×

ประเมินผลคนทำงานอย่างไรให้ทุกฝ่ายแฮปปี้ เรียนรู้เคล็ดลับจาก Google แล้วปรับใช้ให้เข้ากับคนไทย

10.12.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 MINS READ

 

  • เป็นที่รู้กันทั้งในและนอกวงการว่า Google สามารถบริหารจัดการเรื่องคนได้อย่างยอดเยี่ยม จนเป็นต้นแบบเรื่องนี้ ซึ่งการบริหารคนของ Google นั้นเหมาะกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงของโลกและทัศนคติของคนยุคใหม่ ซึ่งเป็นกำลังหลักของโลกตอนนี้
  • หลายคนคงคิดในใจว่า “เอาเราไปเทียบกับ Google ได้อย่างไร บริษัทเราก็ไม่ใช่ คนของเราก็ไม่ใช่ ทรัพยากรของเราก็ไม่ได้มีเหมือน Google เลย” แน่นอน ประโยคนี้ไม่มีอะไรผิดเลย แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ถูกทั้งหมดเสียทีเดียว
  • ในเมื่อเราต้องมีระบบอะไรสักอย่างในการประเมินผลอยู่แล้ว ทำไมเราถึงไม่เรียนรู้จากคนที่ทำเรื่องนี้เก่งที่สุด แล้วนำมาปรับใช้ให้เหมาะกับองค์กรของเราล่ะ

 

 

ตอนนี้จะสิ้นปีแล้ว ผมเชื่อว่าหลายคนคงเริ่มเข้าสู่กระบวนการ Performance Review สิ่งที่ทำไปในปีที่ผ่านมา

 

ผมอยากนำวิธีการวัดผลของ Google มาเล่าให้ฟัง บวกกับบริบทแบบไทยๆ ว่าพอเรานำทั้ง 2 อย่างมาผสานกันแล้ว บริษัทอย่างศรีจันทร์แปลเรื่องนี้ออกมาเป็นอย่างไร

 

อันดับแรก ต้องบอกก่อนว่า Google นั้นเป็นที่รู้กันทั้งในและนอกวงการว่าสามารถบริหารจัดการเรื่องคนได้อย่างยอดเยี่ยม จนเป็นต้นแบบเรื่องนี้ ซึ่งการบริหารคนของ Google นั้นเหมาะกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงของโลกและทัศนคติของคนยุคใหม่ ซึ่งเป็นกำลังหลักของโลกตอนนี้

 

นี่คงเป็นสาเหตุที่ทำไม Google ถึงได้ครองตำแหน่งองค์กรที่น่าทำงานด้วยที่สุดในโลก

 

แล้วการประเมินผลแบบไหนจะเหมาะสมที่สุด

 

ทันทีที่ผมเขียนถึง Google ผมเชื่อว่าหลายคนคงคิดในใจ (หรือถ้าเป็นทีมงานผม ก็จะพูดกับผมตรงๆ) เลยว่า

 

“เอาเราไปเทียบกับ Google ได้อย่างไร บริษัทเราก็ไม่ใช่ คนของเราก็ไม่ใช่ ทรัพยากรของเราก็ไม่ได้มีเหมือน Google เลย”

 

แน่นอน ประโยคข้างบนนี้ไม่มีอะไรผิดเลยครับ

 

แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ถูกทั้งหมดเสียทีเดียว

 

เคยได้ยินคำว่า ‘Don’t Reinvent The Wheel’ คืออะไรที่มันดีอยู่แล้ว ก็ใช้มันต่อยอดไปได้ ไม่ต้องไปทำใหม่หมดหรอก

 

ในเมื่อเราต้องมีระบบอะไรสักอย่างในการประเมินผลอยู่แล้ว ทำไมเราถึงไม่เรียนรู้จากคนที่ทำเรื่องนี้เก่งที่สุด แล้วนำมาปรับใช้ให้เหมาะกับองค์กรของเราล่ะ  

 

จริงๆ ก่อนจะประเมิน เราอาจจะต้องพิจารณาเรื่องเป้าหมายก่อน

 

ระบบการประเมินผลแบบ Google ที่สามารถนำมาปรับใช้ มี 3 แบบด้วยกัน (ซึ่งอันนี้เป็นของเก่าแล้ว ปัจจุบันอาจมีการอัปเดตระบบใหม่)

 

ก่อนจะเขียนต่อต้องบอกว่า OKRs ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับ Performance Evaluation หรืออย่างน้อยที่สุด ต้องบอกว่าไม่ได้เกี่ยวข้องตรงๆ ครับ

 

ผมนำส่วนหนึ่งของบทความนี้มาจากเคสชื่อ How Google Does Performance Reviews โดย Francisco S. Homem de Mello

 

เมเนเจอร์ที่เป็นผู้รีวิวนั้นจะดูเรื่อง Performance Rating มาจาก 2 ส่วน ได้แก่

 

1. Results Attained คือผลงานของพนักงานคนนั้น (What)

2. Behavior คือวิธีการ (How) ที่พนักงานคนนั้นทำเพื่อให้ได้ผลงานออกมา

 

Criteria ของ Google จะประกอบไปด้วย 6 อย่างด้วยกัน ได้แก่

 

1. Googleyness: การยึดมั่นกับ Value ของ Google ซึ่งจะดูได้จากวิธีการ (How) ของการทำงาน

2. Problem Solving: ทักษะในการแก้ปัญหา

3. Execution: การสามารถส่งมอบงานชั้นเลิศได้ ทำงานได้ดีโดยไม่ต้องจับมือทำกันไปทุกขั้นตอน บอกว่าจะเอาอะไรพอ

4. Thought Leadership: มีความเก่งเฉพาะทางที่คนอื่นถ้าอยากได้เรื่องนี้จะต้องนึกถึงคนนี้ ยกตัวอย่างเช่น ที่ทำงานผมจะมีคนที่เขียนพวก Copy ต่างๆ เก่งมาก เวลาใครอยากได้ภาษาที่สละสลวยมากๆ ต้องไปหาคนนี้ เป็นต้น

5. Leadership หรือ Emerging Leadership: อันนี้คือการแสดงคุณสมบัติการเป็นผู้นำ อาทิ เสนอตัวในการนำโปรเจกต์ต่างๆ, มีความสามารถในการมองเห็นเรื่องต่างๆ ล่วงหน้า และสามารถวางแผนแก้ไขไว้ได้ มีความเป็นเจ้าของ รับผิดชอบงานที่เป็นงานของตัวเองได้ สามารถรวมพลังของคนหลายๆ คนให้มาร่วมทำในจุดหมายเดียวกันได้ ฯลฯ

6. Presence: ในองค์กรขนาดใหญ่อย่าง Google ความสามารถของพนักงานที่จะทำให้เสียงของตัวเองได้รับการได้ยินนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งอาจจะหมายรวมถึงตัวผลงานเองและวิธีการนำเสนอผลงานด้วย

 

ผมลองปรับมาเป็นแบบไทยๆ ที่ดูจะเข้ากับบริบทใกล้ตัวมากขึ้น เช่น

 

Criteria ที่ถูกปรับแล้วจะประกอบด้วย

1. Achieve Result: ความสามารถในการทำงานให้สำเร็จ โดยเน้นไปที่ Output ของงาน

2. Communications: ความถูกต้อง ความเร็ว และความยากง่ายในการสื่อสารกันของบุคคล ทั้ง In และ Out

3. Ownership: ความเป็นเจ้าของและรับผิดชอบกับงานของตัวเอง

4. Dependable: ความเชื่อใจเวลามอบหมายงานให้ ว่างานจะเสร็จด้วยคุณภาพและเวลาที่ตกลงกันไว้แค่ไหน

5. Team Work: ความสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่น สามารถดึงเอาศักยภาพของผู้ร่วมทีมออกมา โดยคงบรรยากาศการทำงานที่ดีไว้

6. Leadership: คุณสมบัติการเป็นผู้นำ ได้แก่ มีความคิดริเริ่ม กล้าตัดสินใจ วางแผนดี มีวิสัยทัศน์ และรักษาคำพูด

 

กระบวนการ Evaluation

พอเราเข้าใจ Criteria แล้ว ต่อไปก็จะเป็นกระบวนการ Evaluation ซึ่งประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ Self Evaluation, 360 Degree Feedback และ Calibration

 

1. Self Evaluation

Self Evaluation เป็นขั้นตอนแรกของการทำ Performance Review อันนี้ให้แต่ละคนประเมินตัวเองจาก Criteria ต่างๆ ที่กล่าวมา โดยให้คะแนนเป็น 5 ขั้นได้ตั้งแต่ ไม่เคยแสดงให้เห็น (1) ไปจนถึงแสดงให้เห็นอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ (5) ที่สำคัญ ต้องยกตัวอย่างเพื่อสนับสนุนเกรดที่ให้กับตัวเอง

 

ต่อมาเขียนบรรยายด้วยว่าอะไรเป็นสิ่งที่เราทำสำเร็จและรู้สึกภูมิใจในรอบการประเมินที่ผ่านมา และอะไรคือสิ่งที่ได้เรียนรู้

 

ซึ่งข้อมูลตรงนี้จะปรากฏให้คนที่ได้ทำ Peer Review ในขั้นต่อไปได้เห็นด้วย

 

ผมขออนุญาตเพิ่มไอเดียนิดหนึ่ง สำหรับบริบทแบบไทยหรือถ้าองค์กรไม่ได้มีการทำเรื่องนี้มาก่อนว่า ควรให้ตัวอย่างของงานในหลายๆ ฟังก์ชัน แล้วเขียนให้ดูว่าแบบนี้ควรได้กี่คะแนนเพราะอะไร

 

B 360 Degree Feedback

เป้าหมายของการรีวิวนี้คือ ให้เมเนเจอร์สามารถมองเห็นภาพรวมของผู้ที่ถูกรีวิวได้จากหลายๆ แง่มุม เพื่อลดความลำเอียงหรือมุมมองที่เป็น Tunnel Vision กับตัวผู้ถูกประเมิน

 

กระบวนการนี้จะเริ่มโดยการคุยกันระหว่างเมเนเจอร์กับตัวผู้ถูกประเมิน เพื่อหาตัวแทนของเพื่อนร่วมงานที่เหมาะสม คำว่าเหมาะสมคงต้องดูเป็นเคสๆ ไป เช่น ดูว่าเพื่อนร่วมงานนั้นเคยร่วมงานกับผู้ถูกประเมินมาในโปรเจกต์ต่างๆ พอที่จะประเมินได้ไหม และไม่ได้ถูกเลือกมาเพียงเพราะ ‘สนิท’ กับผู้ถูกประเมินเท่านั้น เป็นต้น

 

หลังจากเจรจากันแล้ว ผู้ถูกประเมินจะได้ ‘Shortlist’ ของเพื่อนร่วมงานมา

 

เพื่อนร่วมงานจะได้รับความคาดหวังให้ประเมินใน 3 เรื่อง ได้แก่

 

Strength: จุดแข็ง และสิ่งต่างๆ ที่ผู้ถูกประเมินทำได้ดีและควรจะต้องทำต่อไป

 

Weaknesses: สิ่งที่ควรพัฒนา

 

โดยทั้งสองนี้จะใช้ Criteria ที่กล่าวมาแล้วในการให้คะแนน

 

Specific Project: เพื่อนร่วมงานจะขอให้ประเมินผู้ถูกประเมินจากโปรเจกต์ต่างๆ ที่เคยได้ทำร่วมกัน

 

หลักการ 360 Degree Feedback ของ Google คือ ผู้ถูกประเมินจะไม่รู้ว่าใครเขียน คนที่เห็นชื่อคนเขียนคือเมเนเจอร์เท่านั้น แต่ผู้ถูกประเมินจะสามารถเข้ามาดูรายละเอียดได้ เพียงแต่จะไม่รู้ชื่อคนเขียนเท่านั้นเอง

 

C: Calibration

ขั้นตอนนี้จะเป็นการทำให้การประเมินอยู่บนมาตรฐานเดียวกันมากที่สุด หลังจากที่เมเนเจอร์ได้นำ Self Assessment กับ Peer Review มารวมกันแล้ว เมเนเจอร์จะให้คะแนนบนสเกลดังนี้

 

  • Needs Improvement
  • Consistently Meets Expectations
  • Exceeds Expectations
  • Strongly Exceeds Expectations
  • Superb

 

Google เรียกส่วนนี้ว่า Draft Rating

 

สมมติว่าผู้ถูกประเมินได้ Strongly Exceeds Expectations ตัวเมเนเจอร์เองจะต้องเข้าประชุมร่วมกับเมเนเจอร์ท่านอื่น เพื่อ Calibrate เกรดนี้ โดยกระบวนการจะทำรายบุคคล เพื่อดูว่าเกรดที่ทุกคนได้นั้นแฟร์จริงๆ และเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งองค์กร และยังทำให้ผลในขั้นตอนสุดท้ายนั้นสะท้อนถึงความคาดหวังที่ตรงกัน

 

กระบวนการ Calibration จึงเป็นตัวลดความลำเอียง และช่วยให้ผลที่ออกมาแฟร์มากขึ้นสำหรับพนักงานทุกคนด้วย

 

นอกจากนี้สิ่งที่จะทำหลังจากให้เกรดแล้ว ก็ต้องตกลงกันด้วย เช่น ถ้าคนนี้ได้ Calibrate แล้วได้ Strongly Exceeds Expectations แปลว่าคนนี้ต้องได้รับผลตอบแทนมากกว่าคนอื่นอย่างมีนัยสำคัญ หรือการเลื่อนตำแหน่ง ไม่เช่นนั้นแล้วคำว่า Strongly Exceeds Expectaions ก็จะไม่มีความหมายอะไร

 

หลักเกณฑ์ในการให้คะแนน

อันนี้จะเอาของ Google มาใช้เลยก็ได้ หรือจะเขียนแบบขยายความให้เหมาะกับบริบทของบริษัทของเราก็ได้ อย่างเช่น

 

ไม่เป็นที่น่าพอใจ (1 คะแนน): ไม่สามารถส่งมอบงานตามคาดหมายได้เป็นส่วนใหญ่ การทำงานของบุคคลนี้ไม่สามารถยอมรับในบริษัท

 

ต้องปรับปรุง (2 คะแนน): ไม่สามารถส่งมอบงานตามความคาดหมาย ‘อย่างต่อเนื่อง’ ได้ และมักจะไม่สามารถดูแลงานที่รับผิดชอบได้อย่างครบถ้วน ต้องได้รับการพัฒนาอย่างมาก เพื่อที่จะสามารถทำงานได้ตามมาตรฐานของบริษัท

 

ตรงตามความคาดหวัง (3 คะแนน): สามารถส่งมอบงานตามความคาดหมายได้อย่างสม่ำเสมอ มีความสำคัญต่อองค์กรหรือโครงการในระดับปานกลาง สามารถทำงานได้สม่ำเสมอ และสามารถมอบความไว้เนื้อเชื่อใจได้ และมีความสามารถในการทำงานเป็นทีมหรือเป็น Team Player ที่ดีได้

 

ดีกว่าความคาดหวัง (4 คะแนน): สามารถส่งมอบงานได้เกินความคาดหมายบ่อยครั้ง มีความสำคัญต่อองค์กรหรือโครงการอย่างสูง เพราะเป็นองค์ประกอบสำคัญต่อความสำเร็จขององค์กรหรืองานนั้นๆ อีกทั้งยังมีความรู้เชิงเทคนิคที่จำเป็น มีความคิดริเริ่ม และมีความสามารถขั้นสูงในการสื่อสารและประสานงานกับบุคคลอื่นทั้งภายในและภายนอก

 

อัศจรรย์ (5 คะแนน): ทำงานออกมาได้อย่างเกินความคาดหมายตลอดเวลา มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อความสำเร็จของบริษัท และส่งมอบงานที่มีคุณภาพสูงสุดอย่างสม่ำเสมอ มีคุณลักษณะของผู้นำ ผู้คิดค้น และผู้ที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นเสมอ การทำงานเต็มไปด้วยความมุ่งมั่นสูงสุดที่จะส่งมอบงานที่ดีที่สุด โดยที่มีความรู้และความสามารถเฉพาะทางในงานเป็นอย่างมาก เป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จขององค์กรในอนาคต

 

อันนี้เขียนเป็นไกด์ไลน์คร่าวๆ นะครับ ลองพิจารณาปรับได้ตามความเหมาะสมครับ

 

ปิดท้ายนิดหนึ่งครับ Google บอกว่า เคยให้คะแนนเป็น Scale คือมี 0.1 ปรากฏว่าไม่เวิร์ก เลยกลับมาใช้เฉพาะตัวเลขเต็ม 1, 2, 3, 4, 5 เท่านั้น

 

การชี้แจงผลลัพทธ์

เป็นอีกขั้นตอนที่สำคัญมากๆ ซึ่งอันนี้ผมคิดว่า Google ทำได้ยอดเยี่ยมมาก

 

ผมขอยกเอาพูดของ Prasad Setty ซึ่งอยู่ในหน่วยงานที่ชื่อว่า Google’s People and Innovation Lab ซึ่งได้กล่าวเกี่ยวกับการส่งมอบผลลัพธ์จากการประเมินไว้ได้
อย่างโดนใจมากๆ ว่า

 

“Traditional performance management systems make a big mistake. They combine two things that should be completely separate: performance evaluation and people development. Evaluation is necessary to distribute finite resources, like salary increases or bonus dollars. Development is just as necessary for so people grow and improve.”

 

พูดง่ายๆ คือ ควรแยกกันระหว่างฟีดแบ็ก ซึ่งมีความตั้งใจให้คนของเราเติบโตและมีพัฒนาการ กับการแจ้งเรื่องผลประโยชน์ เช่น โบนัส เงินเดือน และตำแหน่ง เพราะถ้าทำพร้อมกัน ธรรมชาติของมนุษย์จะไปโฟกัสเรื่องเงินเดือนกับโบนัส โดยอาจจะ ‘ไม่ได้ยิน’ เรื่องฟีดแบ็กที่พวกเขาควรจะนำไปปรับปรุงต่อไป

 

ดังนั้นที่ Google หลังจากผลการประเมินออกแล้ว จะมี Output Session เกิดขึ้น 2 อัน คือ

 

1. Feedback Session: อันนี้มุ่งเน้นเรื่องของผลจากการประเมินที่จะสามารถให้ผู้ถูกประเมินนำไปปรับปรุงต่อได้

2. Compensation & Promotions Session: อันนี้จะพูดเรื่องการโปรโมต เงินเดือน

 

ซึ่งทั้งสอง Session นี้ อาจจะเกิดขึ้นห่างกันได้ถึงหนึ่งเดือนเลยทีเดียว

 

ผมคิดว่าสิ่งที่เราได้เรียนรู้จาก Google ก็คือ การคิดที่มีระบบระเบียบ ความชัดเจน ยุติธรรม และการนำข้อมูลจำนวนมากมาประกอบกันนั้น ทำให้การประเมิน ซึ่งปกติเป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากทำ เป็นเรื่องที่น่าสนใจและสนุกที่จะทำได้ครับ

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X