วันนี้ (1 เมษายน) ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.แบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน พร้อมด้วย วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ร่วมกันแถลงข่าวข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในกรณีเหตุแผ่นดินไหว โดยระบุว่า ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อทุกความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากเหตุภัยพิบัติแผ่นดินไหวในครั้งนี้ รวมถึงส่งกำลังใจไปยังเจ้าหน้าที่ทุกท่านที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่หน้างาน และครอบครัวญาติพี่น้องทุกคนที่กำลังติดตามฟังข่าวอย่างใกล้ชิดในเรื่องการกู้ชีพและค้นหาผู้รอดชีวิตจากเหตุอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่มที่เขตจตุจักร กรุงเทพฯ
ณัฐพงษ์กล่าวว่า ภารกิจหนึ่งเดียวของพรรคประชาชนในช่วงเกิดเหตุภัยพิบัติ 2-3 วันมานี้ เป็นไปเพื่อช่วยเหลือสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วย ให้ประชาชนได้รับการช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด
ณัฐพงษ์ กล่าวว่า ทันทีที่ทราบเหตุเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา นอกจากตนเองจะได้ลงพื้นที่ไปยังจุดที่อาคาร สตง. ถล่มแล้ว ยังได้สั่งการไปยังเครือข่ายทีมงานจังหวัดของพรรคประชาชนทั่วประเทศ รวมถึง สส. ในเขตต่างๆ หลายจังหวัด ลงพื้นที่รับฟังปัญหาของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เพื่อนำมาประสานงานต่อและให้ความช่วยเหลือ นำมาสู่การเปิดเว็บไซต์ https://earthquake.peoplesparty.or.th/ เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (29 มีนาคม) เพื่อแสดงผลให้เห็นว่ามีประชาชนในพื้นที่ใดบ้างได้รับผลกระทบในขณะนี้
ณัฐพงษ์ระบุว่า เราเร่งดำเนินการเพื่อให้ประชาชนมีความเชื่อมั่น ที่จะเข้าพักอาศัยในอาคารสูงต่อไปได้ ตนเองได้ลงพื้นที่ไปกับ สส. และสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย เพื่อเข้าตรวจอาคารเบื้องต้น ซึ่งไม่ใช่การตรวจแบบทางการที่ผู้ตรวจต้องได้รับอนุญาตจากกรมโยธาธิการและผังเมือง ภารกิจนี้ทำไปเพื่อช่วยเติมเต็มพื้นที่ในปริมณฑล เช่น นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร เพื่อให้ประชาชนอย่างน้อยมีความเชื่อมั่นว่าอาคารมีความปลอดภัยเพียงพอที่จะดำเนินชีวิตต่อไปได้
ณัฐพงษ์ กล่าวต่อไปว่า สิ่งสำคัญไม่แพ้กันคือต้องทำงานอย่างเป็นระบบ โดย นายวิโรจน์ ซึ่งเคยเป็นหัวหน้าคณะช่วยเหลือเหตุภัยพิบัติน้ำท่วมในภาคเหนือมาแล้ว ครั้งนี้ได้รับมอบหมายจากตนในช่วง 3 วันที่ผ่านมา ในการเตรียมคณะทำงานแล้วบางส่วน ทั้งเรื่องการเยียวยาเฉพาะหน้า เช่น เตรียมข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชน และมาตรการระยะยาวได้เตรียมข้อมูลมาสื่อสารให้เกิดความชัดเจน ว่าพรรคประชาชนในฐานะตัวแทนประชาชนในเหตุวิกฤตขณะนี้ เราตั้งใจทำงานเพื่อสนับสนุนทุกภาคส่วนเพื่อแก้ไขปัญหาของประชาชนโดยเร็วที่สุด
ตั้งทีมภารกิจย่อยติดตามตรวจสอบ
จากนั้น นายวิโรจน์ ได้แถลงรายละเอียดของคณะทำงานภารกิจย่อยทุกชุด แบ่งเป็น
- ภารกิจตรวจสอบอาคาร มอบหมาย พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.แบบบัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคประชาชน ติดตามความคืบหน้าต่อไป อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบอาคารสูง อาคารขนาดใหญ่ อาคารที่เป็นที่ชุมนุมคน อาคารอยู่อาศัยรวม โรงแรม โรงงาน สถานบริการ ป้าย บิลบอร์ดต่างๆ จำเป็นต้องให้วิศวกรเจ้าของโครงการ ตรวจรับอย่างเป็นทางการอีกครั้ง การตรวจอาคารเหล่านี้จำเป็นต้องเร่งรัดและจัดลำดับความสำคัญอย่างถูกต้อง
- ภารกิจช่วยประชาชนที่ได้รับผลกระทบให้เข้าถึงการเยียวยาจากภาครัฐ ตามมาตรา 30 ของ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ตลอดจนการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในกรณีเหตุแผ่นดินไหว พรรคได้มอบหมายให้ ศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สส.กทม. พรรคประชาชน รับผิดชอบ ซึ่งหลังจากเหตุการณ์เริ่มคลี่คลาย และหลังภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยอาคาร สตง. ถล่มผ่านพ้นไปแล้ว นายศุภณัฐ จะประสานกับ กทม. ถึงหลักเกณฑ์แบบฟอร์มในการเข้ารับการเยียวยา ให้ผู้รับผลกระทบที่เข้าหลักเกณฑ์ได้รับการเยียวยาอย่างรวดเร็วที่สุด และยังต้องเร่งประสานกับ (คปภ.) ให้ประชาชนได้รับการชดเชยจากบริษัทประกันภัยอย่างเป็นธรรม
- กรณีพบว่าไซต์ก่อสร้างอาคาร สตง. มีการจ้างงานในรูปแบบเหมาช่วงเป็นจำนวนมาก จำเป็นต้องมีการสำรวจโดยละเอียดว่า มีคนงานในพื้นที่จริงกี่คน สูญหายกี่คน ซึ่งพรรคพบเพิ่มเติมว่า มีลูกจ้างจำนวนไม่น้อยที่นายจ้างไม่ได้ลงทะเบียนในระบบประกันสังคม ต้องดูว่ารัฐบาลจะเยียวยาได้หรือไม่ ซึ่งมอบหมายให้ เซีย จำปาทอง สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ดูแลในภารกิจนี้
- ภารกิจการตรวจสอบอาคาร สตง. ถล่ม พรรคมอบหมายให้ สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร ตรวจสอบประเด็นข้อสงสัยต่างๆ อย่างละเอียด ตั้งแต่ TOR การประมูลจัดซื้อจัดจ้าง การบริหารสัญญา การออกแบบอาคาร การควบคุมการก่อสร้าง และการใช้วัสดุต่างๆ ซึ่งต้องดำเนินการอย่างรัดกุมรอบคอบ ต้องไม่ด่วนสรุปหรือทิ้งประเด็นใดประเด็นหนึ่ง เนื่องจากอาจทำให้รัฐเสียผลประโยชน์ในการเรียกร้องจากบริษัทประกันภัยได้
- การตรวจสอบทุนต่างชาติเข้ามากินรวบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างไทย พรรคได้มอบหมายให้ สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ติดตามตรวจสอบว่ามีการใช้นอมินีคนไทยมาถือหุ้นแทนบริษัทจีนหรือบริษัทต่างชาติใดหรือไม่ และเข้ามาทำธุรกิจที่ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการชาวไทยหรือไม่
- กรณี Cell Broadcast พรรคมอบหมาย ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ติดตามให้มั่นใจว่าภายในเดือนกรกฎาคมนี้ จะมีระบบ Cell Broadcast เพื่อแจ้งเตือนสาธารณภัยได้อย่างทันท่วงที แต่ในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการได้ตามกำหนดการ ต้องติดตามว่ารัฐบาลจะใช้ระบบหรือช่องทางใดในการเตือนภัยพิบัติไปพลางก่อน
วางข้อเสนอระยะยาว ต้องรวดเร็วและโปร่งใส
และ ภารกิจสุดท้ายซึ่งสำคัญที่สุด แผนการรับมือกับภัยพิบัติระยะยาว ซึ่งจำเป็นต้องบูรณาการทั้งระบบราชการและระบบงบประมาณ ให้ประชาชนมั่นใจต่อการรับมือภัยพิบัติ ซึ่งณัฐพงษ์กล่าวสรุปว่า ความเชื่อมั่นของประชาชนจะเกิดขึ้นได้ ต้องดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพและชัดเจนมากเพียงพอ การตั้งระบบบริหารจัดการภัยพิบัติรวมศูนย์ที่ส่วนกลาง เพื่อให้รัฐบาลเห็นในภาพรวม พร้อมขอชื่นชมการทำงานหลายภาคส่วนทั้งรัฐบาลและ กทม. ในการบริหารจัดการสถานการณ์ เช่น ระบบ Traffy Fondue ที่มองว่ามีความพร้อม และรัฐบาลสามารถนำมาปรับใช้ได้ในทุกจังหวัด เพราะในบางจังหวัดมีหลายช่องทางร้องเรียน อาจทำให้ประชาชนสับสน จึงคิดว่า Traffy Fondue เป็นตัวอย่างที่ดีของ กทม. ที่รัฐบาลสามารถนำไปปรับใช้ในจังหวัดอื่นๆ ได้ทันที
ณัฐพงษ์ยังกล่าวถึงข้อเสนอในระยะยาว เหตุภัยพิบัติแผ่นดินไหวที่เพิ่งเกิดขึ้น ต้องยอมรับว่ายังมีอาคารอีกหลายแห่งที่สร้างก่อนกฎกระทรวง พ.ศ. 2550 ว่าด้วยการก่อสร้างอาคารเพื่อรองรับผลสะเทือนจากแผ่นดินไหว อย่างน้อยการวางแผนในระยะยาวหากมีแผ่นดินไหวครั้งต่อไป รัฐบาลจะมีตัวเลขที่ชัดเจนแถลงให้ประชาชนรับทราบว่าอาคารใดบ้างจำเป็นต้องมีการเสริมความแข็งแรงตามหลักวิศวกรรมให้พร้อมรองรับเหตุแผ่นดินไหวที่อาจจะรุนแรงมากขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ เรื่องระบบ Cell Broadcast นายกรัฐมนตรีให้ความชัดเจนแล้วว่าจะพร้อมใช้ในช่วงเดือนกรกฎาคม ขอให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทุกคนในการติดตั้งระบบ และเราจะทำหน้าที่ในฐานะพรรคการเมืองและ สส. ในการช่วยติดตามต่อไป ช่วงเวลา 3-4 นาทีก็มีความหมาย ในการช่วยเหลือประชาชนจากภัยพิบัติ
ณัฐพงษ์กล่าวด้วยว่า ตราบใดที่ยังมีความเดือดร้อนอยู่ ผู้ที่ได้รับผลกระทบยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ คณะทำงานชุดนี้ก็จะทำงานต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการตรวจสอบ ส่วนรูปแบบที่จะเสนอไปยังรัฐบาล คิดว่าคงใช้หลายๆกลไกเช่นกลไกในกรรมาธิการ ที่สามารถทำรายงานส่งข้อเสนอแนะและข้อสังเกตไปยังรัฐบาลได้รวมถึงการแถลงข่าวซึ่งจะใช้ทุกช่องทางที่มีอยู่
ณัฐพงษ์ระบุว่า ขณะนี้มีข้อสงสัยจากหลายภาคส่วนในสังคม ต่อเหตุการณ์ที่ตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ถล่ม ส่วนตัวคิดว่า ในส่วนที่มีการเปิดให้เข้าตรวจสอบต่างๆ ถือเป็นก้าวแรกที่ดีแต่ขั้นตอนต่อจากนี้จนถึงได้ข้อสรุป ว่าเหตุที่ตึกถล่มเกิดจาก แบบที่ไม่รองรับไม่ดี หรือเกิดจากการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐานกระบวนการทั้งหมดต้องมีความโปร่งใสสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนได้
“สิ่งสำคัญในช่วงเหตุวิกฤตคือการสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชน นอกจากการตอบสนองอย่างรวดเร็ว ก็คือเรื่องของความโปร่งใสด้วย ถ้ากระบวนการตรวจสอบ หากรัฐบาลดำเนินการโปร่งใสไม่มากเพียงพออาจทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นได้ เพราะฉะนั้นหลังจากนี้เป็นต้นไป เพื่อทำให้ประชาชนทุกคนมีความเชื่อมั่นต่อรัฐมากขึ้น และคลายข้อกังวลใจต่อเหตุภัยพิบัติมากขึ้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐควรดำเนินการ ด้วยความโปร่งใสอย่างตรงไปตรงมา” ณัฐพงษ์กล่าว