สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในกัมพูชารุนแรงหนักขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จากยอดผู้ติดเชื้อหลักสิบทะยานไปถึงวันละกว่า 900 ราย และปัจจุบันอยู่ที่ราว 400 รายต่อวัน ในขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็นเกือบ 20,000 ราย และเสียชีวิตรวม 131 ราย ทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งประสบภาวะผู้ป่วยล้น จนทางการต้องสร้างโรงพยาบาลสนามชั่วคราวเพื่อรองรับ
การแพร่ระบาดที่รุนแรงขึ้นภายในไม่กี่วัน ทำให้ทางการกัมพูชาตัดสินใจประกาศมาตรการล็อกดาวน์ในหลายพื้นที่ชุมชนของกรุงพนมเปญ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นจุดเรดโซน (Red Zone) หรือพื้นที่สีแดงที่มีการระบาดหนัก ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนเมษายน
แต่ผลที่ตามมาจากการล็อกดาวน์ ซึ่งตลาด ร้านค้าถูกสั่งปิด และห้ามประชาชนออกจากบ้านในทุกกรณี ทำให้ประชาชนไม่น้อยกำลังประสบภาวะยากลำบาก ขาดรายได้ อาหาร ยารักษาโรค หรือแม้แต่ความช่วยเหลือ
Somal Ratanak พนักงานแคชเชียร์ เป็นหนึ่งในประชาชนที่ติดอยู่ในเรดโซน เขาไม่สามารถออกจากบ้านไปทำงานได้ และตอนนี้ยังไม่แน่ใจว่าจะหาอาหารมาประทังชีวิตในแต่ละมื้อได้อย่างไร
ช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา Somal เผยว่าเขาได้รับถุงอาหารที่รัฐบาลแจก มีทั้งข้าวสาร เส้นก๋วยเตี๋ยว ซีอิ๊ว และปลากระป๋อง แต่ความช่วยเหลือเหล่านี้ไม่เพียงพอ และทำให้เขาต้องประหยัดด้วยการลดปริมาณอาหารลงให้น้อยกว่าเดิมมาก เพื่อยังชีพได้ในมื้อต่อไป
และไม่ใช่เขาเพียงคนเดียว การล็อกดาวน์ที่เข้มงวดยังทำให้ประชาชนอีกนับแสนต้องติดอยู่แต่ในบ้าน ในขณะที่เสบียงอาหารไม่มีมากพอ
สภาพในเรดโซน
จากการประเมินของศูนย์พันธมิตรแรงงานและสิทธิมนุษยชนในกัมพูชาระบุว่า มีประชาชนราว 120,000 คนที่อาศัยอยู่ในเรดโซนของกรุงพนมเปญ ซึ่งมีทั้งหมด 4 เขต และบังคับใช้มาตรการต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 19 พฤษภาคม
โดยทางการกัมพูชาเข้มงวดในการป้องกันการระบาด ถึงขั้นติดรั้วกั้นพื้นที่และจัดกำลังทหารเฝ้าระวัง ประชาชนในพื้นที่ถูกบังคับให้อยู่แต่ในบ้าน ไม่สามารถออกไปซื้อยาหรืออาหาร และหากฝ่าฝืนอาจถูกจับ ปรับเงิน หรือได้รับโทษที่รุนแรง ซึ่งหลายองค์กรช่วยเหลือแสดงความกังวลต่อการคุกคามสิทธิมนุษยชน
ขณะเดียวกัน กฎและข้อบังคับของเจ้าหน้าที่แต่ละคนที่ควบคุมการล็อกดาวน์กลับแตกต่างและไม่สอดคล้องกัน ทำให้ประชาชนในพื้นที่ไม่เข้าใจความชัดเจนว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร เจ้าหน้าที่บางคนอนุญาตให้ประชาชนออกไปซื้ออาหาร ยา และเวชภัณฑ์ได้ แต่บางคนไม่ยอมให้ออกจากบ้านในทุกกรณี
