×

ไขความกระจ่างเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท “คิดได้ไงว่าเพื่อไทยตั้งใจให้เรื่องถูกตีตก”

15.11.2023
  • LOADING...
เงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท

หลังจากเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (10 พฤศจิกายน) เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาประกาศถึงเงื่อนไขการใช้งานและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเงินดิจิทัล 10,000 บาท ทำให้เกิดกระแสเป็นวงกว้างจากประชาชน นักการเมือง และบรรดานักวิชาการที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมในรายละเอียดของนโยบายดังกล่าว

 

วันที่ 13 พฤศจิกายน เผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ THE STANDARD NOW ดำเนินรายการโดย อ๊อฟ-ชัยนนท์ หาญคีรีรัตน์ เพื่อไขความกระจ่างในหลายประเด็นที่ประชาชนสงสัย

 

เงื่อนไขหรือเกณฑ์การใช้เงิน

 

เผ่าภูมิระบุว่า ต้องมีรายได้ต่อเดือนไม่ถึง 70,000 บาท และมีเงินฝากไม่เกิน 500,000 บาท โดยการนับจำนวนรายได้ต่อเดือนจะวัดจากรายได้ในปี 2566 ที่ยื่นให้สรรพากร (รัฐบาลจะทราบยอดได้ช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2567) ซึ่งจะรวมทั้งฐานเงินเดือน เงินโบนัส และทุกๆ สิ่งที่เกี่ยวข้อง

 

อย่างไรก็ตาม ขอชี้แจงว่าไม่ได้ต้องการตัดเงินคนรวย แต่ต้องการตัดเงินคนที่มีแนวโน้มการใช้จ่ายหรือกระตุ้นเศรษฐกิจต่ำ  

 

ขณะที่เงินฝาก มีแนวโน้มสูงที่จะตัดยอดสรุปเงินฝาก ณ วันที่เศรษฐาประกาศโครงการ (10 พฤศจิกายน) หรืออาจสรุปจากการประกาศของเศรษฐาในครั้งต่อไป แต่ยืนยันว่าการสรุปยอดเงินฝากของแต่ละคนจะทราบผลก่อนวันเริ่มโครงการแน่นอน

 

ฉะนั้นคงไม่คุ้มที่จะรีบถอนหรือโยกย้ายเงินฝาก ณ ตอนนี้ ต่อให้จะประกาศโครงการในอนาคตก็ไม่คุ้มค่าที่จะทำเรื่องดังกล่าวเช่นกัน เพราะอาจมีการย้อนวันเริ่มตัดยอดบัญชีเงินฝากอยู่ดี

 

ใช้ได้แค่สินค้าอุปโภค-บริโภค แต่ไม่รวมภาคบริการ

 

สินค้าอุปโภค-บริโภคมีห่วงโซ่การผลิตที่ยาวนานกว่าภาคบริการ เนื่องจากโจทย์ของนโยบายนี้คือต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งสินค้าบริการ เช่น สปา ร้านตัดผม ฯลฯ มีห่วงโซ่การผลิตที่สั้นและไม่ได้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจมากพอ

 

ส่วนน้ำมันกับเชื้อเพลิงคือสินค้าที่ต้องนำเข้าหรือต้องจ่ายเงินออกนอกประเทศ เช่นเดียวกับทองคำที่เปรียบเหมือนซื้อไว้รอเก็งกำไร ไม่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจแต่อย่างใด

 

ขณะที่สินค้าอบายมุข, จ่ายค่าเล่าเรียน, ค่าโทรศัพท์, ค่าไฟ และค่าน้ำ เป็นสิ่งที่เสมือนการใช้หนี้ เช่น หากชำระค่าไฟเข้ารัฐบาล ก็จะทำให้หมดวงรอบของการกระตุ้นเศรษฐกิจทันที

 

อาจขยายเวลาการใช้งานเป็น 9 เดือน

 

เผ่าภูมิระบุว่า รัฐบาลมีความคิดที่จะขยายกรอบเวลาการใช้เงินดิจิทัล 10,000 บาทจาก 6 เดือนเป็น 9 เดือน เนื่องจากประชาชนหลายคนกังวลว่าวันที่เริ่มเปิดใช้งาน (เดือนพฤษภาคม 2567) อาจไม่สามารถใช้งานได้ทัน เพราะเป็นช่วงเวลาที่หลายคนยังไม่ได้เดินทางกลับบ้าน 

 

ดังนั้น หากขยายเวลาได้จะทำให้ประชาชนสามารถใช้เงินดังกล่าวช่วงเทศกาลปีใหม่หรือสงกรานต์ ซึ่งคงต้องรอพูดคุยในที่ประชุมคณะกรรมการเงินดิจิทัลฯ ต่อไป

 

เหตุผลการออกร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน เพื่อแจก 10,000 บาท

 

เผ่าภูมิกล่าวว่า ตอนนี้มีหลายคนกำลังคิดว่าพรรคเพื่อไทยออกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน 5 แสนล้านบาท สำหรับใช้ในนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท โดยให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความก่อนส่งสภานั้น เพราะทราบอยู่แล้วว่า พ.ร.บ. นี้อาจไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภา

 

“วินาทีแรกที่ได้ยินรู้สึกตกใจและผิดหวัง การที่รัฐบาลปรับเงื่อนไขและถอยออกมา เพราะเราต้องการให้เดินต่อไปได้ ถ้าสมมติว่ารู้อยู่แล้วว่า พ.ร.บ.กู้เงิน ถูกตีตกแน่ๆ ฉะนั้นขอแจกเงิน 10,000 บาทแบบถ้วนหน้า แล้วให้เรื่องถูกตีตกจะดีกว่าไหม ยืนยันว่าไม่ได้อยู่ในความคิด คิดได้อย่างไรว่าตั้งใจให้เรื่องถูกตีตก” เผ่าภูมิกล่าว

 

เผ่าภูมิกล่าวอีกว่า เหตุผลของการใช้ พ.ร.บ.กู้เงิน มี 3 ประการ แบ่งเป็น 2 เหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ คือ 1. เป็นเงินใหม่เพื่อนำมาใช้ในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจสูงกว่าเงินที่ตัดจากงบประมาณ 

 

และ 2. พ.ร.บ.กู้เงิน ทางเศรษฐศาสตร์จะต้องมี พ.ร.บ.เงินตรา ซึ่ง ณ วินาทีแรกของการเริ่มโครงการจะต้องมีเงินมาสนับสนุนในทุกๆ การใช้จ่าย

 

ด้านเหตุผลทางกฎหมายคือ GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) เกิดก่อนภาระหนี้ที่รัฐบาลต้องจ่ายในปลายทางโครงการ หรือกล่าวง่ายๆ คือ ต้องตัดงบประมาณตาม พ.ร.บ.เงินตรา เพราะต้องนำมาใช้งานหรือเป็นวงเงินที่รอไว้ทันที ซึ่งจะเกิดค่าเสียโอกาสทางการเงิน ฉะนั้นการใช้ พ.ร.บ.กู้เงิน จะช่วยให้มีวงเงินสำรองในโครงการดังกล่าว

 

หากมองว่า “ประเทศไม่วิกฤตก็ไม่เป็นไร”

 

ทั้งนี้ เผ่าภูมิฝากถึง ศิริกัญญา ตันสกุล สส. บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่พูดถึงว่าประเทศวิกฤตเพียงพอหรือไม่ที่จะดำเนินการนโยบายนี้ว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีอัตราการเติบโตของ GDP ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาเพียงร้อยละ 2 

 

“หากคุณศิริกัญญามองว่า GDP ต้องติดลบก่อนถึงจะวิกฤตก็ไม่เป็นไร ตอนนี้รายได้ของ GDP เติบโตร้อยละ 2 แต่รายจ่ายโดยเฉพาะผู้สูงอายุเติบโตร้อยละ 4 ฉะนั้นพรรคเพื่อไทยบอกอยู่เสมอว่าต้องทำเศรษฐกิจให้โตขึ้นให้ได้ ซึ่งการมองวิกฤตทางเศรษฐกิจไม่สามารถมองจากตัวเลขอย่างเดียว แต่ต้องมองว่าหากไม่ทำอะไรตอนนี้แล้วประเทศจะเกิดอะไรขึ้น” เผ่าภูมิกล่าว

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X