เมื่อ 92 ปีมาแล้ว การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นในเวลาเช้าตรู่ของวันที่ 24 มิถุนายน พุทธศักราช 2475 ได้นำความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญมาสู่ชีวิตของข้าราชการผู้หนึ่งให้ต้องละทิ้งชีวิตที่เงียบสงบ ก้าวเข้าสู่ตำแหน่งประมุขฝ่ายบริหารคนแรกของประเทศในระบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
พระยามโนปกรณ์ฯ ผู้มีชื่อจารึกอยู่ในประวัติศาสตร์ท่านนี้ เกิดในตระกูลชาวไทยเชื้อสายจีน เมื่อพุทธศักราช 2427 กลางแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เหตุผลที่คณะราษฎรมิได้คัดสรรสมาชิกในคณะราษฎรเองขึ้นทำหน้าที่สำคัญดังกล่าว มีข้อสันนิษฐานว่าเป็นไปเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจของคณะราษฎรว่ามิได้มุ่งปรารถนาแสวงหาอำนาจใส่ตนเองหรือพวกพ้อง
คณะราษฎรคงหมายใจที่จะให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นโซ่ข้อกลางเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคณะราษฎรกับพระเจ้าแผ่นดินในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ
ส่วนเชื่อมแล้วสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
พระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการราษฎรตามพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองสยามชั่วคราว ตั้งแต่เดือนมิถุนายนมาจนถึงเดือนธันวาคมปีเดียวกัน แล้วเปลี่ยนชื่อตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475
ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ได้เพียงไม่กี่เดือนก็เกิดวิกฤตขึ้น เพราะหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) มันสมองสำคัญของคณะราษฎร ได้เสนอเอกสารเป็นสมุดปกเหลืองที่เรียกว่า ‘เค้าโครงเศรษฐกิจ’ ต่อสาธารณะ เพื่อยกเครื่องเศรษฐกิจของประเทศสยามครั้งใหญ่ ในความเห็นของพระยามโนปกรณ์ฯ แล้ว แนวทางดังกล่าวเป็นแนวคิดฝ่ายคอมมิวนิสต์ ซึ่งท่านไม่สบอัธยาศัยเลย แถมหลวงประดิษฐ์มนูธรรมก็เป็นรัฐมนตรีร่วมคณะรัฐมนตรีที่มีท่านเป็นนายกรัฐมนตรีด้วย เรื่องจึงอึดอัดยุ่งยากไปหมด
เพื่อแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างดังกล่าว พระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้ตัดสินใจทำรัฐประหารครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองยุคประชาธิปไตยของไทยขึ้น เป็นการทำรัฐประหารเงียบเมื่อเดือนเมษายน พุทธศักราช 2476
แต่แล้วอีกเพียงสองเดือนต่อมา กงเกวียนกำเกวียนก็ย้อนรอยมาถึงตัวท่าน ในเดือนมิถุนายน พุทธศักราช 2476 นั้นเอง พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎรชุดเดิมได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดากลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง แล้วเนรเทศพระยามโนปกรณ์ฯ ไปอยู่ที่ปีนัง
พระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นทั้งนายกรัฐมนตรีคนแรกของเมืองไทย และยังได้บันทึกไว้อีกประโยคหนึ่งในประวัติศาสตร์ว่า ผู้ที่ทำรัฐประหารครั้งแรกเมื่อ 90 ปีก่อน เรื่องราวตอนจบชีวิตของท่านเงียบเหงาและว้าเหว่พอสมควรเลยทีเดียว บางทีประโยคสั้นๆ ประโยคนี้อาจจะเตือนใจใครก็ตามที่คิดจะทำรัฐประหาร (อีก) ได้บ้างกระมัง