จากการวิเคราะห์ข้อมูลที่เผยแพร่ในเว็บไซต์กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ภาพรวมประเทศร้อยละผลบวกโควิดมีแนวโน้มลดลง แต่ยังถือว่าสูงอยู่ ล่าสุดสัปดาห์ที่ 34 (วันที่ 22-28 สิงหาคม 2564) เท่ากับ 20.4% หรือทุกๆ ผู้รับการตรวจหาเชื้อ 5 คน จะพบผู้ติดเชื้อ 1 คน ในขณะที่การตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR กลับลดลงด้วย เฉลี่ยทั้งสัปดาห์เหลือวันละ 53,657 ตัวอย่าง
การประเมินสถานการณ์การระบาดของโควิดต้องอาศัยตัวเลขหลายตัวประกอบกัน รวมถึง ‘จำนวนการตรวจหาเชื้อ’ และ ‘ร้อยละผลบวก’ เพราะการตรวจหาเชื้อเป็นที่มาของตัวเลข ‘ผู้ติดเชื้อรายใหม่’ หากตรวจได้น้อย จำนวนผู้ติดเชื้อก็จะน้อยตามไปด้วย ในขณะเดียวกันหากตัวอย่างที่ส่งตรวจเป็นตัวแทนที่ดีของประชากรทั้งหมด ร้อยละผลบวกก็จะสะท้อนความชุกของการติดเชื้อในช่วงเวลาเดียวกัน
เว็บไซต์กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เผยแพร่จำนวนตัวอย่างที่ได้รับการตรวจด้วยวิธี RT-PCR และจำนวนตัวอย่างที่ตรวจพบผลบวกจากห้องปฏิบัติการทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศรายวัน แต่ความถี่ของการเผยแพร่จะเป็นทุกสัปดาห์ ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ได้เผยแพร่ข้อมูลของสัปดาห์ที่ 34 (วันที่ 22-28 สิงหาคม 2564) รวม #จำนวนการตรวจหาเชื้อ ทั้งหมด 375,599 ตัวอย่าง
คิดเป็นค่าเฉลี่ยวันละ 53,657 ตัวอย่าง* เมื่อเปรียบเทียบย้อนหลังกับสัปดาห์ก่อนพบว่า ลดลงประมาณ 10% และมีแนวโน้มลดลงจากสัปดาห์ที่เคยตรวจได้สูงที่สุดเฉลี่ยวันละ 69,043 ตัวอย่างในสัปดาห์ที่ 28 (วันที่ 11-17 กรกฎาคม 2564) ส่วนถ้าเทียบกับจำนวนประชากรทั้งประเทศในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีอัตราการตรวจหาเชื้อ 0.6% หรือทุกๆ 1,000 คน จะมีการตรวจหาเชื้อ 6 คน
ในขณะที่จำนวนตัวอย่างที่ตรวจพบผลบวกรวม 76,470 ตัวอย่าง คิดเป็น #ร้อยละผลบวก 20.4% เมื่อเปรียบเทียบย้อนหลังกับสัปดาห์ก่อนพบว่า ลดลง 2.9 จุดเปอร์เซ็นต์ และมีแนวโน้มลดลงจากสัปดาห์ที่เคยตรวจพบสูงที่สุด 25.7% ในสัปดาห์ที่ 31 (วันที่ 1-7 สิงหาคม 2564) ซึ่งอาจเป็นข่าวดีว่าสถานการณ์การระบาดดีขึ้น แต่ตัวเลขนี้ยังคงสูงอยู่คือ ทุกๆ ผู้รับการตรวจหาเชื้อ 5 คน จะพบผู้ติดเชื้อ 1 คน
หากอ้างอิงตามศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา (CDC) ซึ่งกำหนดเกณฑ์ในการบอกความเสี่ยงของการระบาดเป็น 4 ระดับตามร้อยละผลบวกของการตรวจด้วย RT-PCR ได้แก่ ต่ำ (<5%) ปานกลาง (5-7.99%) นัยสำคัญ (8-9.99%) และสูง (≥10.0%) ร่วมกับจำนวนผู้ติดเชื้อต่อ 1 แสนประชากรในรอบ 7 วัน ได้แก่ ต่ำ (<10) ปานกลาง (10-49.99) นัยสำคัญ (50-99.99) และสูง (≥100)
*ทั้งนี้ การตรวจหาเชื้อนี้ยังไม่รวมการตรวจด้วยชุดตรวจ ATK (Antigen Test Kit) ต่างจากในสหราชอาณาจักร (ซึ่งมีจำนวนประชากรใกล้เคียงกับไทย) ข้อมูลการตรวจหาเชื้อที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ทางการจะรวมการตรวจด้วยชุดตรวจรวดเร็วด้วย ทำให้ยอดการตรวจหาเชื้อสูงถึงวันละประมาณ 7-8 แสนตัวอย่างโดยเฉลี่ย ซึ่งในจำนวนนี้ประมาณ 3 แสนตัวอย่าง เป็นการตรวจด้วยวิธี RT-PCR
ภาพประกอบ: ฉัตรชัย เฉยชิต
อ้างอิง: