วันนี้ (28 สิงหาคม) สรวงศ์ เทียนทอง สส. สระแก้ว พรรคเพื่อไทย ในฐานะเลขาธิการพรรค พร้อมด้วย เดชอิศม์ ขาวทอง สส. สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะเลขาธิการพรรค ให้สัมภาษณ์พร้อมยื่นหนังสือเทียบเชิญพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลว่า มีการพูดคุยกันตั้งแต่เมื่อคืน และมีมติพรรคเพื่อไทยออกมา จึงได้ประสานไปยังหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และได้เรียนเชิญเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ให้ยื่นหนังสืออย่างเป็นทางการเพื่อเทียบเชิญพรรคประชาธิปัตย์เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารประเทศและเป็นรัฐบาลร่วมกัน
ส่วนโควตารัฐมนตรี สรวงศ์ระบุว่า ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ตัดสินใจและเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีในการเสนอชื่อเพื่อเป็นรัฐมนตรี และมั่นใจว่าในสภาผู้แทนราษฎรมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน ขอให้อดีตก็เป็นเรื่องของอดีต เรื่องที่ผ่านไปแล้วก็ให้ผ่านไปแล้ว ประเทศต้องเดินหน้าต่อ และทั้งสองพรรคก็เป็นพรรคการเมืองที่ร่วมต่อสู้กันมา ตอนนี้เป็นคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาดูแลพรรค อุดมการณ์ทางการเมืองก็ส่วนอุดมการณ์ ส่วนแนวทางการทำงานก็ไปด้วยกันได้
“อันที่จริงแล้วอย่างที่เคยพูดถึงกันตลอด อุดมการณ์ทางการเมืองอาจไม่เคยเหมือนกันเลย แต่ ณ วันนี้ถ้าคนรุ่นใหม่เข้ามาบริหารพรรค ทั้งหัวหน้าพรรคสองฝ่าย เลขาธิการพรรค หรือสมาชิกพรรคทุกคน มุ่งหน้าในทางเดียวกัน คือพี่น้องประชาชนต้องได้รับการแก้ไขให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น สิ่งที่เห็นตรงกันคือประเทศชาติถอยหลังไปหลายปีเลยทีเดียว ถึงเวลาแล้วที่ต้องเดินหน้าร่วมกัน อะไรที่เป็นความไม่เข้าใจกันหรือความขัดแย้งกันขอให้ทิ้งไว้ข้างหลังดีกว่า” สรวงศ์กล่าว
ทั้งนี้ได้พูดคุยกันกับกลุ่มพี่น้องคนเสื้อแดง ซึ่งมีความคิดเห็นที่ตรงกันและเป็นประโยชน์แก่ประชาชน เชื่อว่าทุกคนเข้าใจได้
มีแต่ความรักและให้อภัย
ด้านเดชอิศม์กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณพรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคแกนนำ ที่ไว้วางใจพรรคประชาธิปัตย์และเทียบเชิญเป็นพรรคร่วมรัฐบาลและร่วมมือกันบริหารประเทศ พรรคประชาธิปัตย์ต้องนำเทียบเชิญเข้าสู่ที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคและ สส. ในวันพรุ่งนี้ (29 สิงหาคม)
เดชอิศม์กล่าวต่อว่า วันนี้พรรคประชาธิปัตย์ไม่มีความขัดแย้งใดๆ ทั้งสิ้น มีแต่ความรักความเข้าใจและการให้อภัยกับพรรคเพื่อไทย ส่วนการพูดคุยกับโหวตเตอร์ของพรรคประชาธิปัตย์นั้น ต้องเข้าใจว่าเหตุการณ์เมื่อ 20 ปีที่แล้วกับวันนี้ สถานการณ์ทางการเมืองไม่เหมือนกัน ปัญหาของประเทศก็ไม่เหมือนกัน รวมถึงแนวคิดในการพัฒนาประเทศก็ไม่เหมือนกัน ดังนั้นเมื่อถึงเวลาที่ทั้งสองพรรคเข้ากันได้และเดินหน้าไปด้วยกันถือเป็นสิ่งที่ดีงาม
เดชอิศม์ยังระบุถึงกรณี ชวน หลีกภัย และ บัญญัติ บรรทัดฐาน แกนนำของพรรคอีกกลุ่มหนึ่ง ออกมาคัดค้านว่า พรรคประชาธิปัตย์มีทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย มีฝ่ายจะที่ร่วมรัฐบาลและไม่ร่วม แต่เมื่อผ่านประชามติของพรรค ทุกคนก็ต้องปฏิบัติตาม ขณะที่ สส. เขตส่วนใหญ่ลงพื้นที่สอบถามประชาชนก็ให้ความสนใจ อยากให้พรรคเข้าร่วมรัฐบาล
เดชอิศม์ยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่พรรคสำรองในการเข้าร่วมรัฐบาล เพราะในการลงมติให้เศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรีมีสมาชิก 16 คนโหวตเห็นชอบ ซึ่งเวลานั้นพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ได้ร่วมรัฐบาล และเหตุการณ์ในขณะนั้นกับวันนี้ก็ไม่เหมือนกัน พรรคต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์บ้านเมือง และย้ำว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการผลักพรรคพลังประชารัฐออกจากพรรคร่วม เหตุผลที่พรรคพลังประชารัฐออกไม่เกี่ยวข้องกับพรรคประชาธิปัตย์
ให้นายกฯ ตัดสิน นั่ง รมต. กระทรวงไหน
ส่วนโควตารัฐมนตรีขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีว่าจะให้พรรคประชาธิปัตย์นั่งกระทรวงไหน เพราะวันนี้ไม่อยากก้าวล่วงไปถึงอำนาจนายกรัฐมนตรี ไม่กังวลเรื่องการตรวจสอบคุณสมบัติรัฐมนตรี
ส่วนที่ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐออกมาระบุว่า พรรคเพื่อไทยตระบัดสัตย์ และไม่หารือกับพรรคพลังประชารัฐก่อนการร่วมโหวตนายกฯ สรวงศ์กล่าวต่อว่า “เอาที่สบายใจเลยครับ” แต่ทุกสิ่งทุกอย่างต้องดูที่ผลงาน การทำงานต่อจากนี้ไปอีก 3 ปี ภายใต้การนำของแพทองธาร ขอโอกาสให้นายกฯ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ทำงาน หากมีอะไรที่ทำผิดหรือไม่ดีก็ขอให้ร้อง แต่ผลงานจะพิสูจน์ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร
เมื่อถามว่าจะเทียบเชิญคนในกลุ่ม ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า หรือไม่ สรวงศ์กล่าวว่า มีการคุยกัน แต่เราให้เกียรติทุกพรรคการเมือง หากมีโอกาสเทียบเชิญพรรคอื่นหรือบุคคลอื่นก็จะทำ ส่วนจะเทียบเชิญพรรคไทยสร้างไทยที่เคยโหวตให้แพทองธารหรือไม่นั้น ยังไม่ได้พูดคุยกัน แต่คงต้องมี