×

สถานการณ์น้ำเพชรบุรีน่าห่วง เร่งลดผลกระทบพื้นที่ลุ่มต่ำ ระดมเครื่องจักรระบายน้ำเต็มที่

22.08.2018
  • LOADING...

นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต เปิดเผยสถานการณ์น้ำและพื้นที่เสี่ยงสำคัญ วันที่ 22 ส.ค. 2561 ว่า ปัจจุบันเขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี มีปริมาณน้ำ 773 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 109% น้ำล้นทางระบายน้ำ (Spillway) สูง 1.37 ม. ลดลงจากเมื่อวาน 7 ซม. คิดเป็นปริมาณน้ำไหลเข้า 19.41 ล้าน ลบ.ม. ลดจากเมื่อวาน 6.2 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ปริมาณการระบายน้ำยังคงสูง แต่มีแนวโน้มทรงตัวอยู่ที่ 22.75 ล้าน ลบ.ม.

 

สำหรับสภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำ ระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี เมื่อเวลา 5.00 น. บริเวณ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี สูงกว่าระดับตลิ่งที่สถานีวัดกรมชลประทาน 3 ซม. แนวโน้มลดลง ส่วนที่ อ.เมืองเพชรบุรี จ.เพชรบุรี สูงกว่าระดับตลิ่งที่สถานีวัดกรมชลประทาน 39 ซม. แต่ยังไม่ล้นคันกั้นน้ำชั่วคราวและถาวรของเทศบาลที่ได้เสริมจากระดับตลิ่งเดิมซึ่งมีความสูงเฉลี่ยประมาณ 40-60 ซม. เพื่อป้องกันน้ำทะลักเข้าพื้นที่ชุมชนเมือง และเขตเศรษฐกิจ

 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากระดับน้ำยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทุกหน่วยงานได้เร่งให้ความช่วยเหลือพร้อมทั้งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำเอ่อล้นในชุมชนหรือพื้นที่ลุ่มต่ำ โดยสนับสนุนเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ ทั้งเครื่องสูบน้ำ รถสูบน้ำท่วมขัง รถสูบส่งน้ำระยะไกล เรือยนต์ผลักดันน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ รถบรรทุกขนย้ายผู้ประสบภัย รวมถึงเรือพาย เรือท้องแบน เพื่อการสัญจรทางน้ำสนับสนุนในพื้นที่อย่างเต็มที่ด้วย

 

“ปัจจุบันยังคงมีฝนตกหนักบางพื้นที่ โดยมีพื้นที่เสี่ยงภัยฝนตกหนักถึงหนักมาก 14 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร ภาคตะวันออก จันทบุรี ตราด ภาคใต้ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พังงา กระบี่ ตรัง และสตูล โดย 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกปานกลางถึงหนักในภาคเหนือ ได้แก่ จ.น่าน 82.0 มม. เพชรบูรณ์ 76.6 มม. แม่ฮ่องสอน 63.2 มม. พิจิตร 41.8 มม. อุตรดิตถ์ 38.8 มม. พิษณุโลก 37.0 มม. ภาคกลาง นครสวรรค์ 57.4 มม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สกลนคร 57.4 มม. ภาคตะวันออก ตราด 53.0 มม. และภาคใต้ พังงา 56.5 มม.” นายสำเริง กล่าว

 

ดังนั้น จากสถานการณ์ฝนที่ยังตกในหลายพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ทางศูนย์ฯ ยังคงเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ที่อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังนอกจากเขื่อนแก่งกระจาน โดยเน้นย้ำตามข้อสั่งการของ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในการบริหารจัดการน้ำที่ต้องเร่งพร่องน้ำให้เต็มศักยภาพของลำน้ำท้ายน้ำ เพื่อรองรับปริมาณฝนที่ตกเหนือเขื่อน โดยประสานจังหวัดและพื้นที่เตรียมการป้องกันและช่วยเหลือพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำให้มากที่สุด ได้แก่ เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร ปริมาณน้ำ 534 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 103% เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี มีปริมาณน้ำ 8,025 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 91% เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก ปริมาณน้ำ 194 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 87% เขื่อนปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ปริมาณน้ำ 335 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งปัจจุบันมีแผนระบายน้ำลงแม่น้ำปราณบุรีเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 10.40 ล้าน ลบ.ม. คาดว่าระดับน้ำในแม่น้ำปราณบุรีวันนี้ (22 ส.ค. 61) จะสูงขึ้นอีกไม่เกิน 20 ซม.

 

ภาพ: การบินตรวจน้ำของชลประทานเมื่อวันที่ 19 ส.ค. 61

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising