“ผมเชื่อว่าในอีกประมาณ 18 เดือนข้างหน้า ราคาน้ำมันมีโอกาสจะแตะ 100 ดอลลาร์” เป็นคำพูดที่ นากิบ สวิริส ซีอีโอของ Orascom Investment Holding เคยให้สัมภาษณ์ผ่านรายการโทรทัศน์ของ CNBC ไว้เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่ผ่านมา
ในเวลานั้นราคาน้ำมัน (WTI) อยู่ที่ประมาณ 25 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ผ่านมา 1 ปีนับจากวันนั้น ราคาน้ำมันได้ทะยานขึ้นมาแตะ 69 ดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้น 176%
เหตุผลสนับสนุนหลักที่นากิบกล่าวไว้ในเวลานั้นคือ เชลล์ออยล์จะหายไปอย่างน้อย 1 ปี และการจะกลับมาเดินหน้าธุรกิจอีกครั้งจะทำได้ยากขึ้น เพราะธนาคารจะลังเลในการปล่อยสินเชื่อด้วยความเสี่ยงที่มากขึ้น
นากิบเชื่อว่าโลกจะกลับมาเติบโตอีกครั้ง แม้ว่าจะต้องเผชิญกับภาวะถดถอยตอนนี้ และเมื่อความต้องการใช้น้ำมันกลับมาอีกครั้ง ปริมาณน้ำมันจะไม่เพียงพอต่อความต้องการหลังจากที่หน่วยผลิตหลายแห่งปิดตัวลงไป และเมื่อนั้นราคาน้ำมันจะพุ่งขึ้นไปสูงมาก
กระแสของความคาดหวังว่าเราจะเห็นราคาน้ำมันกลับไปแตะระดับ 100 ดอลลาร์ ค่อยๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามระดับราคาที่ไต่สูงขึ้นมาเรื่อยๆ ครั้งสุดท้ายที่ราคาน้ำมันยืนอยู่ในระดับ 100 ดอลลาร์ ต้องย้อนกลับไปช่วงปี 2011-2014
ในมุมของฝ่ายที่เชื่อว่าราคาน้ำมันยังมีโอกาสจะขยับสูงขึ้นไปได้มากกว่าอย่าง Bank of America ระบุว่า การฟื้นตัวของราคาน้ำมันในช่วง 3 ปีถัดจากนี้ จะเป็นการฟื้นตัวด้วยอัตราเร่งที่มากที่สุดนับแต่ทศวรรษ 70 ทั้งนี้ คาดว่าในช่วง 5 ปีข้างหน้า ราคาน้ำมัน (Brent) เฉลี่ยจะอยู่ระหว่าง 50-70 ดอลลาร์
ทั้งนี้ Bank of America เชื่อว่า การฟื้นตัวได้ช้าของเชลล์ออยล์และเสถียรภาพของราคาน้ำมันดูเหมือนจะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ OPEC+
สอดคล้องกับมุมมองของ จักรพงศ์ เชวงศรี ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่า ราคาน้ำมันในรอบนี้จะไปต่อหรือไม่ขึ้นอยู่กับนโยบายของ OPEC+ เป็นสำคัญ
ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นรอบนี้เป็นผลจากนโยบายของ OPEC+ ซึ่งตัดสินใจจะควบคุมซัพพลายไว้ หากดูความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกช่วงก่อนโควิด-19 อยู่ที่ 100 ล้านบาร์เรลต่อวัน ก่อนจะลดลงไปเหลือ 90.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วงพีกของโควิด-19
ส่วนปีนี้คาดว่าจะกลับมาที่ 96.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ OPEC+ ตัดสินใจลดซัพพลายลงไปก่อนหน้านี้ถึง 9 ล้านบาร์เรลต่อวัน และปัจจุบันการลดกำลังการผลิตของ OPEC+ จะอยู่ที่ 5.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน (รวมการปรับเพิ่มกำลังการผลิตจากการประชุมรอบล่าสุดแล้ว)
“จะเห็นว่าดีมานด์หายไปจากระดับปกติเพียง 3.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่ซัพพลายถูกตัดออกไป 5.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน หากถามว่าราคาน้ำมันจะไปถึง 100 ดอลลาร์หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของ OPEC+ หลังจากนี้ รวมถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น การกระจายวัคซีน”
โดยปกติแล้วความต้องการใช้น้ำมันจะสูงสุดที่ไตรมาส 4 ของทุกปี ทำให้มีโอกาสที่ซัพพลายจะน้อยกว่าดีมานด์ได้สูงถึง 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน หาก OPEC+ ยังคงนโยบายคล้ายกับปัจจุบัน
“ส่วนตัวมองว่าราคาน้ำมันน่าจะขึ้นไปสุดๆ ที่ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หากย้อนไปมองในอดีตที่ราคาน้ำมันเคยแตะระดับ 80 ดอลลาร์ จะเริ่มมีความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจออกมา เพราะราคาน้ำมันที่สูงเกินไปบนเศรษฐกิจที่ยังไม่พร้อม อาจกลับมาทำร้ายเศรษฐกิจได้”
ประกอบกับ OPEC+ อาจไม่จำเป็นต้องปล่อยให้ราคาน้ำมันสูงขนาดนั้น เพราะหากดีมานด์ฟื้นกลับมา กลุ่มผู้ผลิตอาจจะต้องการปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ OPEC+ เปิดเผยผ่านการประชุมล่าสุดว่า จะรอดูความชัดเจน 2 ประเด็นสำคัญ คือ
1. สถานการณ์โควิด-19 ในอินเดีย
2. การเจรจายกเลิกการคว่ำบาตรของอิหร่าน
ซึ่งหากชัดเจนแล้วอาจมีการทยอยปรับเพิ่มกำลังการผลิต
“หากราคาน้ำมันจะขึ้นไปต่อได้ถึงระดับ 80 ดอลลาร์ น่าจะต้องเห็นในช่วงกลางไตรมาส 3 หรือไตรมาส 4 นี้ เพราะเป็นช่วงพีกของความต้องการใช้ ส่วนโอกาสที่ราคาจะลงไปต่ำกว่า 60 ดอลลาร์ น่าจะเกิดขึ้นได้ยาก เพราะซัพพลายยังต่ำกว่าดีมานด์ โดยเฉพาะเชลล์ออยล์ที่ผู้เล่นรายเล็กหายไปเยอะ และรายใหญ่ยังคงรอให้แน่ใจก่อนเพิ่มการผลิต”
ในขณะเดียวกันก็มีอีกฝั่งมุมมองที่ประเมินว่าราคาน้ำมันในระดับปัจจุบันค่อนข้างเหมาะสมกับภาวะในตอนนี้แล้ว
อย่าง บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า แนวโน้มราคาน้ำมันดิบน่าจะแกว่งตัวออกข้าง (Sideways) ในกรอบสูงที่ 67-72 ดอลลาร์ โดยการประชุม OPEC+ เห็นชอบกับการค่อยๆ ปรับขึ้นกำลังการผลิตของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันตามมติการประชุมเดือนเมษายน สะท้อนความมั่นใจของกลุ่มต่อการเพิ่มขึ้นของดีมานด์พลังงานโลก เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ดี เรามองราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นต่อเนื่องในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา และราคากลับมาใกล้เคียงปลายปี 2019 โดยตลาดน่าจะซึมซับประเด็นการกลับสู่สภาวะปกติของดีมานด์น้ำมันดิบไปมากแล้ว อาจเกิดแรงขายทำกำไร ทำให้ราคาพักตัวได้
ขณะที่รายงานของสำนักบริหารสารสนเทศพลังงานของสหรัฐอเมริกา (EIA) ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมา คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันเฉลี่ยของทั้งปี 2021 อยู่ที่ 58.91 ดอลลาร์ ขณะที่ปี 2022 คาดว่าราคาเฉลี่ยจะลดลงเหลือ 56.99 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับที่เท่ากับเมื่อปี 2019
หนึ่งในประเด็นที่ต้องจับตาคือ ความแตกต่างของการฟื้นตัวของดีมานด์ในแต่ละพื้นที่ อย่างในสหรัฐฯ จะเห็นว่าดีมานด์ฟื้นตัวได้เร็วหลังจากการกระจายวัคซีนและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมา ขณะที่ดีมานด์ในพื้นที่อย่างอินเดียลดลงไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน
อ้างอิง: