วันนี้ (16 มิถุนายน) ในการเสวนาหัวข้อ ‘แก้รัฐธรรมนูญ แก้วิกฤตประเทศ?’ ชัยเกษม นิติสิริ ประธานคณะกรรมการการเมือง พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า 4 เหตุผลที่ต้องแก้รัฐธรรมนูญปี 2560 คือ
1. ที่มาของรัฐธรรมนูญมาจากคณะรัฐประหาร ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม แม้จะมีการทำประชามติแต่เป็นการจัดทำภายใต้เงาของคณะรัฐประหาร ผู้มีความเห็นต่างในการรณรงค์ไม่รับร่างฯ ถูกจับติดคุก ถูกปรับทัศนคติ จึงเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้มาจากประชาชนอย่างแท้จริง จึงควรจะแก้ไขให้ถูกต้อง โดยประชาชนควรจะได้มีสิทธิและมีส่วนร่วมในการแก้ไข
2. ระบบการเลือกตั้งเป็นระบบบัตรใบเดียว โดยใช้วิธีคำนวณแบบปัดเศษจนเกิดปัญหามากมาย เกิดพรรคเล็กพรรคน้อย ดังนั้นหากแก้ไขกลับไปเป็นบัตรเลือกตั้งสองใบ คือ เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ ให้อำนาจประชาชนสูงสุดในการตัดสินใจเลือกใครเป็นผู้แทนราษฎรและเลือกพรรคใดมาเป็นรัฐบาล
3. สืบทอดอำนาจผ่านตัวแทนคณะรัฐประหารที่ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีและพิจารณากฎหมายสำคัญที่กลายเป็นอุปสรรค คือกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่บังคับให้ทุกคนเดินตาม
4. สิทธิเสรีภาพของประชาชน รัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้สิทธิเสรีภาพอย่างมีเงื่อนไขและไม่ชัดเจน โดยอ้างว่าให้เป็นไปตามกฎหมาย ไม่ได้ตรงไปตรงมา จึงเห็นว่ามีคนถูกกฎหมายละเมิดสิทธิต่างๆ มากมาย
5. รัฐธรรมนูญแก้ไขยาก ต้องใช้เสียง ส.ว. ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมาเป็นตัวตั้ง แต่ ส.ว. มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร จึงแน่นอนว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่สำเร็จได้โดยง่ายหาก ส.ว. ไม่เห็นชอบ
ด้วยเหตุผลทั้งหมดจึงเป็นเหตุผลที่ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ง่ายขึ้น วิธีง่ายสุดคือ ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากประชาชน ประชาชนเป็นคนจัดทำร่าง ประชาชนให้ความเห็นชอบ และมีประชาชนยอมรับในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงเป็นรัฐธรรมนูญประชาชนอย่างแท้จริง
ด้าน ชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถือเป็นวิกฤตของชาติ สร้างปัญหาให้กับประชาชนและประเทศชาติ พร้อมย้ำว่า ตราบใดที่ประเทศยังอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญแบบนี้ เราจะได้รัฐบาลแบบนี้และได้ความรับผิดชอบของผู้นำรัฐบาลเพียงเท่านี้
ชูศักดิ์ระบุว่า ที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาจากการรัฐประหาร โดยมีการตั้งคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญและมีบทบัญญัติมากมายหลายประการที่ผิดเพี้ยนไปจากครรลองประชาธิปไตย เช่น ในอดีตการเลือกนายกรัฐมนตรีต้องเลือกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) กลับแก้ไขให้เลือกนายกรัฐมนตรีคนนอกได้ ไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. และยังไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง รวมทั้งแก้ไขจากบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เป็นใบเดียว โดยมีเจตนาเพื่อลดทอนจำนวน ส.ส. พรรคการเมืองขนาดใหญ่ นำระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมมาใช้ในการคิดคำนวณจำนวน ส.ส. คะแนนน้อยไม่ถึงเกณฑ์ มีการคิดค้นสูตรเพื่อให้มี ส.ส. ปัดเศษเข้าสู่สภา ระบบนี้จึงมีเจตนาเพียงทำให้พรรคใหญ่มี ส.ส. ลดลง พรรคใหญ่มีปัญหาอยู่ได้โดยพรรคเล็กสนับสนุน จึงทำให้เกิดกรณี ส.ส. แจกกล้วย เป็นต้น
“ปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือการได้มาซึ่ง ส.ว. จากบทเฉพาะกาล โดยมาตรา 269 ให้มีกรรมการสรรหา ส.ว. ต้องมาจากผู้ทรงคุณวุฒิและเป็นกลางทางการเมืองสรรหา ส.ว. ให้ได้ 250 คน ซึ่งบุคคลนั้นคือ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ทำให้ประเทศไทยได้ ส.ว. ที่มาจากอดีต คสช. อดีตนายทหาร เมื่อเลือกนายกรัฐมนตรี 99.99% เลือก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหารมาเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่ง ส.ว. ตามบทเฉพาะกาลนี้มีอายุ 5 ปี ทำให้ ส.ว. ชุดนี้เลือกนายกรัฐมนตรีได้ 2 ครั้ง ประชาชนจึงได้เห็นภาพอเนจอนาถเมื่อ พล.อ. ประยุทธ์ ถาม ส.ว. ในที่ประชุมวุฒิสภาว่า มีใครไม่เชื่อมั่นนายกฯ ให้ยกมือ ซึ่งไม่มีใครยกมือแม้แต่คนเดียว นอกจากจะทำตัวเป็นครู เป็นหัวหน้า ยังทำผิดข้อบังคับชัดเจนในการประชุมสภาอีกด้วย” ชูศักดิ์กล่าว
ชูศักดิ์ยืนยันด้วยว่า แม้รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะแก้ไขยากและมีความมุ่งหวังต้องการให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับอมตะ แต่พรรคเพื่อไทยยืนยันที่จะเดินหน้าทุกกระบวนการ แม้จะต้องพบเจอกับอุปสรรคตั้งแต่การพิจารณาเพื่อเข้าสู่วาระที่ 1 ซึ่งจะต้องมีเสียงวุฒิสภาชิกไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ ส.ว. อย่างน้อย 84 คน เห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ซึ่ง ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ย่อมไม่มีทางให้ผ่านวาระนี้ไปได้ ต่อมาจึงได้เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ทั้งที่แก้ไขได้ยากกว่า แต่พรรคเพื่อไทยยืนยันในหลักการและนโยบายมาตลอดว่าเราจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 โดยยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วย โดยให้มี สสร. ที่มาจากประชาชน เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน ซึ่งได้ผ่านวาระ 2 แล้ว และกำลังจะลงมติในวาระ 3 ศาลรัฐธรรมนูญกลับมีคำวินิจฉัยว่าจะต้องถามประชาชนก่อนว่าจะยินยอมให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ซึ่งได้เกิดการตีความที่หลากหลายออกไป ทั้งนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับโดยมี สสร. ถือเป็นกระบวนการที่สำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศได้ พรรคเพื่อไทยยืนยันว่าจะต้องทำทุกทาง ทั้งร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ รวมถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับด้วย
นอกจากนี้กรณีที่หลายฝ่ายประเมินว่าหากเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง มีการยุบสภาในขณะที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่เกิดขึ้น ประเทศไทยจะกลับเข้าสู่กระบวนการเดิมคือ กลับไปเลือกตั้งด้วยบัตรใบเดียว ภายใต้ระบบจัดสรรปันส่วน ส.ว. แต่งตั้งเลือกนายกรัฐมนตรี ในรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมของเพื่อไทยจึงเสนอให้นำระบบเลือกตั้งบัตร 2 ใบมาใช้อีกครั้ง เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ รวมทั้งแก้ไขที่มานายกรัฐมนตรีให้ผ่านกระบวนการในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ไม่ใช่สมาชิกวุฒิสภาเหมือนที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ยังแก้ไขในการเพิ่มสิทธิเสรีภาพประชาชนให้รวมอยู่ในกติการะหว่างประเทศ เพื่อคุ้มครองสิทธิประชาชนและผู้มีความเห็นที่หลากหลายทางการเมือง โดยเฉพาะสิทธิในการประกันตัวที่ทุกคนต้องได้รับตราบใดที่ศาลยังไม่พิพากษาว่ามีความผิด รวมทั้งต่อต้านโดยสันติวิธีไม่ให้มีการกระทำรัฐประหาร ไม่ให้ศาลหรือองค์กรอื่นใดยอมรับ การทำรัฐประหารมีความผิดและไม่มีอายุความ ไม่มีนิรโทษกรรม อีกทั้งเพิ่มบทบัญญัติให้สามารถตรวจสอบศาลหรือองค์กรอิสระได้
ด้าน สุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน ส.ส. มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ต้องยอมรับความจริงว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญคือเกมการชิงจังหวะและโอกาส ในวันนี้พรรคเพื่อไทยกำลังจะยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว วันนี้กำลังจะเริ่มต้นใหม่ มีเกมที่เต็มไปด้วยการสับขาหลอก จึงขอเรียกร้องพรรคร่วมฝ่ายค้านต้องทันเกม เพราะเมื่อย้อนไปดูสองเดือนที่แล้วที่ร่างฯ ตก เราต้องมีบทเรียนว่าพรรคพลังประชารัฐชิงยื่นแก้ไขร่างฯ ก่อน ทั้งที่ฝ่ายค้านอยากแก้มาโดยตลอด ขอยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยมีกลยุทธ์การขับเคลื่อนสู่เป้าหมายบนหลักการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อกำจัดจุดอ่อนทางการเมือง เพื่อให้พี่น้องได้ประโยชน์ถึงปากท้องและทำในสิ่งที่เป็นไปได้
จากบทเรียนการผลักดันเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมามองว่า ประเด็นการใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ของพรรคพลังประชารัฐ เป็นเกมสับขาหลอกของรัฐบาล นอกจากทำให้พรรคร่วมฝ่ายค้านทะเลาะกันแล้ว พรรคร่วมฝ่ายรัฐบาลยังระส่ำระสายด้วย สุดท้ายเมื่อเข้าสภากลายเป็นพรรคฝ่ายรัฐบาลมีเหตุผล สร้างความชอบธรรมให้คว่ำทิ้ง เพราะอ้างว่าไม่มีฝ่ายใดสนับสนุน สรุปไม่ได้แก้รัฐธรรมนูญ ใช้ระบบบัตรใบเดียวแบบเดิม พร้อมย้ำว่า มาตราที่จะต่ออำนาจให้ พล.อ. ประยุทธ์อย่างแท้จริงไม่ใช่เรื่องระบบเลือกตั้ง แต่คือมาตรา 272 เรื่องอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรีที่จะมาต่ออำนาจให้ พล.อ. ประยุทธ์ ซึ่งทั้งหมดเป็นการสืบทอดอำนาจที่แท้จริง จุดนี้เราต้องล้มให้ได้ เพราะเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกัน
“ขอขีดเส้นใต้สามเส้นเลยว่าเรื่องบัตรเลือกตั้งสองใบนั้นเราตกผลึกมานานแล้ว ไม่ได้เปลี่ยนแปลง พปชร. ต่างหากที่ทำเหมือนเราฉกเอาของเราไปยื่นก่อน ทำไมเราต้องทิ้งของดีของเรา จึงต้องขอความเป็นธรรมด้วย เรายื่นตามจุดยืนเดิม” สุทินกล่าว
พิสูจน์อักษร: นัฐฐา สอนกลิ่น