ด้านกระทรวงพาณิชย์กัมพูชาพยายามส่งความช่วยเหลือแก่ประชาชนกลุ่มนี้ โดยเพิ่มจำนวนรถบัสขายอาหารไปตามชุมชนในเรดโซน เพื่อทดแทนร้านค้าและตลาดที่ถูกปิด แต่ประชาชนบางส่วนไม่มีเงินแม้แต่จะซื้อขนมปัง เนื่องจากรายได้ที่หดหายเพราะออกไปทำงานไม่ได้ ขณะที่ราคาสินค้าและอาหารในเรดโซนยังเพิ่มสูงกว่า 20%
ทางการกัมพูชายังห้ามองค์กรนอกภาครัฐ หรือ NGO ต่างๆ เข้าไปในเรดโซน ทำให้ยากแก่การร้องขอหรือส่งความช่วยเหลือ โดย Ming Yu Hah รองผู้อำนวยการด้านแคมเปญในภูมิภาคของ Amnesty International ชี้ว่า มาตรการรับมือของรัฐบาลกัมพูชาคือปล่อยให้ประชาชนใช้ชีวิตตามยถากรรม
นโยบายช่วยเหลือของรัฐบาลยังพลิกเปลี่ยนไปมา โดยในช่วงปลายเดือนเมษายน นายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ให้สัญญาว่า ครอบครัวยากจนที่อยู่ในพื้นที่ล็อกดาวน์สามารถลงทะเบียนรับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลได้คนละ 300,000 เรียล หรือประมาณ 2,300 บาท ซึ่งอาจช่วยให้ 1 ครอบครัวมีเงินซื้ออาหารกินได้ราว 2 สัปดาห์
แต่มาตรการแจกเงินนั้นมีผลต่อประชาชนเกิน 100,000 คน ซึ่งหลังจากนั้นไม่นาน ฮุนเซนตัดสินใจเปลี่ยนแนวทางเป็นการแจกถุงอาหาร แต่ถูกวิจารณ์หนักว่ามูลค่าอาหารที่แจกมานั้นน้อยกว่าเงินช่วยเหลือ 300,000 เรียล
จากข้อมูลของรัฐบาลกัมพูชาพบว่า มีประชาชนในพื้นที่เรดโซนได้รับถุงอาหารราว 20,000 ครอบครัว ซึ่งหมายความว่ายังมีประชาชนที่ถูกล็อกดาวน์อีกจำนวนมากยังไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ จากรัฐบาล
ผลจากความไม่พอใจต่อแนวทางเยียวยาและช่วยเหลือที่ล่าช้าและไม่เพียงพอ รวมถึงภาวะขาดแคลนอาหารและรายได้ ทำให้ประชาชนใน 2 เขตเรดโซนมากกว่า 100 คน ตัดสินใจฝ่าฝืนล็อกดาวน์ออกมาชุมนุมประท้วงกลางถนนเมื่อช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งทางการได้เข้าเจรจาและนำเสบียงอาหารไปแจก ทำให้การชุมนุมสงบลง
ขณะที่ผู้ประท้วงหลายคนถูกเปิดชื่อผ่านสื่อของทางการและชี้ว่าเป็นหัวหอกจากนักการเมืองฝ่ายค้าน หลายคนพยายามเรียกร้องผ่านโซเชียลมีเดีย และถูกเตือนว่าอาจไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ แต่ภาวะความอดอยากทำให้พวกเขากลัวหิวตายมากกว่าคำขู่
“ฉันก็กลัวที่จะพูดออกไป แต่เพราะฉันไม่มีอาหาร ฉันเลยต้องประท้วง” Chhai Boramey อดีตพนักงานกาสิโนที่ติดอยู่ในเรดโซนกล่าว โดยครอบครัวของเธอ 3 คน จาก 8 คน ตกงานและยังไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ จากรัฐบาล
ทั้งนี้ ทางการกัมพูชาแบ่งมาตรการล็อกดาวน์ออกเป็น 3 สี ซึ่งนอกจากพื้นที่สีแดง ยังมีสีส้มและสีเหลือง แตกต่างกันที่ความเข้มข้นของมาตรการ แต่โดยรวมแล้วมีการปิดร้านค้าและตลาด ทำให้การเข้าถึงเสบียงอาหารของประชาชนยังเป็นเรื่องยากลำบาก
ภาพ: Andy Ball / SOPA Images / LightRocket via Getty Images
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง: