×

เพื่อไทยชี้ กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญพบอุปสรรค เห็นควรยื่นศาลตีความให้ชัดเจน ย้ำตั้งใจเดินหน้าแก้ให้สำเร็จ

โดย THE STANDARD TEAM
13.02.2025
  • LOADING...

วันนี้ (13 กุมภาพันธ์) พรรคเพื่อไทย นำโดย สุทิน คลังแสง สส. แบบบัญชีรายชื่อ, ชูศักดิ์ ศิรินิล สส. แบบบัญชีรายชื่อ แถลงข่าวภายหลังที่ประชุมรัฐสภา ในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .… (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1) ล่ม เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ

 

สุทินกล่าวว่า ขอเรียนให้ทราบถึงสถานการณ์ตามความเป็นจริงของพรรคเพื่อไทย ยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยมีเจตนาในการแก้รัฐธรรมนูญให้ได้ความสำเร็จ และต้องแก้ให้ได้ ด้วยความมุ่งหวังต่อความสำเร็จ ไม่ใช่เพียงให้ได้แก้ หลังจากที่เราพยามยื่นมาหลายรอบทั้งสมัยประชุมที่แล้วและครั้งนี้ แต่ความคลุมเครือและปัญหาที่มีมาตลอดคือการจะบรรจุวาระหรือไม่

 

“จนกระทั่งวันนี้ร่างกฎหมายเข้าสู่สภาแล้ว เราก็พยายามที่จะประสานงานทุกฝ่าย ทั้งพรรคร่วม และ สว. เพื่อให้เกิดความเป็นไปได้ แต่จากการประเมินแล้วพบว่าโอกาสที่จะผ่านยาก และโอกาสที่จะตกสูง ซึ่งโอกาสผ่านแทบไม่มี” สุทินกล่าว

 

สุทินกล่าวต่อไปว่า เราจึงหาแนวทางว่าจะเสนอพิจารณาแล้วถูกโหวตให้ตกไปหรือไม่ ซึ่งถ้าทำแบบนี้ก็รู้แล้วว่าความล้มเหลวรออยู่ เราจึงแสวงหาความเป็นไปได้ คือการให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างกฎหมายนี้ก่อน ซึ่งร่างยังคงอยู่ในสภาต่อไป หากคำวินิจฉัยเป็นคุณ ก็หมายความว่าเรามีโอกาสชนะเกินครึ่ง แต่ถ้าไม่เป็นคุณก็จะได้ชัดเจนสักทีว่าแก้ไม่ได้ เพราะตอนนี้สมาชิกหลายคนกังวลว่าต้องทำประชามติกี่รอบ หากพิจารณาแล้วจะถูกตัดสิทธิหรือไม่

 

“เพราะมีสมาชิกไม่น้อยที่ไม่มั่นใจในสถานะหากอยู่ประชุม เพราะฉะนั้นทางที่ดีที่สุดคือยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความ เมื่อศาลวินิจฉัยแล้วความหวังเรายังมี“ สุทินกล่าว

 

สุทินย้ำว่า วันนี้เราจึงสนับสนุนญัตติของ นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่ขอให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งวันนี้แม้องค์ประชุมไม่ครบ แต่ก็ถือว่าเราได้ตั้งหลักเพื่อที่จะกลับมาสู้อีกครั้ง ดีกว่าพิจารณาวันนี้และไปตายเอาข้างหน้า แบบนี้เราไม่ทำ เราคิดว่าจะทำอย่างไรให้ร่างอยู่ต่อไปในสภา ซึ่งสมาชิกบางท่านอาจจะมองว่าเรามีเจตนาอะไรแน่ เราจึงต้องบอกให้ชัดเจนในการผลักดันให้สำเร็จ

 

“ถ้าเดินทางตรงไม่ได้ก็ขอเดินทางโค้ง หากทางโค้งแล้วไม่สำเร็จก็ขอหยุดการเดินทางไว้ก่อนดีกว่า ดีกว่าเดินไปแล้วตกเหว” สุทินระบุ

 

ส่วนการประชุมพรุ่งนี้ (14 กุมภาพันธ์) สุทินคาดว่าจะมีการประชุม แต่องค์ประชุมจะครบหรือไม่ต้องดูอีกที และไม่แน่ใจว่าจะล่มหรือไม่ แต่พอเห็นทางชนะในสภาได้แล้วต้องไปต่อสู้กันในสภา และเชื่อว่าประชาชนจะมองจุดยืนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ไม่แก้เลย หรือพรรคภูมิใจไทย และ สว. ส่วนหนึ่ง

 

กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มที่แสดงตัวว่าจะแก้ แต่คำถามคือจะแก้จริงหรือไม่ จะดันต่อไปทั้งๆ ที่รู้ว่าจะตกหรือไม่ ซึ่งประชาชนจะรู้ว่าแก้เพื่อหวังผลสำเร็จหรือไม่ และส่วนของเราพรรคเพื่อไทยที่เดินเต็มที่ แต่เมื่อเจออุปสรรคก็ชะลอเพื่อหาทางสู้ใหม่ และประชาชนก็จะมองออกว่าใครอยากจะแก้จริง 

 

“บางพรรคบอกว่าได้แก้แล้วนะ แต่ของเราแก้ได้แล้วนะ เราอยากพูดคำนี้มากกว่า” สุทินกล่าว

 

จำเป็นต้องถามศาลให้กระบวนการชัดเจน

 

ด้านชูศักดิ์กล่าวว่า เท่าที่วิเคราะห์ในการแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ ไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มี 2 ร่างขณะนี้ ซึ่งแนวโน้มก็คงจะไม่ผ่านมติของรัฐสภา หรือได้เสียงเห็นชอบจาก สว. ไม่ถึง 67 เสียง โดยพวกเราก็มานั่งวิเคราะห์สาเหตุที่ไม่ผ่าน คือการที่ประธานรัฐสภาสั่งบรรจุระเบียบวาระในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเข้ามาไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะอ้างอิงไปที่คำวินิจฉัยปี 2564 ที่จะยังบรรจุไม่ได้ จนกว่าจะมีการทำประชามติ 

 

“เมื่อเกิดประเด็นวิตกกังวลเช่นนี้ เราจึงตั้งแนวทางว่า ควรสอบถามกันให้ชัดเจนว่าท้ายที่สุดการบรรจุระเบียบวาระเช่นนี้ ที่จะนำไปสู่การทำประชามติชอบด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ จึงสนับสนุนญัตติของ นพ.เปรมศักดิ์ โดยหวังว่าหากศาลตอบมาในทางที่เป็นคุณ ก็สามารถเดินหน้าต่อไปได้”

 

ส่วนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 คิดว่า ถ้าเราพิจารณากันต่อไปพี่น้องประชาชนก็ทราบดีอยู่แล้วว่าจะนำไปสู่การทำให้ญัตติตก แล้วจะต้องเริ่มต้นใหม่ ปัญหาก็จะคาราคาซังอีก ซึ่งการที่ทำวันนี้เพราะเจตนาที่จะแก้ไขเพิ่มเติมให้ร่างรัฐธรรมนูญอยู่ในสภาฯ และจะทำอย่างไรต่อไปเพื่อให้การจัดทำธรรมนูญประสบความสำเร็จให้ได้ โดยย้ำว่าพรรคเพื่อไทยไม่มีเจตนาที่จะเตะถ่วง และเรามีเจตนาเต็มที่ที่จะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และมีความพยายามจะทำแบบนี้มาตลอด

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ฐานะพรรคเพื่อไทยที่เป็นคนกลางจะแก้ปัญหาอย่างไร ชูศักดิ์กล่าวว่า เราก็อยากจะแก้ปัญหานี้ให้ได้ว่าที่เขาไม่ยอมให้มันผ่านไปได้เพราะอะไร เพราะปัญหาไม่ใช่อยากจะให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ แต่ปัญหานั้นบอกถึงกระบวนการและวิธีการ จึงต้องถามเพื่อให้กระบวนการชัดเจน เราจึงสนับสนุนญัตติทั้งหลายเพื่อให้ส่งไปที่ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสะสางปัญหา

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising