×

เปิดแผนผัง ‘หมู่พระมหามณเฑียร’ มณฑลพิธีหลักในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

03.05.2019
  • LOADING...
หมู่พระมหามณเฑียร

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในสมัยรัตนโกสินทร์นั้น มณฑลพิธีหลักเกิดขึ้นที่ ‘หมู่พระมหามณเฑียร’ พระที่นั่งขนาดใหญ่หมู่แรกที่ถูกสร้างขึ้นในเขตพระบรมมหาราชวังครั้งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
  • ตามพระราชประเพณีนั้น กษัตริย์ที่ขึ้นครองราชย์แล้ว แต่ยังมิได้ทรงรับบรมราชาภิเษก จะไม่เสด็จบรรทมในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานอย่างเด็ดขาด
  • ารถวายน้ำอภิเษก การถวายสิริราชสมบัติ เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ เครื่องบรมราชูปโภค พระแสง ตลอดจนพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร เกิดขึ้นในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในสมัยรัตนโกสินทร์นั้นเป็นการผสมผสานระหว่างความเชื่อในศาสนาพุทธและพราหมณ์ ขั้นตอนสำคัญประกอบด้วย การถวายน้ำสรงมุรธาภิเษก การถวายน้ำอภิเษก การถวายเครื่องสิริราชกกุธภัณฑ์ และการเฉลิมพระราชมณเฑียร ซึ่งพิธีเหล่านี้เกิดขึ้นใจกลางพระบรมมหาราชวัง โดยมีมณฑลพิธีหลักเป็น ‘หมู่พระมหามณเฑียร’ พระที่นั่งขนาดใหญ่หมู่แรกที่ถูกสร้างขึ้นในเขตพระบรมมหาราชวังครั้งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

 

ถ้าเทียบกับคติมณฑลแบบพุทธที่มักจำลองภูมิจักรวาลแล้ว หมู่พระมหามณเฑียรเปรียบได้กับเขาไกรลาศใจกลางจักรวาล อันเป็นที่ประทับของเทพ แต่เดิมหมู่พระมหามณเฑียรประกอบด้วยพระที่นั่ง 3 องค์ เรียกว่า ‘พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน’ ต่อมาในสมัยพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามพระที่นั่ง 3 องค์เสียใหม่ ให้มีความคล้องจองกัน ได้แก่ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระที่นั่งไพศาลทักษิณ และพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน โดยพระที่นั่งแต่ละองค์มีความสำคัญในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ดังนี้

 

หมู่พระมหามณเฑียร

หมู่พระมหามณเฑียร

 

พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน

ในขั้นตอนของพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรนั้น พระที่นั่งองค์สำคัญที่จะถูกพูดถึงคือ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน อันหมายความถึง วิมานที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงเป็นพระมหาจักรพรรดิราช ด้านในประกอบด้วย 3 ห้อง คือ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานกลาง พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานตะวันออก และพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานตะวันตก โดยภายในพระที่นั่งองค์ตะวันออกประดิษฐานพระแท่นราชบรรจถรณ์ หรือก็คือ พระแท่นบรรทม ส่วนพระที่นั่งองค์ตะวันตกประดิษฐานเครื่องเบญราชกกุธภัณฑ์ เครื่องราชูปโภค และพระแสงศัตราวุธ

 

ตามพระราชประเพณีนั้น กษัตริย์ที่ขึ้นครองราชแล้ว แต่ยังมิได้ทรงรับบรมราชาภิเษก จะไม่เสด็จบรรทมในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานแห่งนี้ พร้อมกันนั้น ต้องจัดให้มีพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร หรือก็คือ การขึ้นบ้านใหม่เสียก่อน เพื่อให้กษัตริย์ประทับแรม ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานอย่างน้อย 1 คืน ให้เป็นมงคลฤกษ์แก่รัชกาลใหม่

 

หมู่พระมหามณเฑียร

พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน

 

พระที่นั่งไพศาลทักษิณ

ด้วยเป็นพระที่นั่งขนาดใหญ่ที่มีถึง 11 ห้อง ทำให้เดิมทีพระที่นั่งไพศาลทักษิณได้รับการเรียกขานว่า พระที่นั่ง 11 ห้อง ด้านในเหนือช่วงหน้าต่าง ประตูงดงามด้วยจิตรกรรมฝาผนังรูปสวรรค์ชั้นดาวดึงอันเป็นที่สถิตของพระอินทร์ ภาพจิตรกรรมระหว่างช่องพระบัญชร หรือช่องประตูเป็นรูปเทพเจ้าองค์สำคัญในศาสนาพราหมณ์ เช่น พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม หรือแม้แต่พระขันธกุมาร แน่นอนว่า ทุกพระองค์ล้วนเกี่ยวกับอำนาจการปกครอง ความสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารในแผ่นดิน ทั้งหมดสอดคล้องกับคติความเชื่อที่ว่า พระมหากษัตริย์คือ องค์สมมติเทพ

 

หมู่พระมหามณเฑียร

พระที่นั่งไพศาลทักษิณ

 

สำหรับความหมายของชื่อ ไพศาลทักษิณ สื่อถึงชมทูทวีปอันกว้างใหญ่ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของเขาพระสุเมรุ ในพระพุทธศาสนาชมพูทวีปคือ สถานที่ที่พระพุทธเจ้าและมหาบุรุษถือกำเนิดขึ้น ดังนั้น ห้องนี้จึงถูกใช้ในขั้นตอนการบรมราชาภิเษก เริ่มจากการถวายน้ำอภิเษก การถวายสิริราชสมบัติ เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ เครื่องบรมราชูปโภค พระแสง ตลอดจนพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ตอนกลางบริเวณผนังของพระที่นั่งประดิษฐานพระวิมานพระสยามเทวาทิราชที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ด้านตะวันออกประดิษฐานพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ ตั่งไม้มะเดื่อรูปแปดเหลี่ยมกางกั้นด้วยฉัตรขาว 7 ชั้น สำหรับประกอบพิธีรับน้ำอภิเษกจากผู้แทนรัฐสภา เป็นนัยถึงการถวายพระราชอำนาจในการปกครองแผ่นดินทั้ง 8 ทิศ

 

หมู่พระมหามณเฑียร

พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์

 

หมู่พระมหามณเฑียร

พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์

 

ตรงกันข้ามในฝั่งตะวันตกของพระที่นั่งประดิษฐานพระที่นั่งภัทรบิฐ บัลลังก์ที่ประทับกางกั้นด้วยฉัตร 9 ชั้น ซึ่งพระที่นั่งภัทรบิฐถาวรองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นจากเก้าอี้ไม้ทรงกงประดับลายเครื่องถมตะทองที่เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อยกลาง) น้อมเกล้าฯ ถวาย

 

เหตุการณ์สำคัญที่จะเกิดขึ้น ณ พระที่นั่งภัทรบิฐ คือ การรับถวายเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ซึ่งเป็นเครื่องหมายแห่งกษัตริย์ โดยเมื่อทรงรับพระมหาพิชัยมงกุฎน้ำหนัก 7.3 กิโลกรัมแล้ว กษัตริย์จะต้องทรงสวมพระมงกุฎ หมายถึงการทรงรับเป็นกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรสยามโดยสมบูรณ์

 

หมู่พระมหามณเฑียร

พระที่นั่งภัทรบิฐ  

 

พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน

ชื่อของพระที่นั่งองค์นี้ได้สื่อถึงความเชื่อที่ว่า กษัตริย์เปรียบดั่งสมมติเทพ นั่นคือ พระอินทร์ ผู้เป็นใหญ่เหนือเทพเทวดาทั้งปวง ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้น พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมานถูกใช้สำหรับการจุดเทียนชัยเริ่มพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และเป็นท้องพระโรงสำหรับการเสด็จออกมหาสมาคม เพื่อพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้พระบรมวงศ์ ข้าราชการ และคณะทูตานุทูตเข้าเฝ้ากราบบังคมทูลถวายพระพรชัยมงคล โดยพระที่นั่งสำคัญที่ประดิษฐานภายในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน ได้แก่ พระที่นั่งบุษบกมาลามหาจักรพรรดิพิมานประดิษฐานอยู่ด้านในสุด เป็นพระที่นั่งสำหรับเสด็จออกมหาสมาคมและรับราชทูตต่างประเทศมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ใกล้กันคือ พระแท่นมหาเศวตฉัตร อีกพระที่นั่งที่เป็นภาพจำในใจของประชาชนไทยที่เกิดขึ้นในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมานคือ พระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์

 

หมู่พระมหามณเฑียร

พระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์

 

หมู่พระมหามณเฑียร

รัชกาลที่ 7 พระที่นั่งราชยานพุดตานทอง

 

เดิมทีนั้นพระที่นั่งพุดตานใช้เป็นพระที่นั่งราชบัลลังก์เวลาเสด็จออกท้องพระโรง และประกอบคานแต่งเป็นพระที่นั่งราชยาน สำหรับเสด็จพระราชดำเนินกระบวนพยุหยาตราทางบก ทั้งนี้ ในแผ่นดินรัตนโกสินทร์มีพระที่นั่งพุดตานเพียง 3 องค์เท่านั้นคือ พระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ (ประกอบคานแต่งเป็นพระราชยานเรียก พระที่นั่งราชยานพุดตานทอง) พระที่นั่งพุดตานถม และพระที่นั่งพุดตานวังหน้า สำหรับในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนี้ พระที่นั่งพุดตานทอดอยู่เหนือพระแท่นมหาเศวตฉัตรเรียกว่า พระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ด้านข้างของพระที่นั่งทอดเครื่องราชูปโภค โดยในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้น เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ แล้วก็จะเสด็จประทับเหนือพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ และด้วยความที่พระที่นั่งองค์นี้แกะสลักจากไม้หุ้มทอง สร้างขึ้นในลักษณะบัลลังก์ที่มีความสูงและซ้อนลดหลั่นกันมา เปรียบเสมือนพระอินทร์ขณะประทับอยู่เหนือยอดเขาพระสุเมรุอันเป็นแกนใจกลางแห่งจักรวาล

 

ภาพ: THE STANDARD, ประมวลองค์ความรู้ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดย กระทรวงวัฒนธรรม

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • นิตยสารศิลปากร ปีที่ 54 ฉบับที่ 5
  • พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในสมัยรัตนโกสินทร์
  • ประมวลองค์ความรู้ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยกระทรวงวัฒนธรรม
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X