×

เปิดจวนผู้ว่าฯ พะเยา ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ทำไมบริหารเก่งและรักงานราชการ

09.08.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 MINS READ
  • โรงเรียนสอนการจัดการระดับโลกอย่าง วอร์ตัน สคูล ยกให้การจัดการของท่านผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ เป็นเคสตัวอย่างแห่งความสำเร็จ
  • ปัจจัยหลักที่ทำให้ภารกิจการช่วยเหลือ 13 ชีวิตทีมหมูป่า ติดถ้ำหลวง มีอยู่ 5 ข้อ คือ 1. เป้าหมายชัดเจน 2. แผนชัดเจน 3. ประเมินความเป็นไปได้ 4. สามัคคี 5. เสียสละ
  • สาเหตุที่ทำให้ผู้ว่าฯ อยากรับราชการ เพราะเชื่อว่าถ้าคนเก่งคนดีไม่ทำงานราชการ ประเทศไทยจะเจริญได้อย่างไร
  • ผู้ว่าฯ เชื่อว่า การเรียนรู้จากข้อบกพร่องของตนเอง คือการเรียนรู้ที่เร็วและดีที่สุด

21.30 น. เวลาที่ใครๆ อาจจะเปิดทีวีรอดูละคร เมีย 2018 ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาป้ายแดงอย่าง ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร กำลังเซ็นเอกสารกองใหญ่บนโต๊ะอาหารในบ้านพัก โดยมีทุเรียนวางอยู่ข้างๆ

 

“นี่คือเวลาที่ผมใช้ในการเซ็นเอกสารทุกวันครับ” ผู้ว่าฯ เปิดเอกสารให้ผมดู พร้อมบอกว่าเขาอ่านทุกชิ้นอย่างละเอียด “เซ็นมั่ว เดี๋ยวซวย”

 

 

การเซ็นเอกสารกลางดึกคือภารกิจสุดท้ายของแต่ละวัน หลังจากที่ปฏิบัติภารกิจยาวเหยียดมากกว่า 10 อย่าง ตั้งแต่ 07.00 น. ท่านทำงานทุกวัน ไม่มีวันหยุด คนใกล้ชิดบอกว่าตลอดหลายสิบปี ท่านผู้ว่าฯ ในแต่ละปีจะทำงานอย่างน้อย 360 วัน จาก 365 วัน ครอบครัวก็ไม่ค่อยได้เจอ ชีวิตส่วนตัวก็ไม่ค่อยมี อยู่อย่างเรียบง่าย สมถะ ท่านทุ่มเทและเสียสละให้แต่กับงานๆๆๆ และก็งาน

 

งานราษฎร์ งานหลวง งานราชการ ท่านไปหมด ไม่เคยปฏิเสธ ใครจะมาเยี่ยมก็ยินดี (ต้องรอตามคิวที่แน่น) แต่งานอย่างหนึ่งที่ท่านไม่อยากทำมากที่สุดคือ การให้สัมภาษณ์สื่อ

 

ผู้ช่วยที่เป็นคนดูแลคิวบอกเหตุผลของท่านว่า งานราชการสำคัญกว่า และประชาชนสำคัญที่สุด ฉะนั้นถ้ามีงานด่วน งานแทรก ก็ต้องจัดลำดับให้งานราชการก่อน และมีเงื่อนไขว่า ต้องบินมาที่พะเยาเท่านั้น นั่นทำให้ยังไม่มีสื่อใหญ่ที่ไหนได้สัมภาษณ์แบบเต็มๆ นับตั้งแต่ภารกิจถ้ำหลวงสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

 

THE STANDARD ติดต่ออยู่นาน โยกคิวกันหลายครั้ง จนได้เดินทางมาพบท่านผู้ว่าฯ ถึงจวน

 

ภายในจวนเหมือนบ้านที่ไม่ค่อยได้ใช้งาน กล่าวคือ โล่งโจ้ง ของใช้น้อยมาก เพราะท่านไม่ค่อยได้อยู่ ออกข้างนอกตลอด ห้องทำงานส่วนตัวท่านก็เหมือนใช้วางของ โซนที่ใช้บ่อยที่สุดคือ โต๊ะยาวกลางบ้านที่ใช้กินข้าว คุยงาน เซ็นเอกสาร และดูหนัง กิจกรรมโปรดของท่าน

 

ท่านกลับมาช่วงเย็นในชุดนักฟุตบอลพร้อมเหงื่อโชก (ทราบภายหลังว่าเป็นหนึ่งในภารกิจราชการ) ก่อนจะขอตัวอาบน้ำอาบท่า ไม่นานนักก็เดินลงมาพร้อมพูดคุย

 

ประเด็นสำคัญที่จะคุยกันคือ ถอดรหัสการบริหารจัดการที่นำไปสู่ความสำเร็จของท่าน ที่แม้แต่โรงเรียนสอนการบริหารจัดการระดับโลกยังยกให้เป็นเคสสำคัญที่ต้องศึกษา

 

หลายเรื่องในบทสนทนานี้ท่านเปิดเผยกับ THE STANDARD เป็นครั้งแรก

ทำอย่างไรให้มีมูลค่าเพิ่ม เพิ่มมูลค่าจากสิ่งที่เขามี อันนี้ไม่ได้เข้าไปเปลี่ยนวิถีชีวิตเขา แต่เป็นการเปลี่ยนวิธีคิด

 

 

ชีวิตการทำงานของท่านผู้ว่าฯ แต่ละวันเป็นอย่างไร ยกตัวอย่างวันนี้ก็ได้ เห็นใส่ชุดฟุตบอลกลับบ้านมา

(หัวเราะ) วันนี้เป็นวันรพี (7 สิงหาคม – วันที่สัมภาษณ์) เพื่อรำลึกถึงกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระบิดาแห่งกฎหมายไทย ช่วงเช้ามีพิธีสงฆ์ มีพิธีวางพวงมาลา พอเย็นมีกิจกรรมแข่งกันระหว่างหน่วยงานใน จ.พะเยา ที่ใช้กฎหมาย มีการแข่งขันทีมฟุตบอล เขาชวนเราไปแข่งในทีมวีไอพี ก็เหนื่อยหอบเหมือนกัน (หัวเราะ) เล่นเป็นกองหน้า ลงไปสัก 7-8 นาที ​ก็แพ้ครับ ภารกิจนี้ไม่สำเร็จ กีฬาก็ประมาณนี้ ภารกิจในแต่ละวันก็ค่อนข้างเยอะครับ ก็ทำงานตลอด เป็นคนชอบทำงานครับ

 

4 สัปดาห์ ที่ย้ายมารับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาเป็นอย่างไร

ก็ทำงานเต็มที่เหมือนเดิม อยู่ที่ไหนก็ทำงานเต็มที่ ไปเยี่ยมประชาชน จังหวัดพะเยามีพื้นที่ทั้งหมด 9 อำเภอ ตอนนี้ก็ปฏิบัติราชการไปแล้ว 8 อำเภอ เหลืออีกอำเภอเดียว เสาร์-อาทิตย์นี้ก็จะลงพื้นที่ ซึ่งก็น่าจะครบทั้ง 9 อำเภอ ภายในเวลาเพียงหนึ่งเดือน

 

พะเยาเป็นเมืองที่เงียบ มีศักยภาพในตัวเองสูงมาก พะเยาสงบ น่าอยู่ ทุกคนรู้จักกันเกือบหมด ไม่มีอาชญากรรมร้ายแรง ส่วนราชการคุยกันแบบพี่น้อง ประชาชนก็น่ารักมีประมาณ 5 แสนคน ถ้าถามว่าคนทั่วไปรู้จักพะเยาไหม บางคนอาจจะบอกว่าอยู่ตรงไหนของประเทศไทย ด้วยรายได้รวม รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อคนต่อปี อยู่กลางๆ ของประเทศ จริงๆ แล้วสิ่งที่จะตามมาหากสามารถพัฒนาไปในทางที่ก้าวหน้าได้ ก็จะเป็นประโยชน์

 

เมื่ออังคารที่แล้ว ครม. มีมติที่สำคัญต่อ จ.พะเยา คือยกระดับด่านบ้านฮวก ที่อำเภอภูซาง ชายแดนระหว่างไทยกับลาว เป็นด่านถาวร มติที่สองก็คือ อนุมัติสร้างรถไฟรางคู่จากเด่นชัยขึ้นไปเชียงของ จ.เชียงราย ซึ่งมีผ่าน จ.พะเยา ผมชวนนายอำเภอมาวางแผนยุทธศาสตร์ของจังหวัดในระยะยาว เพราะเดิม จ.พะเยา เดินในแนวทางของเขาที่ถูกต้องอยู่แล้ว แต่ตอนนี้มีตัวแปรใหม่ ซึ่งถ้าเราพัฒนาดีๆ ก็จะทำให้ จ.พะเยา นั้นก้าวกระโดดได้

 

แนวทางการพัฒนาจังหวัดพะเยา มองไว้อย่างไรบ้าง

จริงๆ แล้ว จ.พะเยา เป็นจังหวัดที่รายได้ไม่ได้สูงมากนัก ประเทศไทยโดยเฉลี่ยมีรายได้ 180,000 บาทต่อคนต่อปี พะเยาของเรามี 83,000 บาทต่อคนต่อปี เรายังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศอยู่เยอะ แต่ศักยภาพของพะเยาสูง ไม่มีการค้าชายแดนเลย การท่องเที่ยวแทบไม่มี มีแต่ทางผ่าน แต่แทบจะไม่นอนพะเยาเลย

 

แต่การเปิดด่านบ้านฮวกได้ สิ่งที่จะตามมาคือ ด่านบ้านฮวกที่เชื่อมต่อลาว ไปแขวงอุดมไชย แขวงไซยะบุรี แล้วก็ต่อไปที่จีนตอนใต้ เป็นโลจิสติกส์ที่สั้นที่สุด ในอนาคตเราเชื่อว่าสินค้าต่างๆ จะทยอยมาผ่านแดนทางนี้ โดยเฉพาะสินค้าวัสดุก่อสร้าง สินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ น้ำมัน จะมาผ่านทางนี้ เมื่อเราประเมินตรงนี้ เราก็ต้องมาพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้เกิดขึ้น

 

ผมได้เชิญหน่วยงานต่างๆ มาหารือ เพื่อคุยเรื่องแยกจากเชียงคำ ถนนสาย 1093 ที่แยกจากเชียงคำไปที่ด่านบ้านฮวก เพื่อให้มีการปรับปรุงถนน ขยายถนน ซึ่งกรมทางหลวงบรรจุให้เราแล้วในปี 2562

 

ขณะเดียวกัน โลจิสติกส์แทนที่จะวิ่งขึ้นเหนือแล้วไปตะวันออก ต่อไปนี้จะเปลี่ยนถนนเส้น 1021 ที่ผ่านจากตัว จ.พะเยา ไปดอกคำใต้ ไปจุน ไปเชียงคำ ไปเทิง ซึ่งตอนนี้ถนนยังสวนกันอยู่ อยากจะให้ทางหลวงบรรจุในแผน เพื่อการพัฒนา ทำให้การขนส่งดีขึ้น อีกส่วนหนึ่งคือ จากเชียงคำไปปง ไปเชียงม่วน ลงไปแพร่ โลจิสติกส์ตรงนี้ ตรงๆ เลย อนาคตอาจจะขึ้นพิษณุโลก อุตรดิตถ์ แพร่ แล้วขึ้นตรงนี้โดยตรง ถ้าถนนเส้นนี้ได้รับการขยายหรือปรับปรุง ก็จะเป็นการพัฒนาภาคเหนือฝั่งตะวันออกทั้งหมด รถที่ขนส่งสินค้าวิ่งผ่านตรงนี้ จะเห็นว่าเราเปิดหน้าทางฝั่งตะวันออกของพะเยาเป็นหน้าใหม่เลย

 

ประกอบกับเรากำลังจะได้อ่างเก็บน้ำใหม่ขนาดใหญ่ รองรับได้ 92 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่ อ.เชียงม่วน สิ่งที่จะทำได้คือ น้ำจะซึมซับ ทำให้น้ำใต้ดินดี เราก็พยายามจะเน้นให้ทำเกษตรอินทรีย์ ส่วนเกษตรเลื่อนลอย พยายามจะให้ลดลง

 

เนื่องจากพะเยาอยู่ในที่สูง แล้วเรามีอ่างเก็บน้ำ เราลองคิด เราปลูกเกษตร เดือนหนึ่งอาจจะเก็บผล สามเดือนเก็บผล หรือปีหนึ่งเก็บผล แต่ถ้าเรามีประมง มันเก็บผลได้ทุกวัน เราจะพยายามพัฒนาแหล่งประมง คือฝั่งตะวันตกเรามีกว๊านพะเยาที่ทำประมงพื้นบ้านอยู่แล้ว แต่ฝั่งตะวันออก เราจะพยายามพัฒนา แล้วลองคิดดู ถ้าเรามีอ่างเก็บน้ำที่สวยงาม มีภูเขาที่สวยงาม มีประมง มีการท่องเที่ยวเชิงระบบนิเวศที่ดี มันจะเหมือนกับเขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนแก่งกระจาน ที่คนไปดูทะเลหมอก ไปเที่ยวอ่างเก็บน้ำ ซึ่งถ้าเราทำได้ ฝั่งตะวันออกของพะเยาก็จะดีขึ้น จะดึงการท่องเที่ยวได้มากมาย

 

ถามว่าทำไมถึงเชื่อว่าทำได้ ตรงด่านบ้านฮวกทุกปีจะมีประเพณีการตักบาตรสองแผ่นดิน ขนาดเป็นด่านชายแดนในหน้าหนาว ทุกปีจะมีคนมาตักบาตรที่นั่นเป็นหมื่นคน ถ้าเราพัฒนาตรงนั้นได้ จากเดิมการค้าด่านชายแดนที่เดิมมีมูลค่าปีละ 3-4 ร้อยล้านบาท ก็อาจจะเพิ่มเป็นหลักพันล้าน ผมเชื่อว่าถึงสองถึงสามพันในอีก 5 ปีข้างหน้า

ถ้าเราคิดว่าทำงานให้ดีมีประสิทธิภาพได้ เราก็ควรอยู่กับราชการ มิฉะนั้นราชการจะส่งไม้ต่อ ประเทศไทยจะเจริญได้อย่างไร

 

เพิ่งเข้ามาบริหารไม่นาน ทำไมคิดและทำได้ขนาดนี้ บางคนอยู่มาหลายปียังทำได้ไม่เท่า

 

ผมเชื่อว่าทุกคนคิดและทำได้ แต่ตามปกติทุกคนก็จะคิดอยู่ตามแผนงานที่วางไว้ เป็นแผนงานรูทีน เคยทำอะไรในแต่ละปี ก็จะใส่ไว้แบบเดิมๆ แต่เราลืมนึกถึงศักยภาพแต่ละจุด

 

ในพื้นที่จังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดก็เหมือนซีอีโอ เรามีหน้าที่คิดแผนอะไรที่สอดคล้อง เดินหาช่องทางต่างๆ เข้ามา แต่กลไกในระดับจังหวัด ซึ่งขึ้นตรงกับผู้ว่าฯ เพียง 30 กว่าหน่วย แต่มีองค์กรที่สนับสนุนการทำงานอีกร้อยกว่าหน่วย ท้องถิ่นต่างๆ มีศักยภาพของตัวเอง เราก็ช่วยในการมองและเสริมศักยภาพของเขาให้มากขึ้น ทำอย่างไรให้มีมูลค่าเพิ่ม เพิ่มมูลค่าจากสิ่งที่เขามี อันนี้ไม่ได้เข้าไปเปลี่ยนวิถีชีวิตเขา แต่เป็นการเปลี่ยนวิธีคิด

 

พะเยา ถ้าท่านมาพักจะรู้สึกว่าเป็นเมืองที่อากาศดี ค่าครองชีพ สินค้าไม่ได้แพงนัก แล้วทำไมเราไม่ขายความเป็นเมืองน่ารัก ผู้สูงวัยอยู่แล้วมีคุณภาพ ทำไมเราไม่ขายการศึกษา เรามีมหาวิทยาลัยพะเยาที่แข็งแกร่งในเรื่องสุขภาพ มหาวิทยาลัยพะเยาเก่งมาก เป็นเมืองผู้สูงอายุ หรืออยากจะมีสุขภาพดี มาชาร์จแบตริมกว๊านพะเยาสักหนึ่งอาทิตย์

 

อะไรหล่อหลอมให้ท่านมีวิธีคิดแบบนี้ เติบโตมาอย่างไร

มันมีอยู่หลายส่วน ส่วนหนึ่งคือ เราเรียนทางวิศวะและกฎหมายมาด้วย ทำให้เรามีตรรกะวิธีคิดเป็นระบบ มันมีเหตุและผลที่สอดคล้องกัน เราเอาการบริหารจัดการเข้ามาเสริม จากระบบเเข็งๆ ไปสู่ระบบที่ยืดหยุ่นได้ แล้วก็นำไปประยุกต์ใช้กับพื้นที่ที่แตกต่างกันได้

 

ท่านเรียนจบตั้ง 5 ปริญญา ทำไมถึงเรียนหลายปริญญา

ในวัยเด็กเราก็จะบอกว่า คนที่เรียนเก่งก็จะเรียนหมอ มาทางด้านสุขภาพ ถ้าไม่เอาทางโน้นเลยก็จะมาเรียนวิศวะ ผมเรียนวิศวะ เพราะผมไม่ชอบชีวะ พอเรียนอยู่ผมก็ได้ทุนรัฐบาลให้ไปเรียนต่อที่โอไฮโอด้านดาวเทียม ไปเรียนก็ยังไม่รู้ว่าจะกลับมาทำอะไร รู้แต่ว่าเราอยากไปเมืองนอก แต่เมื่อกลับมาแล้วรัฐบาลก็ส่งผมมาอยู่กรมที่ดิน เราก็ทำงานด้านวิศวะ แผนที่ ดาวเทียม ก็พัฒนาด้านระบบต่างๆ ของกรมที่ดิน ถ้าย้อนกลับไป 20-30 ปี ท่านจะเห็นว่ากรมที่ดินวันนี้ต่างกันเยอะ มันพัฒนาไปเยอะมาก

 

ที่ชอบงานด้านวิศวกรรม เพราะผมคิดว่ามันมีวิธีคิดที่เป็นตรรกะ มันชัดเจน หนึ่งบวกหนึ่งเป็นสอง มีวิธีการที่วัดผลได้ พอมาทำงานกรมที่ดิน กรมที่ดินมีการใช้กฎหมายที่เคร่งครัด เราก็ต้องไปเรียนด้านกฎหมาย หาความรู้เพิ่มเติม เพราะไม่อย่างนั้นเราจะไม่รู้เลยว่าบริบทของกฎหมายเป็นอย่างไร ความรู้ด้านวิศวกรรมไม่สามารถใช้ทำงานได้ทั้งหมด พอได้กฎหมายแล้ว วันหนึ่งเมื่อเราโตมาเป็นหัวหน้า เป็นผู้บังคับบัญชา ถ้าเราขาดศาสตร์แห่งการบริหาร เราก็จะไปไม่เป็น ก็ทำให้เราต้องไปเรียนศาสตร์ด้านนี้มาเพิ่มอีก เรียนเพื่อเอากลับมาทำงาน

 

ทุกวันนี้เราจะเห็นว่าบางคนเรียนทางด้านสุขภาพ เรียนหมอ แต่ไปทำอย่างอื่นเยอะแยะ บางคนเรียนวิศวะ แล้วไปเรียนการเงิน บางคนเรียนบัญชี แล้วไปเรียนกฎหมาย ผมว่ามันไม่เกี่ยวกับว่าเราจะเรียนอะไร หรือเรียนพื้นฐานอะไร มันเกี่ยวกับว่าได้เอาไปใช้ประโยชน์ในวิชาชีพของเราหรือไม่ ถ้าเรียนแล้วเอาไปประยุกต์ใช้และเป็นประโยชน์ต่อวิชาชีพของเรา เป็นประโยชน์ต่อการทำงาน ผมว่าเรียนอะไรก็เป็นการศึกษาหาความรู้ทั้งนั้น

 

 

เรียนสูงขนาดนี้ ทำงานเอกชนใหญ่ๆ รับเงินเดือนสูงได้สบาย ทำไมตัดสินใจเลือกมาใช้ชีวิตรับราชการ

จริงๆ แล้วก็ไม่เคยคิดจะมารับราชการนะครับ เพียงแต่ว่าเรารับทุนรัฐบาล ก็ต้องกลับมาใช้ทุน ราชการก็มีเงินเดือนเพิ่มขึ้นทุกปี เราก็อยู่ได้ ชีวิตไม่ได้เดือดร้อน ก็ช่วยพ่อแม่ทำการค้า เราก็รับราชการไปด้วย เพราะฉะนั้นชีวิตเราก็อยู่ได้

 

สิ่งที่ราชการต้องการและจำเป็นคือ ราชการต้องการคนที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงบางส่วน ต้องการคนที่ทำงานแล้วมีความมุ่งมั่น ไม่อย่างนั้นราชการก็ไม่เกิดการพัฒนา จะเห็นว่าราชการไม่ได้อยู่มาแค่วันนี้ แต่อยู่มาเป็นร้อยปีแล้ว การที่อยู่มาได้ยาวนาน ส่งไม้ต่อกันมาได้ ก็แสดงว่าราชการก็มีคนดีๆ เยอะ ถ้าเราคิดว่าทำงานให้ดีมีประสิทธิภาพได้ เราก็ควรอยู่กับราชการ มิฉะนั้นราชการจะส่งไม้ต่อ ประเทศไทยจะเจริญได้อย่างไร เพราะฉะนั้นราชการต้องดีก่อน

การต่อจิ๊กซอว์ได้ภาพที่สง่างาม ได้ภาพที่สวยงาม ไม่ใช่แค่ใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นการต่อจิ๊กซอว์ของคนเป็นหมื่น ของคนทั้งประเทศ ที่ส่งกำลังใจมาช่วยกันต่อจิ๊กซอว์จนเป็นภาพที่สวยงาม

 

แต่คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยอยากทำงานราชการ ท่านอยากบอกอะไรกับพวกเขา

จริงๆ แล้วราชการมันเป็นอะไรที่กำหนดนโยบายสาธารณะ ถ้าเราอยู่บริษัท เราเป็นซีอีโอ เรากำหนดทิศทางบริษัท กำหนดได้ว่าเราจะเอากำไรเท่าไร เราไม่ต้องสนเลยว่าวิธีได้กำไรจะมาจากวิธีไหน บางทีก็ใช้วิธีการใต้ดิน แต่ราชการเรากำหนดนโยบายสาธารณะ เราต้องทำให้ถูก ทำให้ผู้คนและสังคมยอมรับการตัดสินใจของเรา เพราะมันกระทบต่อคนวงกว้าง เพราะฉะนั้นการกำหนดนโยบายแบบนี้เราควรจะได้คนดีๆ น้องๆ ที่เก่งๆ ก็ควรจะมารับราชการ เพราะเราคือผู้กำหนดนโยบายสาธารณะ

 

อยากให้ถอดบทเรียนปัจจัยแห่งความสำเร็จภารกิจถ้ำหลวงว่ามีอะไรบ้าง

มันมีหลักใหญ่อยู่ 4-5 ประเด็น เรื่องแรกคือ มีเป้าหมายที่ชัดเจน คิดแบบมิชชัน เป้าหมายของเราคือ ต้องนำเด็กทั้ง 13 คน ออกมาจากถ้ำอย่างปลอดภัย ซึ่งมิชชันนี้มีข้อเดียว เราอยากให้เขาออกมาเพอร์เฟกต์มากที่สุด ปลอดภัยมากที่สุด

 

ประการต่อมาคือ เมื่อมีเป้าหมายที่ชัดเจน ก็ต้องมีแผนที่ชัดเจน คุณรู้เป้าหมายแต่ไม่มีแผน แล้วจะบริหารจัดการได้อย่างไร แผนมันไม่ได้เขียนหรอก มันเกิดจากการประชุมนั่งคุยกัน คือน้องเขาหายไปวันเสารที่ 23 ก.ค. วันอาทิตย์ที่ 24 ก.ค. ตอนบ่ายสอง เราก็นั่งคุยกันทุกทาง เพื่อจะหาทางที่เป็นไปได้ในการจะนำเด็กออกมา วันนั้นเรายังไม่สามารถที่จะมีการระดมคนมากได้ เพราะเป็นคนในพื้นที่ทั้งนั้น เราเชิญทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องเข้ามา ทุกสรรพกำลังใน จ.เชียงราย ทางที่คุยกันในวันนั้นแล้วเป็นไปได้ เรากำหนดไว้ 4 ทาง คือ

 

  1. น้องเข้าไปทางไหน (หน้าถ้ำ) ก็ต้องออกมาทางนั้น (หน้าถ้ำ)
  2. ถ้าเข้าทางหน้าถ้ำไม่ได้ทำอย่างไร ก็ต้องหาช่องหรือโพรงต่างๆ ที่จะเข้าไปด้านในให้ได้
  3. มันมีน้ำเข้าไปในถ้ำได้ ย่อมหมายความว่ามันมีช่องหรือตาน้ำที่เราอาจจะมุดหรือดำเข้าไปได้
  4. มีเทคโนโลยีอะไรก็ตามที่สามารถสแกนได้ว่าผนังมันอยู่ตรงไหน บางขนาดไหน น้องเขาอยู่ตรงไหน ซึ่งเมื่อเรารู้ เราสามารถเจาะเข้าไปได้เลย

 

นี่คือ Possible Way ที่เราถกกันหมดแล้ว ตามสภาพความเข้าใจของหน้างาน และเข้าใจสภาพปัญหา

 

ปัญหาของเราคือ หนึ่ง เวลา เวลาเราน้อย ต่อมาคือ น้ำ น้ำมีปริมาณเต็มถ้ำ ต่อมาคือ โครงสร้างของถ้ำ เพราะไม่ใช่ถ้ำที่เป็นทางแบบตรง มันซิกแซก เลี้ยวซ้ายขวา น้ำก็เป็นไปตามทางเหล่านั้น ไม่ใช่ท่อระบายน้ำแบบตรงๆ

 

เมื่อเราเห็นปัญหา เห็นสภาพทั้งหมด มอง 4 ทางที่เป็นไปได้ ต่อมาเราก็กำหนดแผน ถามว่าแผนคืออะไร

 

แผนที่หนึ่ง เราสู้กับอะไร สู้กับน้ำ สู้กับเวลา สู้กับน้ำต้องใช้อะไร ใช้เครื่องสูบน้ำ เมื่อน้ำเต็มถ้ำเราไม่สามารถไปหาน้องเขาได้ ก็ต้องมีนักประดาน้ำ แล้วมันจะต่อเนื่องไปว่า เมื่อใช้สิ่งเหล่านี้มันจะต้องไปที่ใคร และมีเครื่องมืออะไรเพิ่มเติมเข้ามาอีก คุณจะมีเครื่องสูบน้ำ คุณต้องไปเอามาจากไหน แล้วต้องใช้ไฟฟ้า ใช้น้ำมันไม่ได้ เพราะมีผลต่อการหายใจ คุณจะไปเอามาจากไหน วันแรกๆ เรามีเครื่องสูบน้ำ เครื่องปั๊มน้ำเยอะมาก แต่ใช้น้ำมัน เราทำไม่ได้ ก็ต้องไปหาไฟฟ้ามา ไปหามาจากไหน ก็การไฟฟ้า ตรรกะในการบริหารจัดการมันก็จะตามมา เดินบนดอยหาช่องหาโพรง คุณก็ต้องไปเอากำลังมา คุณจะใช้ใคร เอากำลังมาจากไหน คนที่เก่งที่สุดคือ ทหารหรือหน่วยรบพิเศษ เหมือนดำน้ำ คนที่เก่งที่สุดคือ หน่วยซีล

 

ในสถานการณ์แบบนี้เราต้องแยกแยะให้ได้ว่า เรื่องแต่ละเรื่องใครมีความสามารถ ใครเก่งที่สุด เมื่อเราวางแผนเสร็จแล้ว ก็จะนำไปสู่การปฏิบัติ

 

ถามว่าผมหาได้ไหม? คนที่เก่งที่สุดในเรื่องต่างๆ เมื่อเราประเมินสถานการณ์ต่างๆ ทั้งหมดแล้ว นี่คือกุญแจสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ คุณต้องยอมรับสภาพว่า ด้วยสรรพกำลังที่มีอยู่ทั้งหมดคุณเอาไหวไหม

 

วันอาทิตย์ที่ 24 ก.ค. ผมประเมินแล้วผมรู้ว่าผมเอาไม่ไหว เมื่อดูจากสภาพหน้างานแล้ว เราไม่มีเครื่องมือพิเศษ เราไม่มีคนดำน้ำ ไม่มีกำลังพลที่จะเดินเท้า เราก็ต้องร้องขอไปยังหน่วยเหนือตามลำดับชั้น ผมโชคดีที่กองทัพภาคที่สามส่งกำลังพลเข้ามาจำนวนมากที่หน้างาน กองทัพเรือ กองทัพอากาศ ก็ส่งกำลังพลเข้ามา ตำรวจก็ส่งมา ตอนหลังมาจากทั่วโลก

 

นี่คือ Key Indicator ตัวที่สาม คือเราต้องประเมินว่าเราเอาอยู่ไหม ท่ามกลางทรัพยากรที่มีอยู่ ผมประเมินแล้วผมเอาไม่อยู่ คือประเมินจุดแข็งจุดด้อยของตัวเอง แล้วหาทรัพยากรที่จำเป็นเข้ามาเสริม มาสนับสนุน

 

และต้องมีการประเมินแผนงาน ในหน้างานเรามีการประเมินแผนวันละสองรอบ ช่วงเช้าทุกคนต้องมารายงานว่าเมื่อคืนตัวเองทำอะไร ผลเป็นอย่างไร แล้วช่วงบ่ายวันนี้ เราจะทำอะไรต่อ งานจะได้เดินไปอย่างสัมพันธ์กัน มีเป้าหมายเดียวกัน เหมือนวงดนตรีต้องเล่นให้เป็นวง ปรับจูนเข้าหากัน ใครมีจุดอ่อนตรงไหน สามารถปรับเอากำลังพลไปช่วยกันได้ไหม เราต้องประชุมกันขนาดนี้ แต่ตอนหลังที่เจอน้องเขาแล้วก็ลดเหลือวันละรอบ

 

บรรยากาศการประชุมไม่ได้เครียดอะไร ก็พี่น้องกันเอง เพราะกินนอนกันอยู่ในค่าย ทุกคนก็รักกันเหมือนพี่น้อง แต่มีปัญหาอุปสรรคอะไรก็ต้องเอามาแชร์กัน

 

อย่างที่ผมบอก หนึ่ง เป้าหมายต้องชัดเจน สอง การวางแผนต้องดี การปฏิบัติต้องถูกต้อง และมีการประเมินผลตลอด สาม ประเมินจุดแข็งจุดอ่อนของเรา เพื่อหาทรัพยากร จะหาคน หาอุปกรณ์จากไหน

 

ตัวที่สี่ เป็นตัวบ่งชี้สำคัญคือ ความสามัคคี นี่คือสิ่งที่สำคัญมากที่สุด

 

 

แล้วการเลือกคนที่จะเป็นผู้นำในแต่ละภารกิจเลือกอย่างไร

เราไม่ได้เป็นคนเลือกทั้งหมด แต่ที่ประชุมเป็นคนช่วยกันดูว่าจะเอามาจากไหน เอามือดีจากทีมนี้ อุปกรณ์จากหน่วยนั้นมา เช่น ทีมสูบน้ำข้างนอกใช้กำลังพลจากเชียงราย หน่วยทหารทุกหน่วยในเชียงรายมาช่วยดูดน้ำข้างนอก เดินบนเขาก็มาจากกองทัพภาคที่สาม เขาก็เลือกคนที่เก่งที่สุดมาให้เรา

 

ทำอย่างไรถึงสามารถดึงคนเก่งๆ มาทำภารกิจนี้ได้

เราก็ประชุมกัน คุยกัน ผมเชื่อว่าทุกคนพร้อม เราเห็นเป้าหมาย วิธีการชัดเจน ทุกคนที่จะเข้ามาร่วมก็มองเห็น แล้วทุกคนส่งมา แม้แต่หมอ ทีมแพทย์สนาม เรียกว่าแทบจะมาจากทุกจังหวัดในภาคเหนือ แล้วมีกรมการแพทย์ทหารบกส่งมาช่วย ส่งโรงพยาบาลสนามถึงสามโรงมาช่วยเราที่หน้างาน พร้อมใจกันมาช่วย

 

ปัจจัยที่สำคัญที่ผมบอกคือ ความสามัคคี ไม่ว่าคุณมาจากไหน ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่มากินนอนร่วมกัน เราเคารพในสิทธิซึ่งกันและกัน เราเคารพในความเห็นซึ่งกันและกัน เคารพในบทบาทและหน้าที่ซึ่งกันและกัน ติดขัดอะไรมาบอก ทุกคนจึงเป็นจิ๊กซอว์ที่มาต่อกัน นี่คือความสามัคคีที่ทุกคนยอมเสียสละ

 

ซึ่งนำมาสู่คีย์ตัวที่ห้านั่นคือ ทุกคนเป็นจิตอาสา เป็นอาสาสมัคร เป็นผู้เสียสละ ทุกคนมาแบบส่วนตัว มาด้วยบทบาทหน้าที่ มาด้วยใจ สละกำลังทรัพย์ส่วนตัวมาก็มี อย่างน้องที่มาซักผ้า คนขี่มอเตอร์ไซค์ที่มารับคนเข้า-ออก จิตอาสาที่มาทำกับข้าว มาช่วยเก็บขยะ อาสาดับไฟป่า ที่มาช่วยแบกท่อสูบน้ำ ทุกคนที่มา มาจากคนละแหล่ง ซึ่งไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่ว่าทำงานร่วมกัน ทำงานตามหน้าที่ ทุกคนเป็นพระเอกหมด

 

จิ๊กซอว์ทุกตัวสำคัญหมด การต่อจิ๊กซอว์ได้ภาพที่สง่างาม ได้ภาพที่สวยงาม ไม่ใช่แค่ใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นการต่อจิ๊กซอว์ของคนเป็นหมื่น ของคนทั้งประเทศ ที่ส่งกำลังใจมาช่วยกันต่อจิ๊กซอว์จนเป็นภาพที่สวยงาม

 

แต่การที่จะเป็นภาพที่สวยงาม ต่อจิ๊กซอว์ได้ขนาดนี้ คนเป็นหมื่นคนหมุนเวียนกันอยู่ตรงนั้น มันต้องมีปัญหาเกิดขึ้นบ้าง ในฐานะผู้บัญชาการทำอย่างไรให้เกิดทีมเวิร์กที่ดี

หนึ่งคือ เราต้องถ้อยทีถ้อยอาศัย ต้องรับฟังความเห็นของทุกคนว่าใครติดขัดอะไร เราในฐานะผู้บัญชาการก็ต้องเข้าไปช่วยแก้ปัญหา หน่วยนี้รอได้ หน่วยนี้ต้องแก้แบบนี้ เพื่อให้ทุกคนเดินไปด้วยกัน เพราะสุดท้ายทุกคนทำเพื่อเป้าหมายเดียวกัน ไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง ทุกคนสูบน้ำ เพื่อให้น้ำในถ้ำมันออกไป แล้วจะได้ไปเจอเด็กๆ

 

นี่คือสิ่งต่างๆ ที่ทุกคนมาด้วยความเต็มใจ มีความสามัคคี ทุกคนยืดหยุ่น ทุกคนลดอัตตา ลดทิฐิตัวเอง ลดความเก่งกาจของตัวเอง หลายๆ คนในนั้น ผมกล้าเรียนเลยว่า เป็นคนที่เก่งมากๆ เป็น ดร. เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เป็นอะไรที่เก่งมากๆ เราต้องซูฮกท่าน ท่านช่วยให้ความรู้กับเรา แต่ในนั้นต้องยอมรับกัน

 

จะเห็นว่าในวันแรกๆ นั้นมีปัญหา เช่น บางคนเข้ามาแล้วก็มีมุมมองหรือความคิด วิชาการที่แตกต่างจากคนอื่น เราก็บอกว่าอันนี้ต้องไปคุย ไปจูนกับตรงนั้นก่อน ไปคุยทางด้านวิชาการ ถ้าจูนกันเเล้วทำงานด้วยกันได้ เราก็จะให้ทำงาน แต่ถ้าจูนกันแล้วทัศนคติต่างกัน หรือยังทำอะไรไม่ได้ ก็ต้องบอกให้สแตนด์บาย หรือทำอะไรอย่างอื่นก่อนไหม ต้องมาจูนกันก่อน บางคนเข้ามาอยากทำภารกิจนี้ แต่ก็ต้องไปทำภารกิจอื่นก็มี ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม

 

เราได้รับแรงอาสาจากทั่วประเทศและทั่วโลก ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศที่ได้มา ผู้หลักผู้ใหญ่ในประเทศก็ช่วยกันประสานเอาเข้ามา มีการชี้เป้าคนนี้เก่งก็เชิญมา บางคนพูดกันหลายภาษาก็ทำงานร่วมกันได้

 

 

มีวิธีการบริหารจัดการให้คนจากหลากหลายที่มาทำงานด้วยกันได้อย่างไร

อย่างที่บอกครับ ทุกคนมีเป้าหมายเดียวกัน ทุกคนรู้ภารกิจ เช่น เขาอาจจะไม่ได้เก่งมากเรื่องดำน้ำ แต่ภารกิจเขาคือ การดำเพื่อไปวางท่ออากาศ เขารู้ว่าหน้าที่เขามีเท่านี้ แต่ถ้าจะให้ช่วยเด็ก เขาก็รู้ว่ามือเขาไม่ถึง เราให้คนไปช่วยเด็ก เราก็เลือกทีมที่เก่งที่สุด มืออาชีพที่สุด แต่คนที่รองกว่านั้นก็ต้องไปวางท่ออากาศ อย่างนี้เป็นต้น

 

คือทุกคนรู้ว่าหน้าที่ตัวเองสำคัญที่สุด ไม่ได้บอกว่าคนเดินท่อไม่สำคัญ คนเดินท่อก็สำคัญที่สุดเหมือนกัน ถ้าเราเดินไฟไปปั๊มน้ำไม่ได้ น้ำจะลดได้อย่างไร ถ้าเราเดินท่ออากาศวางไม่ได้ คนที่ดำน้ำไปช่วยเด็กจะเอาท่ออากาศที่ไหนหายใจ เพราะฉะนั้นทุกตัวละครสำคัญหมด

 

ผมถึงบอกว่า พระเอกจริงๆ คือคนที่อยู่หน้างานเป็นพันเป็นหมื่น ที่ไม่ได้ออกหน้าเลย นั่นแหละคือพระเอก ทุกคนคือฮีโร่ สองปัจจัยสุดท้ายที่ผมบอกคือ ความสามัคคี ความถ้อยทีถ้อยอาศัย และความเสียสละ นี่คือสังคมไทยที่เป็นกุญแจสำคัญ เป็นคีย์หลักที่คนอื่น ประเทศอื่นไม่เคยเห็นแบบนี้ ทุกคนควักเงินส่วนตัวเอามาช่วย เอามาซื้ออาหาร เข้าไปทุกคนเหนื่อย แต่มีกิน มีโรงครัวพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีอาหารมาจากทุกพื้นที่ นี่คือเสน่ห์ของสังคมไทย เราต้องเอาบทเรียนที่มีเสน่ห์ตรงนี้ไปต่อยอด

 

สังคมไทยเป็นสังคมที่ดี เป็นสังคมที่มีความสามัคคี ถ้อยทีถ้อยอาศัย เป็นสังคมที่ทุกคนเสียสละ แต่เราอาจจะลืมไปในบางวันว่าเราเคยมีสังคมกันแบบนี้ แต่วันนี้ที่มันมีเหตุการณ์วิกฤต เช่น ที่โป่งผา ถ้ำหลวง เรากลับมายืนอยู่ในสถานการณ์ที่เรารู้ว่า อันนี้คือจุดยืนของสังคมไทย เราต้องรักษาตรงนี้ให้อยู่ต่อไป เมืองไทยจะได้ยั่งยืน

คนไทยมีศักยภาพเยอะมาก มีน้ำใจดีมาก เพียงแต่เราต้องเลือกใช้ให้ถูกที่ถูกเวลา ผมอยากให้บทเรียนตรงนี้เป็นบทเรียนที่อยู่ในใจคนไทยตลอดไป และให้คนไทยมีความสามัคคี เรียนรู้การแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ

คนไทยควรเรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์ถ้ำหลวง

ผมนึกถึงปัจจัยสองตัวสุดท้ายที่ผมบอกคือสิ่งสำคัญที่สุด เพราะถึงแม้ว่าคุณจะวางแผนดี ถึงแม้คุณจะมีเป้าหมายที่ดี ต่อให้หาเครื่องมือจากไหน หรือเลือกคนที่ดีมา แต่ถ้าไม่มีอาหารกิน ไม่มีความสามัคคี มาแล้วทะเลาะกัน คนนี้เก่งกว่า สื่อมวลชนไม่ยอมถอย ผมผลักดัน อาจจะเกิดดราม่า แต่สื่อมวลชนก็ยอมถอย ซึ่งตามกฎหมายผมสามารถผลักดันได้ กำหนดไม่ให้เข้าพื้นที่ เราไม่ได้ใช้กฎหมาย เราขอให้ทุกคนให้ความร่วมมือ และสื่อมวลชนให้เรา นี่คือสิ่งที่ดี และคือคีย์สำคัญที่ผมย้ำก็คือ ความสามัคคี การถ้อยทีถ้อยอาศัย ความเสียสละ การให้เกียรติ การรู้บทบาทซึ่งกันและกัน การที่ทุกคนอาสาโดยไม่หวังผลตอบแทน นี่คือข้อดีมากๆ ของสังคมไทยที่สังคมอื่นไม่มี

 

มองย้อนกลับไป อะไรเป็นปัญหาที่แก้ยากที่สุด หรือเป็นความผิดพลาดที่อยากกลับไปแก้ไข

ปัญหาหลักๆ คือเราแข่งกับเวลา ตัวแปรที่เราต้องสู้คือเวลา ทรัพยากรที่เราต้องสู้กับเขาคือธรรมชาติ ก็คือน้ำ แล้วเรารู้อยู่แล้วว่าเราเอาชนะธรรมชาติไม่ได้ น้ำเข้ามาทุกวัน เราคำนวณตามหลักวิชาการ การที่เด็กหายไปแล้วมีน้ำมากั้น น้ำตอนนั้น 270,000 ลูกบาศก์เมตร อยู่ในถ้ำ เราไม่สามารถทะลุไปได้เลย อีก 3-4 วัน เราสามารถยึดโถงได้หมด แต่น้ำก็ยังไล่มา ดันเราออกมาจนถึงปากถ้ำ น้ำมาอีก 310,000 ลูกบาศก์เมตร เพราะฝนตกอีก 3 วัน หน่วยซีลต้องถอยออกมาหมด รวมๆ แล้วเกือบ 6 แสนลูกบาศก์เมตร เราก็ต้องคิดว่าเราจะทำอย่างไรถึงจะสู้น้ำได้ เราก็ต้องไปสูบอีกหลายจุด เพื่อดึงน้ำออกไปให้ได้ ให้น้ำลด จนก่อนวันที่เราจะปฏิบัติการ น้ำลดไป 38 เซนติเมตร จนทำให้เราสามารถมีช่องเข้าไปได้

 

นั่นคือการทำงานที่ทุกคนต้องอดทน ทุกคนล้า เพราะต้องทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ความหวังก็ไม่ค่อยมี แต่ทุกคนรู้ว่าต้องทำ ถ้าไม่ทำก็ไม่มีโอกาส

 

วันนั้นปัญหาต่างๆ เช่น ออกซิเจนของน้องเหลือ 15% ซึ่งคนเราหายใจต้องใช้ 21% ซึ่งเราว่าไปตามหลักการเเพทย์ หากลดเหลือ 12% อาจช็อกได้ และถึงแม้จะมีออกซิเจนเติมเข้าไป แต่ในการหายใจ หากมันไม่สามารถแลกเปลี่ยนออกซิเจนกับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ คาร์บอนไดออกไซด์ก็จะอยู่ในเลือด ทำให้เลือดเป็นกรด เลือดเป็นพิษ ซึ่งอาจจะช็อกได้เหมือนกัน แล้วพื้นที่ที่น้องเขาอยู่มันเล็กมาก ไม่กี่ตารางเมตร ถ้าฝนตก น้ำมาอีก อะไรจะเกิดขึ้น ทุกอย่างมันกดดันหมด อีก 3-4 วัน พายุจะเข้า

 

สิ่งที่ต้องทำคือ ทำอย่างไรหากสูบน้ำออกได้แล้วแต่น้ำก็ยังไหลเข้า ก็คือต้องไปปิดช่องต่างๆ ไม่ให้น้ำเข้า การที่เราหาโพรงต่างๆ เพื่อจะเข้าไปในถ้ำ ผลพลอยได้ก็คือ เราสามารถปิดช่องน้ำใหญ่ๆ ได้ เราประเมินว่า น้ำเข้าถ้ำวันละ 4 หมื่น แต่เราปิดได้ 2.8-3 หมื่น ทำให้เหลือน้ำสบายๆ ที่เราจะสูบทิ้ง แล้วเราสูบน้ำไปลงไร่นาชาวบ้าน เขาก็ไม่บ่นเลย เราก็รับปากว่ารัฐจะชดเชยให้ บางคนประกาศว่าไม่เอา นี่คือความเสียสละของราษฎรที่ช่วยกัน โดยมีเป้าหมายคือต้องการเอาน้ำออก

 

ทุกคนเชื่อว่าน้องเขาจะออกมาได้ ทุกคนเชื่อเหมือนกันหมด ผมถึงบอกว่านี่คือข้อดี แล้วปัญหาอุปสรรคเราก็แก้กันไปทีละเปราะๆ

 

ตอนที่ปัญหามันหนักๆ รุมเร้า ความหวังริบหรี่ มีเหนื่อย ท้อ หรือเครียดบ้างไหม

มันมีตลอดเวลา มันเหมือนบ่าแบกอะไรไว้ แต่ในฐานะที่อยู่หน้างาน เราก็ต้องทำเต็มที่ ทุกคนทำเต็มที่ ไม่มีใครท้อถอยแม้แต่นาทีเดียว

การเรียนรู้ข้อบกพร่องของตนเอง คือการเรียนรู้ที่เร็วที่สุด แต่อย่าให้บกพร่องในสิ่งที่เรารับไม่ได้ ขอให้บกพร่องในสิ่งที่เรายังยอมรับมันได้

 

ปลุกใจอย่างไรให้ทุกคนรู้สึกว่าต้องลุกมาสู้กันต่อไป

ประโยคหนึ่งที่ผมพยายามจะพูดกับทุกคนเสมอว่า ให้คิดว่าเขายังอยู่ข้างใน เขาเป็นญาติเรา เป็นน้องเรา เป็นลูกเรา ทุกคนก็จะทำเต็มที่ ช่วยเต็มที่

 

มีหลายๆ คำพูดของท่านระหว่างปฏิบัติการนี้ถูกยกขึ้นมา เช่น “ใครไม่พร้อมช่วยเหลือก็ให้กลับบ้านไปนอนกับลูกกับเมีย” อันนั้นตั้งใจสื่อสารอะไร

มันเป็นเรื่องหนึ่งที่เหมือนคุณเห็นผมเล่นฟุตบอล เวลาฟุตบอลเราเสียเปรียบ บางทีมันก็ต้องมีคนเป็นโค้ช พักครึ่งเวลามันต้องไปไซโคลูกน้องเหมือนกัน มันก็เป็นเทคนิคครับ ส่วนมุมมองออกมาใครจะคิดอย่างไรก็แล้วแต่ทัศนคติแต่ละคน สำหรับผมก็เป็นการไซโคลูกน้อง เพื่อให้เขารู้ว่าเรายังห่างจากเป้าหมายกันอยู่มาก ถ้าเราไม่สู้เกมนี้เราอาจจะแพ้ ก็ต้องกระตุ้นให้ทุกคนกลับมาอยู่ในเกม มันเหมือนฟุตบอล คุณถูกนำอยู่สองต่อศูนย์ แต่มันไม่ได้หมายความว่าคุณจะแพ้ คุณยังมีเวลาอยู่อีกตั้ง 45 นาที ที่คุณจะสู้ได้ แต่ถ้าคุณเหยาะแหยะ แนวโน้มคือคุณแพ้แน่นอน เผลอๆ แพ้มากกว่าสองต่อศูนย์ แต่ถ้าเรากลับมา เราอาจจะกลับมาเสมอสองต่อสอง หรือยิงท้ายเวลา แล้วกลับมาชนะก็ได้ นั่นคือหลักของการกีฬา หลักจิตวิทยาที่เอามาใช้ไซโคกันบ้าง

 

คุยกันนอกรอบ ท่านผู้ว่าฯ บอกว่า ท่านให้คะแนนหลักการทำงานของท่านเต็มสิบ มีเคล็ดลับในการบริหารจัดการอยู่ 3 อย่าง อยากให้ท่านเล่าเคล็ดลับเหล่านั้น

มีคนถามผมว่า ในการทำงานรบกับเวลารบกับน้ำแล้วเราชนะได้อย่างไร ผมตอบว่า เราชนะใน 3 หลัก

 

  1. เราชนะในการบริหารจัดการ ซึ่งเรามีการวางแผนใช้ได้ตั้งแต่วันแรก แล้วเราก็ได้ทรัพยากรมาตามกำหนดเวลาเสมอ เราถือว่าเราชนะในการปฏิบัติการ
  2. องค์ความรู้ต้องหา ถ้าจำได้ มีประโยคหนึ่งที่คนพูดเสมอว่า เขาไม่เชื่อหรอกว่าเด็กยังปลอดภัยอยู่ ผมยังยืนยันว่าน้องเขาปลอดภัย และเขาจะอยู่ได้ 30 วัน เป็นความรู้ที่เราถามหมอมาหลายสิบคน หมอบางคนเอาสูตร เอาน้ำหนัก ความสูงของน้องๆ ไปคำนวณ เราจึงกล้ายืนยัน การชนะการสูบน้ำ การชนะการกันน้ำใช้หลักอุทกศาสตร์ หลักชลศาสตร์ หลักชลประทาน หลักอุตุนิยมวิทยา ใช้ทุกข้อมูลเพื่อมาคำนวณ ทุกศาสตร์ที่เกี่ยวกับวิศวกรรมศาสตร์ ด้านถ้ำ ด้านแผนที่ ด้านการคำนวณ เราเอามาใช้หมด อย่างการสูบน้ำที่ทุกคนมองว่าง่าย ดึงสายไฟกว่าจะต่อได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีความรู้ทุกๆ ศาสตร์
  3. เราต้องรู้ว่าจะใช้เครื่องมืออะไรถึงจะเหมาะสมที่สุด จะเห็นว่าเราใช้เครื่องมือสูบน้ำหรืออะไร แต่สุดท้ายเราได้ท่อซิ่ง ที่เราได้มาช่วยสูบอย่างรวดเร็ว มันเป็นศาสตร์ที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านของไทยที่เราต้องภาคภูมิใจ เพราะฉะนั้นเราถึงบอกว่า เราชนะในการหาอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ด้วย

 

การจัดการของท่านผู้ว่าฯ โรงเรียนสอนการจัดการระดับโลกอย่าง วอร์ตัน สคูล ยกให้เป็นเคสที่ประสบความสำเร็จ

มีบทความของ วอร์ตัน สคูล บอกว่า ระบบบริหารจัดการหน้าถ้ำหลวงเป็นระบบบริหารจัดการที่ประสบความสำเร็จมากๆ แล้วเขาก็จะส่งคนมาศึกษา คืออันนี้เป็นความภูมิใจของประเทศไทยที่ทุกทีมสามารถบริหารจัดการได้สำเร็จ เราเล่นดนตรีวงเดียวกัน

 

เหมือนท่านเกิดมาเพื่อสิ่งนี้ ทั้งด้านความรู้ การจัดการ เพื่อตอบโจทย์ภารกิจนี้

คือผมอยากบอกว่า ใครอยู่ในบทบาทนี้ก็ต้องทำได้ มันเป็นเรื่องที่ต้องทำ ต้องศึกษา ต้องหาความรู้ ถ้าเราขาดไป เราก็ต้องเติม

 

ส่วนตัวท่านเอง เรียนรู้อะไรจากภารกิจนี้ ได้ทักษะอะไรเพิ่มพูนเพื่อไปต่อยอดในงานอื่นๆ

ผมเชื่อว่าทุกคนรู้ว่าคนไทยมีศักยภาพเยอะมาก มีน้ำใจดีมาก เพียงแต่เราต้องเลือกใช้ให้ถูกที่ถูกเวลา ผมอยากให้บทเรียนตรงนี้เป็นบทเรียนที่อยู่ในใจคนไทยตลอดไป และให้คนไทยมีความสามัคคี เรียนรู้การแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ถามผมตรงๆ ผมไม่อยากให้มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นที่ไหนในโลกนี้หรอก ไม่อยากให้สังคมไทยหรือเมืองไทยเกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก แต่ถ้ามีเหตุขึ้นมา ผมเชื่อว่าในอนาคต คนไทยแก้ปัญหานี้ได้ ด้วยระบบที่เราวางไว้ เราเรียนรู้แล้วว่าเราจะบริหารอย่างไร เรามีคีย์ที่จะจัดการ และเรามีความสามัคคีเพียงพอ

 

สิ่งหนึ่งที่ผมมักจะพูดอยู่ตลอดเวลาคือ สังคมไทยเราโชคดี เรามีความแข็งแกร่งของสถาบันหลักของชาติทั้งสามสถาบัน ทั้งสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ สามสถาบันนี้เป็นหลักให้สังคมไทยตลอดมา และสามสถาบันนี้เป็นหลักให้กับการปฏิบัติงานในหน้างานด้วย ท่านจะเห็นผมให้สัมภาษณ์ในหลายๆ ครั้ง จะกล่าวถึงสามสถาบันทั้งหมด ซึ่งเป็นสามสถาบันซึ่งมีคุณประโยชน์ เป็นเหมือนกับปกเกล้าให้เราทำงานสำเร็จ นี่คือสามสถาบันหลักที่ทำให้สังคมไทยมั่นคงจนถึงทุกวันนี้ได้ เพราะฉะนั้นผมถือว่าสามสถาบันหลักนี้คือจุดแข็งของสังคมไทย

 

 

ถ้าอยากจะเรียนรู้จากท่าน วิธีการบริหารจัดการแบบท่าน จะเริ่มเรียนรู้ได้อย่างไร อยากจะถอดบทเรียนจากท่านไปใช้ มีคำแนะนำอย่างไร

ผมมองว่ามันเป็นประสบการณ์มากกว่า สิ่งสำคัญสำหรับทุกคนในการปฏิบัติงานก็คือ การฝึกให้พร้อม ความสำเร็จอันนี้คือการฝึก เวลาเราไปปฏิบัติงานให้สำเร็จ เพราะเราฝึกซ้ำแล้วซ้ำเล่า ฝึกจนไม่มีข้อบกพร่อง ไม่มีความเสียหาย นั่นคือสิ่งสำคัญ การจะทำงานสำเร็จหรือไม่ ส่วนหนึ่งก็คือประสบการณ์ที่เราสั่งสมมา หรือบางอย่างต้องฝึก การจะตัดสินใจงานที่สำคัญบางอย่างต้องอ่านให้เยอะๆ ต้องเรียนรู้ให้เยอะๆ ต้องศึกษาจากคนอื่น ศึกษาจากโมเดลที่สำเร็จ แล้วเอามาดูว่าเป็นอย่างไร ถ้าตัดสินใจแบบนี้ บวกคืออะไร ลบคืออะไร เลวร้ายที่สุดคืออะไร ในการตัดสินใจมีหลักการตัดสินใจ จะดูว่าเลวร้ายที่สุดคืออะไร เรารับได้ไหม ถ้าเรารับได้กับสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด เราก็ปฏิบัติได้ แต่ถ้าเกิดสิ่งที่เลวร้ายที่สุด เรายังรับไม่ได้ เราก็ต้องไปฝึกเพิ่มเติม ไปหาคนเก่งมาเพิ่มเติม เพื่อปิดช่องของความเลวร้ายที่สุด ให้อยู่ในความเสี่ยงที่เรารับได้ แล้วเราก็ตัดสินใจไปตามนั้น

 

เคยผ่านความผิดพลาดมาก่อนไหม ก่อนที่จะมาเป็นผู้ว่าฯ ที่แข็งแกร่งในวันนี้

เยอะแยะ คนเราต้องผ่านการเรียนรู้ด้วยข้อบกพร่อง การเรียนรู้ข้อบกพร่องของตนเอง คือการเรียนรู้ที่เร็วที่สุด แต่อย่าให้บกพร่องในสิ่งที่เรารับไม่ได้ ขอให้บกพร่องในสิ่งที่เรายังยอมรับมันได้ นั่นแหละคือสิ่งที่เราเรียนรู้จากมัน

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising