ณ เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 23-26 มกราคมที่ผ่านมา ไม่ว่าหิมะจะตกหนักสักแค่ไหน แต่มีผู้นำทางการเมืองและเศรษฐกิจโลก รวมถึงบุคคลสำคัญระดับโลกหลายพันคนมารวมตัวกันเพื่อหารือถกเถียงเกี่ยวกับเทรนด์ และการเดินหน้าอนาคตเศรษฐกิจโลกในการประชุมประจำปีของ World Economic Forum
หัวข้อของปีนี้คือ Creating a Shared Future in a Fractured World มีผู้นำยุโรปและผู้นำโลกมาร่วมงานหลายท่าน ซึ่งพวกเขาได้แสดงท่าทีเกี่ยวกับอนาคตเศรษฐกิจ การเมือง สังคมโลก และยุโรปไว้อย่างน่าสนใจ มีประเด็นอะไรที่พวกเขาห่วงกังวล เราหยิบยกวิสัยทัศน์ของผู้นำเหล่านี้มาเล่าให้ฟัง
ผู้นำเยอรมนีต่อต้าน ‘กำแพง’
“การเปิดกว้าง การค้าเสรี และการสร้างพันธมิตรและความร่วมมือระหว่างกัน เป็นกุญแจสำหรับอนาคตยุโรป” นายกรัฐมนตรีเยอรมนี นางอังเกลา แมร์เคิล กล่าวย้ำจุดยืนของเยอรมนีในการร่วมกับประชาคมโลกในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมต่างๆ ที่รุมเร้า ผ่านการสร้างความร่วมมือที่เธอเรียกว่า Spirit of Global Cooperation โดยเน้นระบบการค้าที่เปิดกว้าง
และบอกว่าเราไม่ต้องการ ‘กำแพง’ ที่ปิดกั้นอีกต่อไป เราต้องเรียนรู้จากอดีต และต้องร่วมกันสร้าง ‘ความร่วมมือ’ เรียกว่าแนวคิดนี้ขัดแย้งแนวคิดเชิง Protectionism ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อย่างสิ้นเชิง
ในขณะที่ผู้นำยุโรปยึดมั่นกับการเดินหน้านโยบายการค้าเสรี รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐฯ นายวิลเบอร์ รอสส์ มองว่า “สงครามการค้าน่ะ มันต้องต่อสู้กันทุกวันอยู่แล้ว”
ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ผลักดัน Climate Change
ด้าน เอ็มมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศส ประกาศว่า “France is back at the core of Europe” เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาคมโลกและยุโรปว่าฝรั่งเศสจะยืนหยัดเดินหน้าเป็นแกนนำในการสร้างอนาคตของยุโรปต่อไป และบอกอีกว่าฝรั่งเศสจะประสบความสำเร็จไม่ได้เลย หากไม่มีความสำเร็จของยุโรป
ประเด็นที่ฝรั่งเศสผลักดันในเวทีระหว่างประเทศ ได้แก่ การต่อสู้และการสร้างความร่วมมือระดับโลกเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (Climate Change) ฝรั่งเศสมีเป้าหมายจะปิดโรงงานถ่านหินทั้งหมดภายในปี 2021 จะเป็นโมเดลในการต่อสู้ Climate Change และต้องการผลักดันความตกลงปารีสให้เดินหน้า ให้มีแผนปฏิบัติการอย่างเป็นรูปธรรมและเห็นผลภายในปี 2020
อีกด้านหนึ่ง ประธานาธิบดีมาครงได้พบกับประธานาธิบดีจีน นายสีจิ้นผิง และได้รับทราบเกี่ยวกับความมุ่งมั่นของผู้นำจีนในความตกลงปารีสเรื่อง Climate Change ด้วย เขาคิดว่าความเชื่อมโยงระหว่างเอเชียกับยุโรปในเส้นทาง New Silk Road นั้นจะต้องเป็นเส้นทาง ‘สีเขียว’
นายกรัฐมนตรีหญิง เออร์นา โซลเบิร์ก ของนอร์เวย์ ชูประเด็นสิทธิสตรี
เธอเป็นหนึ่งในวิทยากรหญิง 7 ท่านที่เข้าร่วมสัมมนาเรื่องสิทธิสตรี ซึ่งรวมถึงซีอีโอ IBM จินนี โรเม็ตตี และผู้นำ IMF คริสติน ลาการ์ด
ในเวทีดาวอส นายกรัฐมตรีหญิง เออร์นา โซลเบิร์ก ของนอร์เวย์บอกว่า “ตอนนี้เรื่องใหญ่ที่สุดที่เราควรทำความเข้าใจไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับการเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง แต่ต้องเกี่ยวกับการใช้พรสวรรค์ของสังคมในภาพรวม”
ยังไม่หมดแค่นั้น ที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นเป็นเพียงวิสัยทัศน์ของผู้นำทางการเมืองจากยุโรปไม่กี่ท่าน แต่ใน Forum มีผู้นำทางเศรษฐกิจ, ซีอีโอยักษ์ใหญ่อย่างแจ็ค หม่า, ซีอีโอ Google ไปจนถึงนักเศรษฐศาสตร์โนเบล มารวมตัวกันอย่างหนาแน่น รวมทั้งประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐฯ ก็มาร่วมด้วย
การประชุมดาวอส นับเป็นเวทีสำคัญที่มีมาตั้งแต่ปี 1971 จัดโดย World Economic Forum ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร ตั้งอยู่ทื่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ภาพ: REUTERS/Jean-Paul Pelissier
อ้างอิง: World Economic Forum