกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง จังหวัดเลย และศึกษาข้อมูลเชิงลึกในด้านแบบก่อสร้างโครงการกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง รวมถึงรายละเอียดแบบก่อสร้างโครงการ และข้อมูล On Scale ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อใช้ในการพิจารณาตามข้อกำหนดในการจัดทำรายงาน EIA โดยพิจารณาการเสนอของบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงินงบประมาณ 28 ล้านบาท เพื่อดำเนินการจ้างสำรวจออกแบบก่อสร้างโครงการกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง จังหวัดเลย 

 

เนื่องจากมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการ และต้องใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันงบประมาณโดยเร็ว เพื่อดำเนินการสำรวจออกแบบคู่ขนานไปกับการศึกษาและจัดทำรายงานของโครงการ เพื่อให้ผลการศึกษาและการก่อสร้างมีความสอดคล้อง และสามารถนำไปใช้ได้จริง รวมถึงให้ได้รับการพิจารณาอนุญาตในขั้นตอนการเสนอรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EA) ต่อไป

 

  1. ควรให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ให้การสนับสนุนองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน องค์การมหาชน หรือ อพท. ในการดำเนินการศึกษาโครงการกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง จังหวัดเลย ให้สำเร็จลุล่วง และการดำเนินการตามขั้นตอนการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EA) จนสิ้นสุดกระบวนการเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

 

ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการแก้ไขปัญหาตามแนวทางข้างต้น

 

  1. สามารถเข้าพื้นที่ศึกษาเพื่อดำเนินการตามขอบเขตงานที่เกี่ยวข้องได้
  2. เพื่อให้ผลการศึกษาและการก่อสร้างมีความสอดคล้อง และสามารถนำไปใช้ได้จริง รวมถึงให้ได้รับการพิจารณาอนุญาตในขั้นตอนการเสนอรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ต่อไป
  3. การพัฒนากระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง จังหวัดเลย ก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับจังหวัด และโอกาสทางเศรษฐกิจต่อชุมชน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว และเกิดการกระจายรายได้สู่ประชาชนในพื้นที่ สร้างศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวในระดับประเทศ เป็นแม่แหล่งดึงดูดความสนใจการท่องเที่ยวของประเทศอีกแห่งหนึ่ง สามารถลดเวลาการเดินทางท่องเที่ยวภูกระดึง เพิ่มโอกาสการท่องเที่ยวเชื่อมโยงในแหล่งอื่นของจังหวัดได้ เกิดการกระจายรายได้ และการหมุนเวียนของนักท่องเที่ยวไปสู่พื้นที่อื่นๆ ในจังหวัดเลยเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดการพักค้างที่เพิ่มขึ้น บรรลุเป้าหมายตามแผนยุทธศาสตร์ฯ ในปี 2570 เรื่องจำนวนวันพักในการท่องเที่ยวเพิ่มเป็นจำนวน 2.5 วัน จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 และสามารถบรรลุเป้าหมายเรื่องรายได้รวมจากการท่องเที่ยวในจังหวัดเพิ่มขึ้นจำนวน 35,505.56 ล้านบาท
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X