×

เปอร์เวซ มูชาร์ราฟ จากข้อหากบฏถึงคำพิพากษาประหารชีวิต นัยต่ออิทธิพลกองทัพและการเมืองยุค ‘ปากีสถานใหม่’

18.12.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ปากีสถานเป็นหนึ่งในประเทศที่ทหารมีอิทธิพลสูงและแทรกแซงการเมืองอยู่เป็นระยะๆ แม้จะมีรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งก็ตาม
  • พล.อ. เปอร์เวซ มูชาร์ราฟ ถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญของอิทธิพลกองทัพและอำนาจของทหารในการเมืองปากีสถานมาอย่างยาวนาน แม้หลุดจากอำนาจก็ยังคงมีบารมีสูงในแวดวงทหาร 
  • การตัดสินประหารชีวิตมูชาร์ราฟจากข้อหากบฏล้มล้างรัฐธรรมนูญ อาจเป็นตัวบ่งชี้สำคัญว่าปากีสถานกำลังเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านที่ทหารถูกลดบทบาทลง หรือปากีสถานยุคใหม่

ท้ายที่สุดคดีความสำคัญของ พล.อ. เปอร์เวซ มูชาร์ราฟ อดีตผู้นำที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งของปากีสถาน ก็ได้ข้อยุติ เมื่อศาลพิเศษมีคำตัดสินในวันที่ 17 ธันวาคม โดยมีมติ 2-1 เสียง ให้ลงโทษประหารชีวิตมูชาร์ราฟฐานกบฏ สืบเนื่องจากความพยายามล้มล้างรัฐธรรมนูญจากการประกาศภาวะฉุกเฉินเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2007 โดยมิชอบ 

 

คดีนี้ถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ของประเทศที่ได้รับความสนใจอย่างมาก เพราะมูชาร์ราฟนอกจากเป็นผู้นำกองทัพคนแรกที่ถูกดำเนินคดีในข้อหานี้แล้ว ยังเป็นบุคคลที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งในช่วงกว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา การฟ้องร้องและกระบวนการไต่สวนกินเวลายาวนานเริ่มตั้งแต่ปี 2013 หรือ 5 ปีหลังจากที่เขาพ้นจากตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2008

 

การตัดสินประหารชีวิตมูชาร์ราฟในข้อหากบฏ มีที่มาที่ไปและนัยสำคัญหลายประการ ซึ่งสะท้อนพัฒนาการความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างกองทัพกับการเมืองปากีสถาน รวมทั้งสถาบันตุลาการทั้งในอดีตและปัจจุบันได้เป็นอย่างดี โดยอาจเรียบเรียงให้ผู้อ่านเห็นถึงพลวัตต่างๆ ได้ดังนี้

 

 

การเมืองปากีสถานและที่มาข้อหากบฏล้มล้างรัฐธรรมนูญ 

 

ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน พล.อ. เปอร์เวซ มูชาร์ราฟ ผู้ซึ่งกุมบังเหียนปากีสถานในตำแหน่งประธานาธิบดีมาเกือบทศวรรษหลังก่อรัฐประหารในปี 1999 ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2007 ตามด้วยการระงับใช้รัฐธรรมนูญ การแทรกแซงสถาบันตุลาการ การจับกุมคุมขังนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม การแทรกแซงสื่อและปิดกั้นการรับรู้ข่าวสารของประชาชน ส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้อย่างหนักทั้งในและนอกประเทศ 

 

การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าว เกิดขึ้นไม่นานหลัง พล.อ. มูชาร์ราฟ ได้รับเสียงสนับสนุนข้างมากในสภาให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่ออีกสมัย แต่มีอุปสรรคคือศาลสูงสุดไม่ยอมรับรองชัยชนะของมูชาร์ราฟจนกว่าจะได้ข้อสรุปที่แน่ชัดเกี่ยวกับคุณสมบัติของเขา เพราะเขาควบทั้งตำแหน่งประธานาธิบดีและผู้บัญชาการกองทัพในระหว่างลงชิงตำแหน่งสมัยที่สอง ทั้งที่ตามกฎหมายต้องสละตำแหน่งทางทหารก่อน 

 

ประเด็นคุณสมบัติของมูชาร์ราฟ ทำให้อุณหภูมิการเมืองปากีสถานขณะนั้นตึงเครียดถึงขีดสุด นักวิเคราะห์จึงเชื่อว่าเป็นสาเหตุให้มูชาร์ราฟตัดสินใจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อรวบอำนาจและสร้างความชอบธรรมให้ตัวเองในตำแหน่งประธานาธิบดีอีกสมัยหนึ่ง มูชาร์ราฟจึงสั่งปลด อิฟติคาร์ มูฮัมมัด เชาด์รี ประธานศาลสูงสุด พร้อมคณะผู้พิพากษาในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แต่ทั้งนี้นักวิเคราะห์เชื่อว่าเป็นเพราะคณะผู้พิพากษาชุดนี้ไม่รับรองผลการเลือกตั้งของเขา

 

มูชาร์ราฟ อ้างเหตุผลของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินว่ามีสาเหตุจากปัญหาความมั่นคงหลังเกิดเหตุรุนแรงหลายครั้งในประเทศ เช่น เหตุต่อสู้กับกลุ่มติดอาวุธในเขตวาซิริสถานเหนือ (North Waziristan) ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 200 คน และเหตุระเบิดฆ่าตัวตายที่เมืองการาจีในวันที่ 18 ตุลาคม ท่ามกลางขบวนแห่ต้อนรับการกลับมาของอดีตนายกรัฐมนตรีเบนาซีร์ บุตโต 

 

หลังมูชาร์ราฟประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เชาด์รีได้เรียกประชุมคณะผู้พิพากษาศาลสูงสุด และได้ออกคำสั่งเฉพาะกาลคัดค้านการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เขายังได้เรียกร้องกองทัพไม่ให้ปฏิบัติตามคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของ พล.อ. มูชาร์ราฟ จนเป็นเหตุให้เขาถูกปลดออกจากตำแหน่งประธานศาลสูงสุดดังที่กล่าวมา 

 

ในช่วงนั้น นักกฎหมายทั่วประเทศได้เรียกร้องให้ประชาชนออกมาประท้วงและนัดหยุดงาน 3 วัน เพื่อต่อต้านคำสั่งระงับใช้รัฐธรรมนูญ นอกจากนั้น นักกฎหมายจำนวนมากยังคว่ำบาตรศาลทั่วประเทศโดยไม่ไปแสดงตัวต่อคณะผู้พิพากษาชุดใหม่ เป็นเหตุให้นักกฎหมายจำนวนมากถูกจับกุม 

 

มูชาร์ราฟได้สั่งกักบริเวณเบนาซีร์ บุตโต เพื่อไม่ให้ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง เพราะก่อนหน้านี้เธอได้เรียกร้องผ่านการประชุมผู้สื่อข่าวให้ “ยุติคำสั่งระงับใช้รัฐธรรมนูญ” โดยยืนยันว่า “พรรคของเธอพร้อมจะเป็นแนวร่วมกับทุกพรรคการเมืองเพื่อต่อต้านทรราชย์”

 

วันที่ 28 พฤศจิกายน 2007 มูชาร์ราฟประกาศสละตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพ และในวันถัดมาก็เข้าพิธีสาบานตนในตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ซึ่งตามมาด้วยการประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินและกฎอัยการศึกในวันที่ 15 ธันวาคม แต่กระนั้นประชาชนจำนวนมากและพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ตลอดจนนักกฎหมายยังคงไม่ยอมรับการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ของเขา 

 

 

เมื่อมูชาร์ราฟถูกบีบลงจากอำนาจแลกกับการไม่ถูกดำเนินคดี แต่สุดท้ายไม่รอด

 

หลังยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ปากีสถานก็เดินหน้าสู่บรรยากาศของการเลือกตั้งครั้งสำคัญ ซึ่งจัดขึ้นในช่วงต้นปี 2008 แต่ปรากฏว่าเกิดเหตุการณ์ช็อกโลกเมื่อเบนาซีร์ บุตโต หัวหน้าพรรค PPP (Pakistan People’s Party) ถูกลอบสังหารเสียชีวิตในวันที่ 27 ธันวาคม 2007 ขณะกำลังหาเสียงที่เมืองราวัลปินดี (Rawalpindi) 

 

การเสียชีวิตของบุตโต ส่งผลให้พรรคของเธอได้คะแนนเสียงมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งในการเลือกตั้ง โดยได้ 121 ที่นั่ง ตามมาด้วยพรรค PML-N ของนาวาซ ชารีฟ ที่ได้ 91 ที่นั่ง ในขณะที่พรรค PML-Q ที่สนับสนุนมูชาร์ราฟ ได้เพียง 54 ที่นั่ง พรรค PPP และ PML-N จับมือกันตั้งรัฐบาล ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ 2 พรรคการเมืองใหญ่มาอยู่ขั้วเดียวกันโดยตั้งยูซุฟ ราซา กิลานี (Yusuf Raza Gilani) ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี 

 

ที่น่าสนใจคือทั้งสองพรรคมีข้อตกลงร่วมกันที่สำคัญอย่างน้อย 2 ข้อ คือ 1) จะจับมือกันยื่นถอดถอนและดำเนินการเอาผิดกับ พล.อ. เปอร์เวซ มูชาร์ราฟ ในหลายข้อหา เช่น การละเมิดรัฐธรรมนูญ การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโดยมิชอบ แทรกแซงสถาบันตุลาการ คอร์รัปชัน ประพฤติตนไม่เหมาะสม การสร้างปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้า และปัญหาความรุนแรงภายในประเทศ เป็นต้น 2) การคืนตำแหน่งประธานศาลสูงสุดให้ อิฟติคาร์ มูฮัมมัด เชาด์รี และคณะผู้พิพากษาของเขาภายใน 24 ชั่วโมง หลังยื่นถอดถอนมูชาร์ราฟหรือทันทีที่มูชาร์ราฟลาออก

 

ผลคือวันที่ 17 สิงหาคม 2008 หรือ 10 วันหลัง 2 พรรคการเมืองดังกล่าวทำข้อตกลงกัน มูชาร์ราฟประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีท่ามกลางกระแสข่าวลือว่าเป็นการลาออกเพื่อแลกกับข้อตกลงที่จะไม่ถูกถอดถอนหรือดำเนินคดีความในข้อหาอื่นๆ 

 

ต่อมาในเดือนกันยายน เมื่ออาซิฟ อาลี ซาร์ดารี ประธานพรรค PPP และสามีของบุตโต ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อจากมูชาร์ราฟ แต่ไม่นานรัฐบาลของเขาก็เริ่มสั่นคลอนจากความขัดแย้งกับพรรคร่วมรัฐบาล PML-N ของชารีฟ เพราะซาร์ดารีไม่ยอมปฏิบัติตามข้อตกลงทางการเมืองที่ให้ไว้กับชารีฟตามที่ได้กล่าวมา จนนำไปสู่จุดแตกหักซึ่งชารีฟประกาศถอนตัวออกจากการร่วมรัฐบาลในที่สุด สิ่งที่สร้างความไม่พอใจให้กับชารีฟเป็นอย่างมากคือคำพูดของซาร์ดารีที่บอกว่า “ข้อตกลงทางการเมืองไม่ใช่คัมภีร์อัลกุรอานที่จะเปลี่ยนแปลงไม่ได้” 

 

หนึ่งในข้อตกลงที่ทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงคือ การคืนตำแหน่งประธานศาลสูงสุดให้เชาด์รี และคณะผู้พิพากษาสูงสุด รวมทั้งการดำเนินคดีกับมูชาร์ราฟ กล่าวคือ ซาร์ดารี ไม่ยอมทำตามสัญญาที่ให้ไว้ว่าจะคืนภายใน 24 ชั่วโมงหลังมูชาร์ราฟลาออก โดยต้องการให้คณะผู้พิพากษาชุดที่แต่งตั้งโดยมูชาร์ราฟ ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามวาระ และต้องการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อกำหนดวาระการดำรงประธานศาลสูงสุดใหม่

 

เชื่อกันว่าเหตุผลสำคัญที่ซาร์ดารี ไม่คืนตำแหน่งประธานศาลสูงสุดให้เชาด์รี เพราะเขากลัวว่าเชาด์รี จะกลับมาสานต่อการไต่สวนกรณีความชอบธรรมของร่างกฎหมายเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (National Reconciliation Ordinance) ซึ่งผ่านโดยฝ่ายบริหารในสมัยของ พล.อ. มูชาร์ราฟ โดยเนื้อหาหลักของกฎหมายนี้คือการนิรโทษกรรมคดีต่างๆ ของบุตโตและเซาด์รี โดยเฉพาะคดีคอร์รัปชันที่คั่งค้างอยู่ ซึ่งทำให้ทั้งสองหลุดพ้นจากทุกคดี และสามารถเดินทางกลับปากีสถานเพื่อมาร่วมเลือกตั้งได้อย่างชอบธรรม กฎหมายนี้ผลักดันโดยมูชาร์ราฟ ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าเพื่อแลกกับข้อตกลงให้พรรค PPP สนับสนุนเขาในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 

 

สหรัฐฯ ซึ่งมีอิทธิพลต่อปากีสถานในขณะนั้นก็คงไม่ยินดีกับเชาด์รีมากนัก เพราะก่อนที่เขาจะถูกปลดจากตำแหน่งประธานศาลสูงสุด เชาด์รีได้ดำเนินการอย่างจริงจังในการไต่สวนหลายคดีที่เกี่ยวกับการหายตัวไปของชาวปากีสถาน ซึ่งหน่วยข่าวกรองปากีสถานส่งตัวไปให้กับหน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ อย่างไม่เป็นทางการ และไม่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยคนที่ถูกส่งไปมักถูกสงสัยว่ามีความสัมพันธ์กับกลุ่มอัลกออิดะห์และตาลีบัน นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังไม่ค่อยพอใจนาวาซ ชารีฟ เนื่องจากมีแนวคิดไม่สานต่อการสนับสนุนความร่วมมือกับสหรัฐฯ ด้านการต่อต้านการก่อการร้ายในลักษณะที่ดำเนินมาตั้งแต่สมัยมูชาร์ราฟและเซาด์รี 

 

จนกระทั่งนาวาซ ชารีฟ อดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัยผู้ซึ่งเคยถูกมูชาร์ราฟรัฐประหารจนเนรเทศตัวเองไปอยู่ซาอุดีอาระเบียหลายปี ได้ชนะการเลือกตั้งในปี  2013 และกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 3 เขาจึงให้มีการไต่สวนมูชาร์ราฟในข้อหากบฏ มูชาร์ราฟปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และยืนยันว่าการที่เขาถูกดำเนินคดีนั้นมีเหตุจูงใจทางการเมือง แต่สุดท้ายศาลไม่ยอมรับข้อโต้แย้งของเขา และตัดสินว่ามีความผิดฐานกบฏ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญปากีสถานต้องรับโทษประหารชีวิต

 

 

คดีมูชาร์ราฟกับนัยอิทธิพลของกองทัพและการเมืองของปากีสถานในบริบทใหม่

 

มูชาร์ราฟได้รับการแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรีนาวาซ ชารีฟ ในปี 1998 แต่ไม่นานหลังเกิดเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างอินเดียกับปากีสถานที่หมู่บ้านคาร์กิล แคว้นแคชเมียร์ ปี 1999 (บางคนเรียกสงครามคาร์กิล) ก็เกิดความขัดแย้งกันระหว่างมูชาร์ราฟกับนายกรัฐมนตรีชารีฟ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมูชาร์ราฟไม่พอใจที่ชารีฟสั่งทหารปากีสถานถอนกำลังหรือถอยกลับตามคำแนะนำของสหรัฐอเมริกา มูชาร์ราฟมองว่าชารีฟยอมอ่อนข้อให้กับอินเดีย จนนำไปสู่การทำรัฐประหารในที่สุด 

 

มูชาร์ราฟอยู่ในอำนาจตั้งแต่ปี 1999-2008 หลังลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี เขาก็เดินทางออกนอกประเทศ กลับมาอีกครั้งในปี 2013 เพื่อจะมาลงสนามเลือกตั้ง แต่ปรากฏว่าศาลไม่อนุญาตเนื่องจากเขายังมีข้อกล่าวหาพัวพันกับหลายคดี หนึ่งในนั้นคือคดีการลอบสังหารเบนาซีร์ บุตโต กระทั่งปี 2016 เมื่อศาลยกเลิกข้อห้ามเดินทางออกนอกประเทศ มูชาร์ราฟจึงเดินทางไปอยู่นครดูไบ และไม่กลับมาปรากฏตัวต่อศาลอีกเลย ปัจจุบันเขาอายุ 76 ปี มีอาการป่วยและต้องรับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลอยู่ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 

 

ปากีสถานเป็นประเทศหนึ่งที่ทหารมีอิทธิพลสูง และมีการแทรกแซงการเมืองอยู่เป็นระยะๆ แม้จะมีรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งก็ตาม แต่ถ้าทหารไม่เอาด้วยก็ต้องมีอันหลุดออกจากอำนาจไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง โดยเฉพาะการรัฐประหาร มูชาร์ราฟถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญของอิทธิพลกองทัพและอำนาจของทหารในการเมืองปากีสถานมาอย่างยาวนาน แม้หลุดจากอำนาจก็ยังคงมีบารมีสูงในแวดวงทหาร การที่ พล.อ. มูชาร์ราฟถูกตัดสินประหารชีวิตในยุครัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง อาจสะท้อนนัยหลายประการ เช่น บทบาททหารที่ลดลงหรืออย่างน้อยก็อิทธิพลของมูชาร์ราฟที่เจือจางหายไป อีกทั้งยังอาจนำไปสู่การสร้างบรรทัดฐานใหม่ในการดำเนินคดีกับผู้นำทหาร หรือแม้แต่ผู้นำพลเรือนที่คิดล้มล้างรัฐธรรมนูญของประเทศ

 

การถูกตัดสินประหารชีวิตในครั้งนี้อาจจะเป็นตัวบ่งชี้สำคัญว่าปากีสถานกำลังเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านที่ทหารถูกลดบทบาทลง แต่อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาดูว่าถ้าไม่มีอะไรเกิดขึ้น โดยเฉพาะต่อตัวนายกรัฐมนตรีอิมราน ข่าน และเสถียรภาพของรัฐบาล ก็คงบ่งบอกได้ระดับหนึ่งว่าทหารไม่ได้ทรงอิทธิพลเหมือนที่ผ่านมาแล้ว หรือถ้ายังทรงอิทธิพลอยู่ก็ไม่ใช่ทหารขั้วเดิม หรืออาจจะเป็นยุค ‘ปากีสถานใหม่’ ของนายกรัฐมนตรี อิมราน ข่าน ที่รัฐบาลพลเรือนมีอิทธิพลเหนือทหาร 

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • “Musharraf imposes emergency rule”. BBC News, (online) at news.bbc.co.uk/2/hi/south_asia/7076670.stm
  • มาโนชญ์ อารีย์. การกลับมาของประชาธิไตยในปากีสถาน: จากการโค่นล้มพลเอกมุชัรร็อฟสู่สถานการณ์การเมืองปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต (2). เว็บไซต์ ศูนย์โลกสัมพันธ์ไทย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
  • “Top judge attacks Musharraf rule”. BBC News. (online) at news.bbc.co.uk/2/hi/south_asia/7080433.stm 
  • Nirupama Subramanian. “The inevitable happens in Pakistan”. The Hindu. (online) at www.hindu.com/2008/08/26/stories/2008082655641400.htm 
  • B.Raman. “After Tricky, Tricky Zardari”. South Asia Analysis Group. (online) at www.southasiaanalysis.org/papers29/paper2824.html 
  • มาโนชญ์ อารีย์. 2009 “ปากีสถาน”. ใน วารสารเอเชียรายปี จับชีพจร 2552/2009, สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หน้า. 155-161
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X