×

ภคมน ก้าวไกล จัดหนักงบประชาสัมพันธ์ 3 พันล้าน มีงานซ้ำซ้อน จับตางบงอก รัฐไทยแปลงร่างหน่วยงานเป็นเครื่องมือทางการเมืองตอบโต้คู่แข่ง

โดย THE STANDARD TEAM
21.06.2024
  • LOADING...

วันนี้ (21 มิถุนายน) ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (สมัยวิสามัญ) เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 วงเงิน 3.75 ล้านล้านบาท ในวาระแรก วันสุดท้าย 

 

ภคมน หนุนอนันต์ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายถึงงบประมาณการประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ ซึ่งมีงบประมาณรายจ่ายในปี 2568 มูลค่า 2,945 ล้านบาท ซึ่งแบ่งการประชาสัมพันธ์ออกเป็น 2 แบบ คือ 

 

  1. การโฆษณาประชาสัมพันธ์ทางตรง ที่สามารถเข้าใจได้ทันทีว่างบประมาณในส่วนนี้เพื่อโฆษณาและการประชาสัมพันธ์ 

 

  1. เป็นโครงการที่ไม่ได้เจาะจงอย่างชัดเจน โดยมีการซ่อนคีย์เวิร์ดที่ต้องพิจารณาจากรายละเอียดวัตถุประสงค์ภายในโครงการ 

 

ภคมนกล่าวต่อว่า งบประมาณการประชาสัมพันธ์ของภาครัฐที่ตนเองมาอภิปรายในวันนี้มีโครงการที่ใช้งบประมาณที่ซ้ำซ้อนมากถึง 662 ล้านบาท ซึ่งมีหลายกระทรวงดำเนินการเหมือนกัน แม้รายละเอียดของโครงการอาจไม่ต่างกันมากนัก แต่วัตถุประสงค์ไม่ต่างกันเท่าไรนัก หากรัฐบาลมีการพูดคุยกัน เราคงไม่ต้องจ่ายงบประมาณ 662 ล้านบาทเพื่อดำเนินการโครงการที่มีความซ้ำซ้อนกันในลักษณะนี้

 

ภคมนยืนยันว่าตนเห็นความจำเป็นที่กระทรวงจะต้องมีโครงการประชาสัมพันธ์ เพื่อสื่อสารให้ประชาชนได้รับรู้และรับทราบข่าวสาร โดยยกตัวอย่างกรณีคลิปของอินฟลูเอ็นเซอร์ท่านหนึ่งที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับทหารชายแดนจนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่า นี่เป็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของกองทัพหรือกระทรวงกลาโหมหรือไม่ พร้อมชวนตั้งคำถามว่า สุดท้ายแล้วจะเห็นงบประมาณก้อนนี้ถูกนำมาใช้ในลักษณะเดียวกันนี้อีกหรือไม่ และขอตั้งคำถามว่า โครงการประชาสัมพันธ์ในลักษณะนี้ประชาชนได้ประโยชน์จริงๆ หรือไม่ หรือใครกันแน่ที่ได้ประโยชน์

 

ส่วนหน่วยงานที่ไม่ได้มีภารกิจเพื่อการประชาสัมพันธ์โดยตรงอย่างศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมที่ได้รับงบกว่า 68 ล้านบาท แต่ผลงานที่ผ่านมากรณีการพิสูจน์ข่าวผลงานรัฐบาลข่าวหนึ่งว่าเป็นข่าวจริงหรือไม่ ซึ่งเมื่อตรวจสอบแล้ว สุดท้ายก็เป็นข่าวจริง แต่เลือกที่จะไม่เผยแพร่ เพราะให้เหตุผลว่าเป็นผลดีต่อรัฐบาล

 

ล่าสุดศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมก็ยังทำหน้าที่แก้ข่าวให้กับพรรคการเมืองอย่างพรรคเพื่อไทย ทั้งที่พันธกิจของกรมประชาสัมพันธ์คือ ต้องเป็นกลางและเป็นอิสระ มุ่งเน้นประโยชน์ต่อประชาชน ขนาดรัฐบาลที่แล้วยังไม่กล้าใช้ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมในการแก้ข่าวให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเลย ขณะที่ข่าวที่ดูจะไม่ค่อยมีใครสนใจเท่าไร หนำซ้ำยังดูเป็นข่าวที่เก่าไปแล้ว แต่เรากลับเห็นท่าทีที่แข็งขันของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมออกมาแก้ข่าวให้กับพรรคการเมือง พรรคการเมือง มีโฆษกประจำพรรคอยู่แล้ว ก็ให้เขาทำงาน

 

หากจะบอกว่าจำเป็นต้องตรวจสอบ ก็ลองเปรียบเทียบกับข่าวของซูเปอร์มาร์เก็ตชื่อดังที่แจกคูปองเงินสดมูลค่า 1,500 บาท ซึ่งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมไปตรวจสอบ แต่เมื่อตรวจสอบว่าเป็นข่าวปลอม ก็ตัดสินใจที่จะเผยแพร่ออกสู่เว็บไซต์ แต่กลับไม่ปรากฏชื่อ แล้วประชาชนจะรู้ได้อย่างไรว่าเขาต้องระวังอะไรหรือระวังห้างไหน

 

“อันที่ดูจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนก็เซ็นเซอร์เสียมิดชิด อันที่ดูจะไม่ใช่ความเดือดร้อนของประชาชนก็แข็งขันทำหน้าที่ นับวันจะเปลี่ยนจากหน่วยงานรัฐกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองเข้าไปทุกวัน”

 

ภคมนกล่าวอีกว่า ในงบประมาณปี 2568 กรมประชาสัมพันธ์ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีคำของบประมาณ 2,496 ล้านบาท ได้ของบประมาณทั้งสิ้น 305 ล้านบาท เพิ่มจากปีก่อน 82 ล้านบาท กรมประชาสัมพันธ์ในฐานะที่มีสถานีวิทยุและโทรทัศน์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีบุคลากรมากที่สุด แต่เมื่อเทียบผลงานกับสื่อออนไลน์เล็กๆ กลับสู้ไม่ได้เลย นอกจากนี้ยังเฝ้าติดตามว่างบ 82 ล้านบาทที่เพิ่มเข้ามาจะไปงอกในส่วนไหน มีความเกี่ยวข้องกับโครงการทีวีซอฟต์พาวเวอร์หรือไม่ 

 

ภคมนกล่าวต่ออีกว่า ที่ตนเองอภิปรายเกี่ยวกับงบประมาณการประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลทั้งระบบนั้น เราต้องหาพันธกิจหลักในการใช้งบประมาณในก้อนนี้ให้ได้ว่างบประมาณส่วนนี้ดำเนินการอย่างไร เป็นการแก้ต่างตอบโต้ฝ่ายตรงข้ามเพื่อสร้างความนิยมให้กับรัฐบาล หรือการสื่อสารประชาสัมพันธ์โครงการภารกิจของรัฐให้กับประชาชนได้รับทราบ 

 

แต่ขณะนี้กรมประชาสัมพันธ์กำลังประสบปัญหาที่พยายามใช้บทบาทของตนเองเพื่อเป็นปากเป็นเสียงทางการเมืองให้กับรัฐบาลมากกว่า การมุ่งเน้นงานด้านการสื่อสาร ใช้ช่องทางการสื่อสารของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ โทรทัศน์ หรือสื่อออนไลน์ที่มีความนิยมต่ำเตี้ยเรี่ยดิน สู้ใครไม่ได้ ต้องทำงานของตัวเองให้ดี และตั้งเป้าที่จะสื่อสารโครงการของภาครัฐให้เต็มที่ หากเราทำงานได้ดี เชื่อว่าสุดท้ายแล้วประชาชนก็กลับมาดู เพราะเป็นการสื่อสารสิทธิประโยชน์โดยตรงของประชาชน 

 

ภคมนได้เสนอ 3 แนวทาง ดังนี้ 

 

  1. ปิดช่องโหว่งบประมาณ ไม่ให้ถูกนำไปใช้เพื่อประโยชน์กับบุคคลและพวกพ้อง โดยรัฐบาลควรออกระเบียบ สปน. ให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติและกำหนดว่างานประชาสัมพันธ์ต้องเป็นไปเพื่อการประชาสัมพันธ์โครงการหรือผลงานของหน่วยงานเท่านั้น ห้ามไม่ให้ใช้เพื่อการโฆษณาตัวผู้บริหาร หน่วยงาน ทั้งรัฐมนตรี อธิบดี และหัวหน้าหน่วยงาน ต้องเป็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์เฉพาะเรื่องที่อยู่ในอำนาจที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของประชาชนเท่านั้น

 

รวมถึงต้องมีข้อความกำกับว่า ดำเนินการโดยใช้เงินส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานใดเป็นผู้รับผิดชอบ ต้องไม่มีข้อความ ภาพ เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ของพรรคการเมืองใดๆ เพื่อลดความได้เปรียบและเสียเปรียบทางการเมือง และห้ามใช้เงินหลวงในการโปรโมต สร้างความนิยม และสร้างภาพลักษณ์ให้กับตนเอง

 

  1. เพื่อลดการซ้ำซ้อนของงบประมาณ จากรายงานพบว่า ในปี 2558-2565 พบหน่วยงาน 3 แห่งที่มีโครงการมูลค่าสูงกว่ากรมประชาสัมพันธ์ ได้แก่ กรมการปกครอง สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และกรมส่งเสริมการเกษตร พร้อมยกตัวอย่างคณะกรรมการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ ที่มี สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน มี จิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้กำกับดูแล ว่าควรใช้กรรมการชุดนี้ให้เกิดประโยชน์ 

 

โดยให้ระบุในแผนงานว่า งานสื่อสารภาพลักษณ์และนโยบายหลักของรัฐบาลในภาพรวมที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นประชาชนทั่วไป ควรให้กรมประชาสัมพันธ์เป็นผู้รับผิดชอบหลัก เพราะถือเป็นการสื่อสารนโยบายของรัฐ ส่วนหน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงที่มีกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ ก็ให้หน่วยงานนั้นรับผิดชอบไป ย้ำว่าเรื่องนี้สามารถดำเนินการได้เลย

 

  1. เพื่อให้งบโปร่งใสทั้งระบบ ควรแก้พระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เพื่อกำหนดกรอบหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน นิยามค่าใช้จ่ายและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างการโฆษณาประชาสัมพันธ์ รวมถึงกำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องมีแผนแยกออกมา เพื่อให้สาธารณชนสามารถมองเห็นและตรวจสอบได้อย่างชัดเจน ต้องมีการกำหนดมาตรฐานราคากลางของสื่อดิจิทัล เนื่องจากในขณะนี้ยังไม่มีหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบความคุ้มค่า จึงทำให้ไม่สามารถลงโทษได้ หากพบผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามวินัยการเงินการคลัง

 

“ด้วยความปรารถนาดีและคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาลและรัฐมนตรีที่กำกับดูแลกรมประชาสัมพันธ์จะทำให้งบประชาสัมพันธ์โปร่งใส เลิกซุก และเลิกซ่อน การสื่อสารเป็นเพียงทาง ซึ่งต้นทางของการสื่อสารจะทำให้ได้ผลคือ การมีฝีมือในการบริหารราชการแผ่นดินและมีความสง่างามทางการเมือง” ภคมนกล่าว 

 

ภาพ: ณาฌารัฐ​ ภักดีอาสา

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X