วันนี้ (4 พฤศจิกายน) พริษฐ์ วัชรสินธุ สส. แบบบัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคประชาชน แถลงความคืบหน้าในการผลักดันกฎหมายของพรรคประชาชนตลอดระยะเวลา 1 ปี โดยระบุว่า พรรคประชาชนพยายามวางบทบาทเป็นฝ่ายค้านเชิงรุกที่ผสมผสาน 2 บทบาท คือฝ่ายค้านเชิงรับ ที่ประชาชนคาดหวังในการตรวจสอบรัฐบาล ทั้งพรรคก้าวไกลรวมถึงพรรคประชาชนทำงานอย่างเต็มที่ และบทบาทฝ่ายค้านเชิงรุกคือบทบาทที่จะนำทางรัฐบาล เน้นข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม และเสนอแนะสิ่งที่รัฐบาลควรทำ ซึ่งในส่วนนี้คือการยื่นร่างแก้ไขกฎหมายที่เปรียบเสมือนกับการฉายภาพพิมพ์เขียวของประเทศไทยในรูปแบบของพรรคประชาชนว่าเป็นอย่างไร
เป้าหมาย L.A.W ฝ่ายค้านเสนอกฎหมาย
สำหรับหลายคนที่ตั้งข้อสังเกตว่า การที่พรรคประชาชนเป็นฝ่ายค้านเสนอกฎหมายไปแล้วจะได้อะไร ในเมื่อเสียงในสภาผู้แทนราษฎรของเราไม่เกินกึ่งหนึ่ง แต่เรามี 3 วัตถุประสงค์คือ
- แก้ไขกฎหมายเพื่อประชาชน (Legislative Change) คือการแก้กฎหมายให้สำเร็จจริงๆ ร่างกฎหมายหลายฉบับที่เรายื่นไปนั้น สอดคล้องกับ 300 นโยบายที่เรานำเสนอกับประชาชนในช่วงของการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งหากเราทำสำเร็จในการผลักดันกฎหมายให้มีการแก้ไขจริง ก็เปรียบเสมือนการทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน แม้ในวันที่เราอาจยังไม่ได้เป็นรัฐบาล
- การกำหนดวาระของรัฐบาล (Agenda-Setting) เพราะไม่ว่าการเสนอกฎหมายของเรา ท้ายที่สุดจะนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายหรือไม่ แต่การที่เรายื่นเข้าไป ส่วนหนึ่งเป็นการทำให้รัฐบาลต้องมาคุยและหาทางออกร่วมกันในประเด็นที่เราคิดว่าสำคัญ ถึงแม้ว่ารัฐบาลอาจมีข้อเสนอที่ไม่ตรงกับเราทั้งหมด แต่หากการยื่นกฎหมายของเราทำให้รัฐบาลเสนอร่างกฎหมายเข้ามาประกบ และสามารถแก้ไขปัญหาได้บางส่วน เราก็เห็นว่าเป็นความสำเร็จที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน
- การทำงานเชิงความคิด (Winning Hearts & Minds) แม้ร่างกฎหมายที่เราเสนอเข้าไปอาจไม่ผ่านการเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรในสภาชุดนี้ แต่การใช้พื้นที่สภาในการอธิบายสังคมว่า ทำไมการแก้ไขกฎหมายจะเป็นประโยชน์ ตนเชื่อว่าจะทำให้ประชาชนเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงที่เราพยายามจะนำเสนอมากขึ้น และเข้าใจว่าเรามีความมุ่งมั่นตั้งใจลงลึกในรายละเอียดว่าจะแก้ไขสิ่งต่างๆ อย่างไร และหวังว่าหากประชาชนให้การสนับสนุนเรื่องที่เราเสนอ ก็อาจทำให้ได้รับการสนับสนุนมากขึ้นในการเลือกตั้งครั้งถัดไป
รวบยอดร่างกฎหมายที่ผ่านสภา
พริษฐ์เปิดเผยว่า ขณะนี้พรรคประชาชนเสนอร่างกฎหมายเข้าสภาไปแล้ว 84 ฉบับ มีร่างที่ผ่านวาระ 1 ไปแล้ว 25 ฉบับ ผ่านความเห็นชอบ 3 วาระแล้ว 5 ร่าง เช่น สมรสเท่าเทียม และกฎหมายไม่ตีเด็ก ร่างกฎหมายที่ปัจจุบันอยู่ในชั้นกรรมาธิการ หรือผ่านวาระ 1 มาแล้ว เช่น พ.ร.บ.อากาศสะอาด และ พ.ร.บ.การขนส่งทางราง ส่วนร่างกฎหมายที่สภาไม่รับหลักการ เช่น สุราก้าวหน้า และกระจายอำนาจขนส่ง รวมถึงร่างกฎหมายที่สภายังไม่ได้ลงมติในวาระ 1 มีจำนวน 59 ฉบับ
ดังนั้นช่วงปิดสมัยประชุม เราจะผลักดันกฎหมายและรณรงค์เดินสายทั่วประเทศ 7 ชุด ประกอบด้วย
2 เปิด
- เปิดโอกาสแข่งขันทางการค้า โดยการยื่นร่าง พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า
- เปิดโปงการทุจริต ตัวอย่างร่างกฎหมายที่จะเสนอ ได้แก่ พ.ร.บ.ข้อมูลสาธารณะ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราในเรื่องของสิทธิมนุษยชน
2 ปลดล็อก
- ปลดล็อกที่ดิน เช่น พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่ดิน, พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ, พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์
- ปลดล็อกการท่องเที่ยว ทั้ง พ.ร.บ.โรงแรม และ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร
2 ปฏิรูป
1. ปฏิรูปกองทัพ ในกฎหมาย พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกลาโหม, พ.ร.บ.ยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร, พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร, พ.ร.บ.ฉุกเฉิน, ร่างรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับเกณฑ์ทหาร และร่างรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับ พ.ร.ป.ศาลทหาร
- ปฏิรูปการศึกษา เสนอกฎหมาย พ.ร.บ.การศึกษา และร่างรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเรียนฟรี 15 ปี
และ 1 ปกป้อง คือการเสนอกฎหมายปกป้องสิ่งแวดล้อม พ.ร.บ.โลกรวน, พ.ร.บ.ขยะ, พ.ร.บ.การรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ หรือ ‘กฎหมาย PRTR’ (Pollutant Release and Transfer Register) และการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม
พริษฐ์ระบุด้วยว่า เราเข้าใจดีในเชิงคณิตศาสตร์ เสียงของ สส. พรรคประชาชน ที่มีเพียงน้อยนิดก็ไม่เพียงพอในการผ่านความเห็นชอบกฎหมายในสภาได้ จึงพยายามที่จะทำงานระดมความคิดกับพรรคซีกรัฐบาล เพื่อให้ร่างกฎหมายของพรรคประชาชนผ่านความเห็นชอบของสภาไปได้ เพราะมีความเชื่อมั่นในกฎหมายที่เสนอว่าเป็นจุดยืนที่เป็นประโยชน์กับประชาชน สามารถแก้ปัญหาของประเทศได้
“ภารกิจของเราไม่ใช่การเปลี่ยนจุดยืน แต่คือการเปลี่ยนใจคนทั้งในและนอกสภาที่มีความสำคัญยิ่ง เราอธิบายต่อสังคมเกี่ยวกับร่างกฎหมายดังกล่าวจะทำให้การสนับสนุนในสภามีโอกาสมากขึ้น เพราะเสียงประชาชนที่ดังเข้ามาในสภาก็อาจมีผลกระทบต่อท่าทีของ สส. ในสภาด้วยเช่นกัน” พริษฐ์กล่าว
ยืนยันฝ่ายค้านไม่มีอ่อนข้อ
ต่อมาสื่อมวลชนสอบถามถึงผลสำรวจความเห็นของประชาชนที่สะท้อนว่ากระแสนิยมของพรรคประชาชนลดลง โดยพริษฐ์ตอบว่า ผลโพลทุกสำนักก็เป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องดูรายละเอียดว่าเป็นผลโพลของสำนักไหน วิธีการถามเป็นอย่างไร ถามกับใคร เป็นต้น
“ท้ายที่สุดผลงานของเรา ประชาชนจะพิพากษาอย่างไรก็ไปจบที่การเลือกตั้งครั้งถัดไป เหมือนเกมฟุตบอล เราสามารถปรับเปลี่ยนไประหว่างแข่งขันได้ แต่ท้ายที่สุดผลคะแนนต้องจบใน 90 นาที” พริษฐ์กล่าว
พริษฐ์ยังยืนยันถึงการทำงานของฝ่ายค้านอย่างเต็มที่ รวมถึงข้อสงสัยว่าอาจค้านรัฐบาลไม่มากพอในประเด็นสำคัญ โดยยืนยันว่า เราในฐานะแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้านใช้กลไกสภาอย่างเต็มที่ในการตรวจสอบรัฐบาลทุกเรื่องที่สังคมคาใจ
“เรื่องของข้อเท็จจริง ผมปฏิเสธไม่ได้ว่าสมัยก่อนพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล ณ เวลานั้น เคยอยู่ในซีกฝ่ายค้านร่วมกัน แต่ผมคิดว่าตั้งแต่หลังการตั้งรัฐบาลในปี 2566 เราอยู่คนละขั้วกัน เราก็ทำงานอย่างเต็มที่ในการตรวจสอบ ไม่ได้มีการฮั้วกัน ไม่มีการอ่อนข้ออะไรแน่นอน และอีก 2 ปีข้างหน้าก็ยิ่งตอกย้ำในทิศทางดังกล่าว” พริษฐ์กล่าว