ไม่แน่ใจว่าควรจะเรียกสิ่งนี้ว่าความโชคร้าย หรือโชคดี ที่สถานะเมืองผ่านไปยังชายหาดยอดนิยมอย่างชะอำและหัวหิน ทำให้ตัวเมืองเก่าเพชรบุรีซึ่งมีแม่น้ำตัดผ่านใจกลาง กลายเป็นเมืองที่ความเปลี่ยนแปลงถือโอกาสข้ามผ่านไปด้วยเช่นกัน ซึ่งนั่นส่งผลให้ชุมชนริมแม่น้ำเพชรบุรียังคงมีเรื่องราวแต่เก่าก่อนตกทอดมาสู่ลูกหลาน ในรูปแบบที่ไม่ใช่เพียงตำนานหรือเรื่องเก่ามาเล่าใหม่ ตรงกันข้ามเพชรบุรีกลับรุ่มรวยไปด้วยศิลปวัฒนธรรมที่ตกทอดมาจากอยุธยาตอนปลาย
ผนวกความประณีตจากรั้ววังที่มาพร้อมการสร้างพระราชวังฤดูร้อน และพระราชวังฤดูฝน ใส่กลิ่นอายของสังคมเกษตรกรรมลงไปอีกนิด กลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่จุดประกายให้เกิดเส้นทางท่องเที่ยวสายท้องถิ่นตามมา ส่วนใครที่เพิ่งเริ่มต้นทำความรู้จักกับจังหวะจะโคนของชาวเมืองเพชรฯ แนะนำให้โบกสองแถวเล็ก หรือ รถเล้ง ประจำถิ่น แล้วปักหมุดตามพิกัดเพชรบุรีในวิถีโลคัล
พิกัด 1: เส้นสายลายปูนปั้น
เพชรบุรีในวิถีท้องถิ่นนั้นมีหัวใจอยู่ที่ตัวเมืองเก่าริมแม่น้ำเพชรฯ ที่ฟากหนึ่งเป็นศูนย์กลางของงานศิลปะของช่างสกุลเมืองเพชร ส่วนอีกฟากคือตลาดที่เรียงรายไปด้วยบ้านเก่าอายุกว่าร้อยปี โดยในเรื่องของงานศิลปะนั้นปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเพชรบุรีนั้นโด่งดังในเรื่องงานปูนปั้นที่สืบทอดสูตรปูนโบราณมาจากสมัยอยุธยา และหนึ่งในความลับของช่างเมืองเพชรฯ คือการใส่น้ำตาลโตนดแท้ลงในขั้นตอนการผสมปูน เพื่อให้เกิดการยึดเกาะที่แน่นเหนียว
แน่นอนว่าทุกวัดเก่าในตัวเมืองเพชรบุรีล้วนมีงานปูนปั้นระดับครูให้ได้ชม แต่ไฮไลต์อยู่ที่งานปูนปั้นล้อการเมืองเสียดสีสังคมที่วัดมหาธาตุวรวิหาร และงานปูนปั้นลอยตัวของครูพิน อินฟ้าแสง ณ วัดพลับพลาชัย ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็นที่สุดของความโมเดิร์นในยุค 50 ปีก่อน โดยงานของครูพินนับว่ากล้าฉีกขนบงานปูนปั้นประดับโบสถ์แบบเก่าที่มักใส่เรื่องราวของเทวดาและสัตว์ป่าหิมพานต์ลงไป ทว่างานของครูพินแตกต่างด้วยการนำธรรมชาติรอบตัวอย่าง งู ตุ๊กแก แมงมุม รวงผึ้งเข้ามาแทน พร้อมทั้งใส่งานลอยตัว แล้วทำให้งานปูนปั้นอย่างใบโพสามารถพลิ้วไหวได้อย่างมีชีวิต ส่วนใครที่อยากเห็นงานอยุธยาแท้ต้องไปชมฐานใบเสมาวัดสระบัว และที่เป็นความภาคภูมิใจอย่างที่สุดของช่างปูนปั้นเพชรบุรีคือ ปูนปั้นสัตว์หิมพานต์ประดับพระเมรุมาศในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
พิกัด 2: หนังใหญ่ชุดสุดท้าย
ไม่ผิดสักนิดหากจะกล่าวว่าเพชรบุรีเป็นเมืองที่รุ่มรวยด้วยงานศิลปะ แม้แต่ในงานนาฏศิลป์ชั้นสูงอย่างหนังใหญ่ก็มีปรากฏอยู่ที่เพชรบุรี ณ วัดพลับพลาชัย ซึ่งมีอดีตเจ้าอาวาสอย่างหลวงพ่อฤทธิ์ เป็นช่างใหญ่ที่สืบทอดฝีมือมาจากขรัวอินโข่ง ศิลปินผู้เป็นเลิศด้านจิตรกรรมในสมัยรัชกาลที่ 4 เดิมทีหนังใหญ่ในวัดพลับพลาชัยมีด้วยกันร่วม 300 ตัว ใช้เวลาฉลุถึง 3 ปี มีครบทั้งหนังเมืองที่ฉลุเรื่องราว ฉาก และตัวละครอยู่บนหนังผืนเดียว และหนังเดี่ยวที่เล็กกว่า เพราะฉลุเป็นตัวละครต่างๆ
หนังใหญ่คณะวัดพลับพลาชัยได้แสดงครั้งใหญ่ที่สุดต่อหน้าพระที่นั่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ณ พระรามราชนิเวศน์ หรือ วังบ้านปืน โดยมีหลวงพ่อฤทธิ์เป็นผู้เขียนบทและฝึกซ้อม ทว่าน่าเสียดาย ที่ปัจจุบันหนังใหญ่คณะวัดพลับพลาชัยเหลือเพียงตัวหนังจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ของวัด แต่ก็ยังโชคดีที่เพชรบุรียังคงรักษาละครรำพื้นบ้านแบบโบราณที่เรียกว่า ละครชาตรี ซึ่งยังคงเปิดแสดงตามงานสำคัญๆ ของจังหวัด
พิกัด3: ตลาดริมน้ำ พิพิธภัณฑ์มีชีวิต
ตลาดเป็นเหมือนพิพิธภัณฑ์ที่สามารถบอกเล่าเรื่องราวของชุมชนนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี และตลาดริมแม่น้ำเพชรบุรีก็เช่นกัน ถ้าจะชมตลาดให้ครบถ้วน แนะนำให้เริ่มต้นตั้งแต่ชุมชนเก่าวัดเกาะ เดินเรื่อยมาถึงตัวตลาดริมน้ำและข้ามไปยังชุมชนคลองกระแชง สิ่งแรกที่เห็นอย่างเด่นชัดจนเป็นเอกลักษณ์ของย่าน คือ การผสมผสานระหว่างบ้านทรงไทยอายุร้อยปี กลุ่มเรือนแถวไม้ฉลุลายแบบสมัยรัชกาลที่ 7 และตึกฝรั่งผสมจีนที่เพิ่มลวดลายกราฟฟิตี้อย่างรูปปู่เย็นลงไปให้ดูร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีการนำเรื่องราวของนักเขียนดังผู้สร้างตำนานโรมิโอจูเลียตแห่งเมืองเพชรฯ อย่าง มนัส จรรยงค์ กลับมาเล่าใหม่ในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์ ใกล้กันคือแกลเลอรีรวมโปสเตอร์เก่าของพระเอกตลอดกาลลูกหลานเมืองเพชรฯ มิตร ชัยบัญชา
อีกไฮไลต์ประจำย่านริมน้ำ ได้แก่ งานจิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยาตอนปลายที่วัดเกาะ ซึ่งมีการวาดชาวต่างชาติทั้งจากซีกโลกตะวันตกและตะวันออกร่วมไปกับเทพพนม ซึ่งนั่นก็แปลได้ว่าเพชรบุรีเคยเป็นเมืองท่าที่สำคัญไม่น้อยเลย
พิกัด4: สารพันจานเด็ดประจำถิ่น
นอกจากอาคารเก่าแก่แล้ว ชุมชนริมน้ำยังเต็มไปด้วยร้านเก่าแก่ อาทิ ร้านทองโบราณ ศาลเจ้า ร้านขนมโก๋ และที่ขาดไม่ได้คือ อาหารประจำถิ่น ไม่ว่าจะเป็นขนมจีนกินคู่ทอดมัน ข้าวแช่ที่ลดทอนวิถีชาววังให้เหลือเครื่องเคียงเพียงแค่ 3 อย่าง คือ ปลาหวาน หัวไช้โป๊ผัด และลูกกะปิ นอกจากนี้ยังมีขนมโตนดทอด และลอดช่องน้ำตาลข้นที่หอมหวานน้ำตาลโตนดเคี่ยวแบบคาราเมล ไม่นับรวมขนมหวานสูตรท้าวทองกีบม้าที่ตกทอดมาเป็นของหวานขึ้นชื่อที่ซื้อหาได้ในราคามิตรภาพ ณ ตลาดเก่าริมน้ำแห่งนี้ด้วยเช่นกัน
- กลุ่มเดินยิ้มริมน้ำ จัดกิจกรรมเดินเที่ยวชุมชนเก่าเมืองเพชรบุรีในทุกวันเสาร์สัปดาห์ที่ 3 ของทุกเดือน โดยมีวิทยากรเป็นคนท้องถิ่น ข้อมูลเพิ่มเติม www.facebook.com/WalkingByPhetchaburiRiver
- เพลินเมืองเพชร ให้บริการนำเที่ยวชุมชนเก่าเพชรบุรีแบบเทเลอร์เมด (tailor made) ตามความสนใจของนักท่องเที่ยว เช่น เจาะลึกวัฒนธรรม เจาะลึกเฉพาะบ้านเก่า วัด และชมวัง เป็นต้น ข้อมูลเพิ่มเติม www.facebook.com/muangpetchcommunity