×

ชวนสำรวจร้านน้ำหอม Le Labo ผ่าน 5 คีย์เวิร์ดที่น่าสนใจ

11.07.2023
  • LOADING...
le labo

HIGHLIGHTS

  • พาส่องสำรวจร้านน้ำหอม Le Labo สาขาแรกในไทย ผ่าน 5 คีย์เวิร์ดที่น่าสนใจและทำให้รู้จักกับ Le Labo มากยิ่งขึ้น

หลายคนที่เป็นแฟนตัวยงของน้ำหอมนิชแบรนด์อย่าง Le Labo คงจะทราบดีอยู่แล้วว่า Edouard Roschi และ Fabrice Penot คือสองผู้ก่อตั้ง Le Labo ชาวฝรั่งเศสที่เนรมิตน้ำหอมที่ไม่เหมือนใครออกมาจากแพสชันที่แรงกล้า จนทำให้น้ำหอมแบรนด์นี้สามารถครองใจผู้คนทั่วโลก ในโอกาสที่ Le Labo มาเปิดสาขาแห่งแรกในเมืองไทยได้ไม่นาน ทำให้ THE STANDARD POP อยากพาผู้อ่านไปสำรวจความน่าสนใจของน้ำหอม Le Labo ผ่าน 5 คีย์เวิร์ดสำคัญที่จะทำให้รู้จักกับแบรนด์นี้มากขึ้น

 

จากคำบอกเล่าของผู้จัดการร้าน Le Labo สาขาเมืองไทย ทำให้ทราบว่าชื่อน้ำหอมตั้งโดย 2 ผู้ก่อตั้งชาวฝรั่งเศส ก่อนหน้านั้น Edouard Roschi และ Fabrice Penot ทั้งคู่เคยทำงานในบริษัทน้ำหอมที่อยู่ในระดับ Mass มากๆ เลยเกิดคำถามว่ามันจะเป็นยังไงนะถ้าจะมีแบรนด์สักแบรนด์ที่ทำอะไรตรงข้ามกับสิ่งที่เขาทำอยู่ในยุคนั้น ซึ่งธุรกิจน้ำหอมยุคนั้นใช้เงินโปรโมตแคมเปญน้ำหอมที่สูงมาก รวมถึงการพึ่งพาเซเลบและดาราดังในการโปรโมต แต่สำหรับ Le Labo กลับมีแนวคิดที่แตกต่าง ทั้งคู่จึงลาออกมาและไปศึกษาเรียนรู้การบ่มน้ำหอม การเก็บเกี่ยวดอกไม้ที่เมือง Grasse ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส ซึ่งได้ฉายาว่าเป็นเมืองหลวงของน้ำหอม ซึ่งที่นั่นเองทำให้เขาได้เห็นเบื้องหลังของทุกอย่างและเกิดไอเดียในการเอา Lab ที่ปกติอยู่ในที่ปิดและไม่มีใครเห็น มาเปิดเผยสู่ภายนอกให้คนทั่วไปสามารถสัมผัสได้

 

 

From Grasse to New York

หากสังเกตจะพบว่าคำว่า Grasse-New York ซึ่งหมายถึงจิตวิญญาณของแบรนด์น้ำหอมที่เริ่มต้นที่เมือง Grasse แต่ว่าไปเปิดช็อปแห่งแรกที่ New York ในปี 2006 ในย่านที่ชื่อว่า Nolita ซึ่งสมัยก่อนมันคือย่านที่ยังมีอาชญากรรมอยู่ ไม่สะอาด คนทั่วไปก็อาจสงสัยว่าทำไมกันนะพวกเขาถึงไปเปิดร้านที่นั่น เป็นเพราะเขาเชื่อว่าที่นั่นเป็นที่เดียวที่สามารถบ่มเพาะขบถทางความคิด เปิดรับความแตกต่าง และสื่อสารถึงความไม่เหมือนใครได้ดี เพราะนิวยอร์กจะมีไลฟ์สไตล์ความเป็น Underground ความสุดโต่ง ความไม่เหมือนใคร ความไม่มีเพศ เป็นเมืองที่เต็มไปด้วย Diversity สูงมาก และที่สำคัญนิวยอร์กเป็นเมืองที่สอนให้สองผู้ก่อตั้งแบรนด์ได้รู้จักกับปรัชญาที่เรียกว่า Wabi Sabi คือความสวยงามที่ซุกซ่อนอยู่ในความไม่สมบูรณ์แบบ ถ้าสังเกตการตกแต่งภายในร้าน Le Labo แห่งนี้ (รวมถึงร้าน Le Labo สาขาต่างๆ ในโลก) สิ่งที่อยู่ในร้านทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นสติกเกอร์ เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ล้วนเป็นของวินเทจที่ผ่านการใช้งานมาแล้วทั้งหมด เพราะเขาเชื่อว่าของเหล่านี้มีจิตวิญญาณและมีความสวยงามในแบบของมัน

 

 

วัตถุดิบเป็นวีแกนทั้งหมด

ส่วนเรื่องของวัตถุดิบ Le Labo เป็นแบรนด์วีแกนที่ไม่มีการทดลองในสัตว์ แพ็กเกจจิ้งทั้งหมดก็ต้องผ่านการรีไซเคิล เพราะแบรนด์เชื่อว่าถ้าจะสร้างสิ่งที่สวยงามบนโลกนี้เราต้องไม่ทำลายความสวยงามเดิมที่มีอยู่ และแบรนด์ยังได้รับ Certification ระดับโลกที่เรียกว่า B Corp Certified ด้วย

 

 

ต่อไปนี้เป็น 5 คีย์เวิร์ดที่น่าสนใจที่จะทำให้รู้จักกับ Le Labo มากขึ้น

1. Slow Perfumery เป็นเรื่องของการให้ความสำคัญกับเวลาที่ใช้ไปอย่างเชื่องช้าในแต่ละขั้นตอน ตั้งแต่อะไรที่สามารถ Hand Pick ได้ก็จะเลือกทางนั้นก่อน การที่ค่อยๆ วิจัยและคิดค้นน้ำหอมแต่ละขวดจะไม่รีบเร่งออกผลิตภัณฑ์ใหม่ทุกๆ 3 เดือน หรือ 6 เดือน แต่แบรนด์จะค่อยๆ หาสิ่งที่ดีที่สุด และเปิดตัวออกมา เพราะเชื่อว่าถ้าใช้เวลาอย่างเชื่องช้าในการหาสิ่งที่ดีที่สุดได้สิ่งนั้นมันจะคงอยู่ไปตลอด

 

ซึ่งความเป็น Slow Perfumery นั้นลูกค้าสามารถสัมผัสได้ตั้งแต่ในร้านตอนที่ซื้อน้ำหอมเลย สมมติว่าเราตัดสินใจซื้อขวดไหนก็ตาม สุดท้ายกว่าที่จะได้น้ำหอมขวดนั้นกลับไปก็จะค่อยๆ ผ่านขั้นตอนการทำ Label การกำหนดตัวหนังสือตามใจลูกค้า การค่อยๆ บรรจุลงกล่อง เป็นการซื้อของที่ใจร้อนไม่ได้เลย เพราะแบรนด์จะไม่เร่งรีบ แต่จะเคลื่อนที่อย่างเชื่องช้า สวยงาม และน่าประทับใจ

 

 

2. Craftsman Shift ถ้าเห็นแอดเวอร์ไทซิงของ Le Labo ตามที่ต่างๆ จะสังเกตว่าส่วนใหญ่จะมีภาพของมือประกอบอยู่ เพราะเชื่อว่ามือสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ได้ จะให้คุณค่ากับอะไรที่เป็น Handcraft หรือ Craftsman Shift มากๆ โดยหนึ่งในแฮนด์เมดที่สังเกตได้ชัดคือเทียนของ Le Labo เพราะเทียนทั้งหมดตัวแว็กซ์จะถูกค่อยๆ เทมาตั้งแต่อยู่ที่แคลิฟอร์เนีย แล้วค่อยส่งไปตามร้าน Le Labo ต่างๆ ซึ่งเทียนก็จะเป็นแฮนด์เมดทั้งหมด อะไรที่ใช้มือทำได้ก็จะใช้มือทำ

 

 

3. Personalization ถ้าลูกค้าซื้อผลิตภัณฑ์ใดๆ ของ Le Labo จะมีฉลากที่สามารถระบุได้ว่าลูกค้าซื้อที่ไหน วันที่เท่าไร สามารถใส่ชื่อของตัวเอง ข้อความส่วนตัว Quote ที่ชอบ หรืออะไรก็ได้ลงบนฉลาก ทางแบรนด์เชื่อว่าการ Personalized คือการที่ช่วยให้ลูกค้าจดจำโมเมนต์ที่เกิดขึ้นภายในร้านได้

 

 

4. Genderless คือการที่แบรนด์ไม่เชื่อว่าน้ำหอมควรจะ Label ว่าเหมาะกับเพศไหน ผู้จัดการร้านเล่าให้เราฟังว่ามีหลายครั้งที่มีลูกค้าเข้ามาถามว่าช่วยแนะนำน้ำหอมสำหรับผู้ชายให้หน่อยได้ไหม หรือช่วยแนะนำน้ำหอมที่เหมาะกับผู้หญิงให้หน่อยได้ไหม แต่ด้วยแนวคิดเรื่องกลิ่นเป็นเรื่องเฉพาะตัว ทำให้ Le Labo สร้างสรรค์นำ้หอมที่เป็น Genderless ออกมาได้ ตัวอย่างหนึ่งที่ดีมากๆ ของ Le Labo คือกลิ่นที่ชื่อว่า Rose 31 ซึ่ง Rose เวลาจั่วหัวคนจะชอบนึกว่าเป็นกุหลาบ ไม่เหมาะกับผู้ชายแน่ๆ แต่พอเป็นแบรนด์ Le Labo ที่สื่อสารผ่านน้ำหอมออกไปว่ามันเหมาะกับทุกคน เขาก็ไปคิดดีไซน์กลิ่นที่ตอบโจทย์ได้ทุกคน ทำให้พอวางจำหน่ายจริงน้ำหอมกลิ่น Rose 31 กลายเป็นกลิ่นที่ผู้ชายนั้นซื้อเยอะพอๆ กับผู้หญิง

 

 

5. Claimless ที่ร้าน Le Labo ให้ความสำคัญกับการได้ทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ด้วยตัวเอง ปล่อยให้ลูกค้าได้จินตนาการจากความคิดและความรู้สึกออกมาเองมากกว่าที่จะไปยัดเยียดให้ กลายเป็นเรื่องอิสระของสิ่งที่สัมผัสและได้รับด้วยตัวเองในแบบส่วนตัว

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising