เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งละครฟอร์มดีของช่อง one31 ที่มีกระแสออกมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ประกาศสร้างจนกระทั่งได้ออกอากาศไปเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งก็ทำออกมาได้ดีสมกับเป็นผลงานของ ‘พอดีคำ’ ค่ายละครที่เข้าอกเข้าใจผู้ชมชาวไทย และยังใส่ความฮา สนุก ตลก ด้วยจังหวะสไตล์ซีรีส์เกาหลีได้อย่างลงตัว จนขอยกให้เป็นละครคลายเครียดของช่วงนี้เลยทีเดียว
ละครจะสนุกได้ต้องเริ่มต้นจากวัตถุดิบที่ดี ซึ่งละครเรื่องนี้สร้างจากนวนิยายเรื่อง พระนคร ๒๔๑๐ แม่สื่อตัวร้ายกับนายโปลิศ โดย ตฤณภัทร เจ้าของรางวัลรองชนะเลิศโครงการอ่านเอาก้าวแรก รุ่น 2 ด้วยความที่นิยายเขียนขึ้นใหม่ดังนั้นเรื่องราวต่างๆ จึงมีความแปลกใหม่ และน่าจะได้แรงบันดาลใจในการสร้างตัวละครมาจากซีรีส์เกาหลีมากทีเดียว อย่างไรก็ตาม ความน่าสนใจคือการหยิบเอาบุคคลและเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์เข้ามาเรียงร้อยเข้ากับเรื่องได้อย่างสนุกสนานไม่ติดขัด
ปี 2410 ในสมัยรัชการที่ 4 สยามเพิ่งมีหนังสือพิมพ์ฉบับแรกโดยหมอบรัดเลย์ ปรากฏข้อความกล่าวถึง ยายแถม (จิ๊-อัจฉราพรรณ ไพบูลย์สุวรรณ) ผู้มีอาชีพเป็นแม่สื่อแห่งพระนคร กลายเป็นจุดเริ่มต้นให้นักเขียนขยายความสร้างตัวละคร โนรี (ชาร์เลท-วาศิตา แฮเมเนา) หลานสาวของยายแถมผู้หวังจะสืบทอดกิจการด้วยการเดบิวต์จับคู่ให้กับ พระฤทธิรงค์รณยุทธ์ (ฌอห์ณ จินดาโชติ) โปลิศหนุ่มรูปงาม และ คุณวาด (ปลายฟ้า-ณัชภรณ์ อุ่นสวัสดิ์) สาวผู้เพียบพร้อมจากตระกูลผู้ดีเก่า แต่ความยากก็คือทั้งคู่ไม่ชอบการคลุมถุงชน ยิ่งตัวคุณพระด้วยแล้วยิ่งไม่ชอบอาชีพแม่สื่อเอาเสียเลย โนรีจึงต้องแฝงตัวตีสนิทเพื่อหลอกล่อให้คุณพระได้เจอตัวคุณวาดให้ได้ แต่ใจเจ้ากรรมดันไปรู้สึกดีๆ กับลูกค้าเองเสียนี่ นำไปสู่เรื่องวุ่นวายผสมความโรแมนติกระหว่างแม่สื่อสาวกับนายตำรวจแห่งกองโปลิศในบรรยากาศย้อนยุค
นอกจากยายแถม ในเรื่องยังมีตัวละครอื่นๆ อย่าง ยายแฟง (ต้อม-ณหทัย พิจิตรา) ถ้าใครชอบเรื่องประวัติศาสตร์คงพอจะทราบประวัติว่ายายแฟงคือเจ้าสำนักโสเภณีที่มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา และได้รวบรวมเงินจากการทำธุรกิจโสเภณีมาสร้างวัดใหม่ยายแฟงในสมัยรัชกาลที่ 3 และต่อมาในรัชกาลที่ 5 ก็เปลี่ยนชื่อเป็นวัดคณิกาผลมาจนถึงปัจจุบัน โดยยายแฟงก็เป็นหนึ่งในตัวละครที่สร้างสีสันให้กับเรื่อง อีกทั้งยังใช้โลเคชันร้านถ่ายรูปของนายจิตรหรือฟรานซิส ช่างภาพรุ่นแรกของไทยในช่วงต้นเรื่องด้วย
ความสนุกอีกอย่างของเรื่องนี้คือการพูดถึงวิถีชีวิตของคนธรรมดาสมัยต้นรัตนโกสินทร์ แม้เรื่องราวจะมีเรื่องของชนชั้นสูงอยู่บ้าง แต่ตัวของยายแถมและโนรีก็คือสามัญชน ดังนั้นจริตจะก้านความบ้านๆ ฮาๆ จึงใส่เข้ามาได้แบบเต็มๆ อาจจะดูเกินเลยผู้หญิงไทยในยุคนั้นอยู่บ้าง เช่นการถูกเนื้อต้องตัวหรือเที่ยวเล่นเข้าออกตามตลาดหรือหอนางโลม แต่ด้วยบริบทความเป็นละครโรแมนติกคอเมดี้เรื่องนี้ก็พอจะเข้าใจได้ เรียกได้ว่า พระนคร ๒๔๑๐ คือเรื่องราวของความรักยุคใหม่ที่อยู่ในบรรยากาศความเป็นไทยย้อนยุคก็คงไม่ผิด
ส่วนเรื่องการดีไซน์ตัวละครก็ดูแปลกใหม่ ด้วยการสร้างโนรีให้เป็นเด็กสาวลูกครึ่งผู้มีปมเรื่องชาติกำเนิดตัวเอง และมันยิ่งง่ายที่จะใส่จริตเวอร์ๆ อย่างการพูดไทยคำอังกฤษคำ ซึ่งก็เป็นไปได้ เพราะในยุคนั้นสยามก็เริ่มเรียนรู้วัฒนธรรมตะวันตกกันบ้างแล้ว และยิ่งได้ ชาร์เลท วาศิตา มาเดบิวต์เป็นนางเอกเต็มตัวหลังจากเป็นนักแสดงเด็กมาหลายปี ก็ยิ่งทำให้โนรีมีชีวิตชีวาขึ้นมาทันที แม้จะหน้าตาไม่สวยสะกดแต่ก็มีความน่ารักสดใส ซึ่งในเรื่องนี้ชาร์เลทก็พิสูจน์แล้วว่าเธอเป็นโนรีในเวอร์ชันที่มีเสน่ห์ ทำให้ทั้งคุณพระและคนดูหลงรักได้ไม่ยาก
ส่วนบทบาทของตัวคุณพระที่ได้ของ ฌอห์ณ จินดาโชติ ก็ถือได้ว่าลงตัว โดยในละครขยับอายุของพระเอกจากชายวัย 40 ปี ให้เข้ามาใกล้กับนางเอกอีกนิด ความน่ารักกุ๊กกิ๊กจึงดูไม่ประดักประเดิด ในขณะที่ซีนอารมณ์เกี่ยวกับปมในอดีต หรือการวางทีท่าขึงขังให้สมกับเป็นตำรวจของกองโปลิศ ก็เรียกว่าทำออกมาได้อย่างพอเหมาะพอดี และเคมีของทั้งฌอห์ณและชาร์เลทก็ทำให้เราอมยิ้มได้แบบไม่รู้ตัว
นอกจากความตลกโบ๊ะบ๊ะจะจัดหนักจัดเต็มแล้ว พระนคร ๒๔๑๐ ยังเสิร์ฟเรื่องดราม่าพอเป็นกระษัย ทั้งปมเรื่องพ่อแม่ที่แท้จริงของโนรี ความตายของพ่อแม่คุณพระ และปมเรื่องครอบครัวของคุณวาดที่ยังรอเฉลย ไปพร้อมๆ ความน่ารักโรแมนติก เผลอเป็นล้มแผละในอ้อมกอดพระเอกของโนรี เรียกได้ว่าละครเรื่องนี้ช่วยให้อารมณ์ดีขึ้นมากสำหรับคืนวันพุธและพฤหัสบดีในช่วงนี้