เกิดอะไรขึ้น:
ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมียังปรับตัวขึ้นต่อเนื่องในสัปดาห์นี้ โดยเฉพาะกลุ่มโอเลฟินส์ หลังจากการผลิตในสหรัฐฯ ที่หายไปและการหยุดซ่อมบำรุงโรงงานในภูมิภาคเอเชีย ขณะที่อุปสงค์ทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
กลุ่มโอเลฟินส์: ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ PE/PP ปรับตัวขึ้นโดยเฉลี่ย 7%WoW ทำจุดสูงสุดในรอบเกือบ 6 ปีที่ระดับ 842 USD/ton โดยได้ปัจจัยสนับสนุนจากอุปทานที่ลดลงของ HDPE และ LLDPE ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ PE หลักในสหรัฐฯ ซึ่งโรงงานได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นจัด และต้องระงับการผลิตตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งโรงงานเหล่านี้คาดว่าจะทยอยกลับมาดำเนินงานตามปกติในเร็วๆ นี้
กลุ่มอะโรเมติกส์: ส่วนต่างราคา PX และเบนซินปรับตัวลดลง 3%WoW และ 6%WoW ซึ่งสะท้อนจากอุปสงค์ที่เริ่มชะลอตัวลงจากผู้ผลิตปลายน้ำซึ่งได้รับแรงกดดันจากต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้มาร์จินโอเลฟินส์ที่สูงขึ้นกระตุ้นให้ Steam Cracker ในเอเชียเพิ่มอัตรากำลังการผลิต ส่งผลให้อุปทานผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ปรับตัวเพิ่มขึ้น
ขณะที่ส่วนต่างราคา Integrated PET/PTA เพิ่มขึ้น 11%WoW สู่ระดับ 359 USD/ton สูงสุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563
กระทบอย่างไร:
ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม 2564 ราคาหุ้นกลุ่มปิโตรเคมี (SETPETRO) ปรับตัวขึ้น 9.29%MTD นำโดยราคาหุ้น บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL) ปรับตัวขึ้น 17.09%MTD สู่ระดับ 46.25 บาท และราคาหุ้น บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ปรับตัวขึ้น 5.58%MTD สู่ระดับ 66.25 บาท (ข้อมูล ณ วันที่ 18 มีนาคม 2564)
มุมมองระยะสั้น:
SCBS มองว่าอุปทานของกลุ่มโอเลฟินส์ในภูมิภาคจะยังคงตึงตัวจนกว่าการผลิตในสหรัฐฯ จะกลับสู่ระดับปกติ และจะทำให้ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ในกลุ่มโอเลฟินส์จะค่อยๆ ปรับตัวลดลงสู่ระดับที่ยั่งยืนมากขึ้น ขณะที่กลุ่มอะโรเมติกส์ SCBS มองว่า Downside น่าอยู่ในระดับที่จำกัด เนื่องจากมีแรงหนุนจากเซนทิเมนต์บวกในตลาด PX ที่ได้แรงขับเคลื่อนจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากโรงงาน PTA แห่งใหม่
สำหรับมุมมองต่อ Integrated PET/PTA ในระยะสั้น SCBS เชื่อว่าผู้ซื้อจะเจรจาต่อรองเพื่อขอลดราคา PET (ปัจจุบันอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 22 เดือน) ในสัปดาห์ถัดไป เพื่อสะท้อนต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลง แม้ทิศทางอุปสงค์จะปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกในช่วงฤดูร้อน
ทั้งนี้ ในระยะสั้นต้องติดตามทิศทางอุปทานหลังจากโรงงานในสหรัฐฯ จะเริ่มทยอยกลับมาดำเนินการผลิตในเร็วๆ นี้ รวมถึงอุปสงค์ทั่วโลกที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง
มุมมองระยะยาว:
SCBS มองว่าในปี 2564 ภาพรวมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจะมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่น่าจะลดลงหลังจากการเปลี่ยนประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งทำให้กระแสการค้ากลับมาปกติมากขึ้น
โดยผลิตภัณฑ์กลุ่มโอเลฟินส์จะมีแนวโน้มฟื้นตัวตามอุปสงค์บรรจุภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นตามสินค้าอุปโภคและบรรจุภัณฑ์สำหรับการซื้อสินค้าออนไลน์ แต่ยังมีความเสี่ยงจากกำลังการผลิตใหม่ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะกดดันให้ผู้ผลิตที่ต้นทุนสูงลดอัตราการใช้กำลังการผลิตลง
ผลิตภัณฑ์กลุ่มอะโรเมติกส์จะได้รับแรงกดดันจากอุปทานส่วนเกิน โดยเฉพาะ PX ที่จะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ขณะที่อุปสงค์ในสายโพลีเอสเตอร์ยังคงอ่อนแอ
ขณะที่อุปสงค์ในกลุ่ม PET จะฟื้นตัวได้ดีใน 1H64 ตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในญี่ปุ่นช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2564
ในภาพระยะยาว SCBS มองว่าอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจะเกิดการควบรวมเพื่อความอยู่รอดและการประหยัดต่อขนาดมากขึ้น รวมถึงเป็นการขยายผลิตภัณฑ์ในแนวตั้งสู่สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ภาพรวมอุตสาหกรรมจะมีแนวโน้มปรับตัวสู่การเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียนมากขึ้น เพื่อมุ่งเน้นการกำจัดขยะและลดการใช้ทรัพยากรอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการใช้ซ้ำ (Reuse) และการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) เพื่อลดการผลิตและสร้างผลเสียทางมลพิษ
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์