×

‘พิริยะ สัมพันธารักษ์’ มองสงครามรัสเซีย-ยูเครน อาจทำให้ Bitcoin มีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจโลกมากขึ้นในอนาคต

03.03.2022
  • LOADING...
พิริยะ สัมพันธารักษ์

ทองคำและ Bitcoin ต่างถูกมองว่าสินทรัพย์สำหรับหลบภัย หรือ Safe Haven Assets ในภาวะที่สงครามมีความเสี่ยงจะลุกลามบานปลายเช่นในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี ในขณะที่ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา แต่ดูเหมือนว่าราคา Bitcoin กลับไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน 

 

พิริยะ สัมพันธารักษ์ กรรมการบริหาร บริษัท โฉลกดอทคอม จำกัด และผู้จัดรายการ CDC Bitcoin Talk วิเคราะห์ถึงภาวะดังกล่าวในรายการ WEALTH IN DEPTH ของ THE STANDARD WEALTH ว่า การที่ Bitcoin ถูกนำไปเปรียบเทียบว่าเป็นทองคำดิจิทัลนั้น เกิดจากพื้นฐานของ Bitcoin เองที่มีอัตราการผลิตคงที่ไม่ว่าราคาในตลาดจะขึ้นหรือลง ทำให้มีความมั่นคงทางอุปทานคล้ายกับทองคำ 

 

อย่างไรก็ตาม นอกจากเรื่องความมั่นคงทางอุปทานแล้ว ทั้ง Bitcoin และทองคำแทบจะไม่มีอะไรที่คล้ายกันอีกเลย เพราะ Bitcoin มีจำนวนจำกัดและเป็นสินทรัพย์ในรูปแบบดิจิทัล

 

พิริยะระบุว่า สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่เกิดขึ้น ซึ่งระบบการเงินได้ถูกนำมาใช้เป็นอาวุธด้วยนั้น ได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของ Bitcoin ในฐานะเงินที่เป็นกลางชัดเจนขึ้น ทั้งสองฝ่ายหันมาใช้ Bitcoin มากขึ้นในยามที่ระบบการเงินของตัวเองไม่สามารถทำหน้าที่ได้เต็มที่ เช่น ยูเครนเปิดรับบริจาคเป็น Bitcoin ส่วนรัสเซียก็พิจารณาใช้ Bitcoin เป็นเครื่องมือติดต่อค้าขายในกรณีที่ถูกคว่ำบาตรจากระบบ SWIFT 

 

“แต่การใช้ Bitcoin ที่เพิ่มขึ้นไม่ได้ส่งผลให้ราคาปรับขึ้น เพราะการใช้ไม่เท่ากับการซื้อ สิ่งที่ผลักดันให้ราคาคริปโตขึ้นเร็วในช่วงก่อนหน้านี้คือแรงเก็งกำไร ซึ่งขณะนี้ Bitcoin ไม่ได้ถูกเก็งกำไร แต่คนหันมาใช้เพื่อเอาตัวรอดเพราะถอนเงินจากแบงก์ไม่ได้ รูดบัตรเครดิตไม่ได้ ซึ่งตรงข้ามกับทองคำที่ราคาขึ้น-ลงรายวัน พอมีข่าวเจรจาของผู้นำราคาก็ลง พอมีการพูดถึงนิวเคลียร์ราคาก็ขึ้น เพราะมีแรงเก็งกำไร” พิริยะกล่าว

 

กูรู Bitcoin วิเคราะห์อีกว่า การที่รัสเซียพิจารณาคลายล็อกกฎหมายให้ใช้ Bitcoin ได้ น่าจะเป็นหนึ่งในการเตรียมความพร้อมล่วงหน้าเผื่อกรณีที่ถูกคว่ำบาตรจากระบบ SWIFT ที่ควบคุมโดยชาติตะวันตก ซึ่งปัจจุบันธนาคารบางแห่งของรัสเซียก็ได้รับผลกระทบแล้ว อย่างไรก็ดี การที่รัสเซียมีระบบการเงินที่เป็นกลางอย่าง Bitcoin รองรับ ก็ไม่ได้การันตีว่าจะค้าขายได้เหมือนเดิม เพราะสุดท้ายถ้ารัสเซียทำตัวไม่น่าคบก็จะไม่มีใครอยากค้าขายด้วยอยู่ดี

 

พิริยะยังมองด้วยว่า การที่บทบาทความเป็นกลางของ Bitcoin เด่นชัดขึ้น ซึ่งบั่นทอนการควบคุมระบบการเงินผ่านเงินดอลลาร์ของสหรัฐฯ อาจส่งผลให้สหรัฐฯ ต้องทำอะไรบางอย่างกับคริปโตในอนาคต โดยหนึ่งในนั้นอาจจะเป็นการออกเหรียญดิจิทัลของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่มีการศึกษาและทดลองอยู่

 

“ในอนาคตทองคำจะยังเป็น Reserve Asset ที่สำคัญ เพราะเป็นโลหะที่เก็บได้ จับต้องได้ ขณะที่ Bitcoin น่าจะเข้าไปแทนที่ตลาดเงินมากกว่า เหมือนที่จุดหนึ่งในอดีตทองคำเคยเป็นสกุลเงินหลักของโลกก่อนจะพ่ายแพ้ต่อเงิน Fiat ซึ่งผมมองว่าในอนาคต Bitcoin จะมาแย่งตำแหน่งนี้แทนเงิน Fiat หากมองย้อนกลับไป 10 ปี จะเห็นว่า Bitcoin ยังแทบไม่เป็นที่รู้จัก แต่ตอนนี้ Bitcoin เข้ามาอยู่ในโลกของ Geopolitics และ Macro Economics แล้ว และบทบาทของมันจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ” พิริยะกล่าว

 

สำหรับทิศทางราคาของ Bitcoin ในช่วงนี้ พิริยะกล่าวว่า ถือเป็นช่วงที่มองยาก เพราะมีทั้งคนที่มองว่า Bitcoin อาจจะเข้าสู่ฤดูหนาวแล้วก็ได้ แต่คนบางส่วนก็มองว่าการเกิดวิกฤตใหญ่อย่างเช่นสงคราม ซึ่งทำให้คนมองเห็นประโยชน์ของ Bitcoin มากขึ้น ก็อาจทำให้ราคาขึ้นได้เช่นกัน จึงอยากแนะนำให้นักลงทุนเผื่อใจไว้ สำหรับมือใหม่ก็อาจทดลองครอบครองไว้บ้าง ค่อยๆ ทำความรู้จักกับมัน ขณะที่การลงทุนใน Altcoin อาจเปรียบได้กับการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีความเสี่ยงสูง แต่ถ้าเลือกถูกตัวก็มีโอกาสได้ผลตอบแทนสูงเช่นกัน 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X