×

วิธีการดูแลสัตว์เลี้ยงในช่วงล็อกดาวน์ เพราะสัตว์เลี้ยงก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างจากเรา

20.08.2021
  • LOADING...
สัตว์เลี้ยง

การแพร่ระบาดของโรคโควิด  ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสภาพร่างกายและจิตใจของมนุษย์ แต่สัตว์เลี้ยงก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน เนื่องจากข้อจำกัดต่างๆ ที่อาจทำให้การดูแล รวมถึงกิจกรรมในการดำรงชีวิตต้องต่างไปจากเดิม

 

ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับสัตว์เลี้ยง

 

ความอ้วน

การใช้เวลาอยู่ร่วมกันของเจ้าของและสัตว์เลี้ยงเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดการเสียวินัยในเรื่องการควบคุมการให้อาหาร เจ้าของอาจจะต้องอยู่บ้านและทานอาหารในบ้านทุกมื้อ ทำให้น้องๆ มาขออาหารที่เจ้าของรับประทาน ทั้งนี้ การต่อสู้กับสายตาเว้าวอนหรือการร้องขออาหารอาจเป็นเรื่องยากสำหรับเจ้าของบางท่าน ทำให้สัตว์เลี้ยงได้รับอาหารมนุษย์บ่อยขึ้น ร่วมกับการที่เจ้าของมีข้อจำกัดในการพาน้องๆ ออกไปนอกบ้านเพื่อออกกำลังกาย ยิ่งทำให้สัตว์เลี้ยงไม่ได้เกิดการเผาผลาญที่พอเหมาะ จึงอาจทำให้เกิดภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกินได้ นอกจากภาวะอ้วนแล้วการให้อาหารที่มีการปรุงอาจส่งผลต่อสุขภาพน้องๆ ในอนาคตได้ด้วย

 

สูญเสียมวลกล้ามเนื้อ

ข้อจำกัดในการออกกำลังกายหลังจากเกิดการล็อกดาวน์นั้นมีมากขึ้น เดิมการพาน้องๆ ออกไปเดินหรือวิ่งนอกบ้าน ไปสวนสาธารณะ หรือพาออกไปเล่นตาม Pet Park ต่างๆ จะช่วยให้น้องๆ ได้ออกกำลังเสริมสร้างมวลกล้ามเนื้อ แต่ปัญหาในปัจจุบันทำให้สาธารณะหรือห้างสรรพสินค้าต้องปิด ขาดสถานที่ที่กว้างขวาง ในแมวหรือสุนัขขนาดเล็กอาจไม่เห็นภาพมากนัก แต่ในสุนัขใหญ่อาจพบปัญหานี้ได้มากกว่า

 

ความเครียด

หากเดิมสัตว์เลี้ยงเคยมีกิจกรรมเอาต์ดอร์ หรือมีการรวมฝูงเป็นประจำ การอยู่ในพื้นที่จำกัดหรือการลดกิจกรรมรวมฝูงอาจทำให้เกิดความเครียด สังเกตได้จากสัตว์เลี้ยงอาจเริ่มมีพฤติกรรมเปลี่ยน เช่น เดินวน ไล่กัดหางตนเอง กัดแทะเฟอร์นิเจอร์ เลียเท้าตนเอง นอกจากนั้นความเครียดอาจป็นสาเหตุของการเกิดกระเพาะอาหารอักเสบในสัตว์เลี้ยงอีกด้วย

 

การขับถ่ายผิดปกติ

สัตว์เลี้ยงที่ต้องขับถ่ายนอกบ้าน แต่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงระบบในช่วงนี้ อาจพบปัญหาการอั้นอุจจาระหรือปัสสาวะ ซึ่งการขับถ่ายเปลี่ยนเวลา อาจนำไปสู่โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบหรือท้องผูกได้

 

 

ข้อแนะนำในการดูแล

 

ให้ผักแทนอาหารมนุษย์หรือขนม

การให้ผักแทนอาหารมนุษย์หรือขนมอาจเป็นทางออกหนึ่ง เพราะผักมีพลังงานต่ำ และมีกากใยช่วยในการขับถ่าย โดยเจ้าของจะต้องเลือกผักที่สามารถให้สัตว์เลี้ยงได้ เช่น ผักกาดขาวต้มหรือดิบ บรอกโคลีต้ม แตงกวาดิบ มะเขือเทศดิบ ฟักทองต้ม เป็นต้น ทั้งนี้ การให้ผักก็ยังต้องในให้ปริมาณที่พอเหมาะ และต้องทำการล้างทำความสะอาดก่อนด้วยทุกครั้ง 

 

หากิจกรรมทดแทน

การหากิจกรรมทดแทน เช่น การใช้อุปกรณ์ให้อาหารแบบที่ต้องให้สัตว์หาอาหาร การเปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์หรือที่อยู่ของสัตว์เลี้ยงให้เกิดความแปลกใหม่

 

หาของเล่นที่ปลอดภัย

การหาของเล่นที่ปลอดภัยต่อสุนัข การหาของเล่นเสริมกิจกรรมร่วมกันระหว่างเจ้าของกับสัตว์เลี้ยง เป็นการคลายเครียดให้กับสัตว์เลี้ยงรวมถึงเจ้าของอย่างหนึ่ง แต่ทั้งนี้ต้องเลือกของเล่นที่มีความปลอดภัยได้มาตรฐาน รวมถึงการเลือกขนาดของเล่นให้เหมาะสมกับขนาดสัตว์เลี้ยง เพราะของเล่นที่มีขนาดเล็กเกินไป หรือบอบบางเกินไปอาจเกิดปัญหาสัตว์เลี้ยงกลืนกินของเล่นได้

 

การออกกำลังโดยใช้ลู่วิ่ง

การออกกำลังโดยใช้ลู่วิ่ง สำหรับบ้านที่มีลู่วิ่งอาจใช้วิธีการให้สัตว์เลี้ยงเดินออกกำลังอย่างช้าๆ บนลู่ 10-15 นาทีต่อวัน โดยต้องอยู่ภายใต้การดูแลของเจ้าของตลอดเวลา

 

ปรับพฤติกรรมการขับถ่าย

การปรับพฤติกรรมการขับถ่ายอย่างค่อยเป็นค่อยไป ช่วงแรกของการปรับตัวให้ขับถ่ายในบ้าน อาจใช้การให้รางวัลเวลาที่สัตว์เลี้ยงขับถ่ายบริเวณที่จัดไว้เป็นตัวช่วย

 

ทั้งนี้ หากสัตว์เลี้ยงของท่านมีพฤติกรรมหรือปัญหาที่รุนแรง หมอแนะนำให้ลองโทรปรึกษาเป็นรายตัวกับโรงพยาบาลสัตว์หรือคลินิกที่คุ้นเคย หรือพาน้องๆ มาพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจรักษาหรือขอคำแนะนำก็ได้เช่นกัน 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising