กระทรวงกลาโหมฟิลิปปินส์ประกาศอนุญาตให้สหรัฐอเมริกาเข้าถึงและใช้งานฐานทัพของฟิลิปปินส์ได้มากขึ้น เพื่อรับมือกับการแผ่ขยายอิทธิพลของจีน รวมถึงกรณีข้อพิพาทในการอ้างสิทธิเหนือเกาะและการแบ่งเขตทางทะเลในทะเลจีนใต้ และความตึงเครียดในประเด็นไต้หวัน
โดยวานนี้ (2 กุมภาพันธ์) ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ และ คาร์ลิโต กัลเวซ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของฟิลิปปินส์ กล่าวในการแถลงข่าวร่วมกันว่า สหรัฐฯ จะได้รับสิทธิในการเข้าถึงพื้นที่เพิ่มอีก 4 แห่ง ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศที่ปรับปรุงใหม่ (EDCA) ที่ลงนามเมื่อปี 2014 ซึ่งอนุญาตให้สหรัฐฯ เข้าถึงฐานทัพของฟิลิปปินส์เพื่อการฝึกร่วมกัน การวางตำแหน่งยุทโธปกรณ์ล่วงหน้า และการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น รันเวย์สำหรับเครื่องบินทางทหาร ที่เก็บเชื้อเพลิง และที่พักของทหาร แต่ไม่ใช่การประจำการอย่างถาวร
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้น ขณะที่ออสตินได้เดินทางมายังฟิลิปปินส์เพื่อพูดคุยกับรัฐบาล ในช่วงเวลาที่สหรัฐฯ พยายามเดินหน้ายกระดับความมั่นคงในฟิลิปปินส์ เพื่อรับมือกับการที่จีนอาจใช้กลยุทธ์กดดันหรือบุกเข้าโจมตีไต้หวัน โดยออสตินกล่าวว่า การตัดสินใจของฟิลิปปินส์ในครั้งนี้ถือว่ามีความสำคัญมาก พร้อมแสดงความมุ่งมั่นที่จะกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองดินแดน
“การเป็นพันธมิตรของเราทำให้ทั้งสองประเทศประชาธิปไตยมีความปลอดภัยมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยสนับสนุนแนวคิดอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง” ออสตินกล่าว “เราได้หารือถึงการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมเพื่อจัดการกับกิจกรรมที่บ่อนทำลายความมั่นคงในน่านน้ำรอบๆ ฟิลิปปินส์ รวมถึงทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตก และเรายังคงมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างขีดความสามารถร่วมกันในการต่อต้านการโจมตีด้วยอาวุธ
“นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความพยายามของเราในการยกระดับการเป็นพันธมิตร และความพยายามเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากสาธารณรัฐประชาชนจีนยังคงรุกล้ำและอ้างสิทธิอย่างผิดกฎหมายในทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตก” ออสตินกล่าวเสริม โดยพูดถึงจีนโดยตรง
อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์ของทั้งสองชาติไม่ได้ระบุว่าพื้นที่ 4 แห่งที่เพิ่มเติมเข้ามานั้นคือที่ใดบ้าง ขณะที่อดีตผู้บัญชาการกองทัพฟิลิปปินส์กล่าวว่า สหรัฐฯ ได้ขอเข้าถึงฐานทัพทางตอนเหนือของเกาะลูซอน ซึ่งเป็นส่วนที่ดินแดนของฟิลิปปินส์ใกล้กับไต้หวันมากที่สุด และบนเกาะปาลาวัน ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับหมู่เกาะสแปรตลีย์ในทะเลจีนใต้ที่ตกเป็นข้อพิพาทด้วย
ภาพ: Joeal Calupitan / POOL / AFP via Getty Images
อ้างอิง: