×

พรรคประชาชนเสนอร่าง กม.จัดสรรที่ดิน กำหนดตั้งนิติบุคคลดูแลลูกบ้านภายใน 3 ปี ด้านณัฐพงษ์ชี้ ราชการอุ้ยอ้าย ขาดพลังแก้ปัญหา

โดย THE STANDARD TEAM
31.10.2024
  • LOADING...
พ.ร.บ. การจัดสรรที่ดิน

เมื่อวานนี้ (30 ตุลาคม) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดสรรที่ดิน เสนอโดย ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร มีการพิจารณาพร้อมกับร่างคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งกรมที่ดินเสนอ และร่างสุดท้ายเป็นของพรรคเพื่อไทย เสนอโดย ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

 

รวมเป็น 3 ร่าง เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากโครงการบ้านจัดสรรที่ไม่มีการส่งมอบจากเจ้าของโครงการ และนิติบุคคลมีข้อติดขัดทางกฎหมายที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้ลูกบ้านได้

 

ธัญธร ธนินวัฒนาธร สส. กทม. พรรคประชาชน อภิปรายนำเสนอร่างของพรรคประชาชน โดยระบุว่า ที่ผ่านมาได้ติดตามปัญหาในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ไปจนถึงการประชุมจัดตั้งนิติบุคคล พบว่ากฎหมายในปัจจุบันยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้ การจัดตั้งนิติบุคคลยังมีความยากลำบากตามบริบทของพื้นที่ หลายพื้นที่ยังมีปัญหาสาธารณูปโภคส่วนกลาง เช่น น้ำท่วมขัง ยังต้องจัดเวรยามคอยดูแลเปิดเครื่องสูบน้ำ มีปัญหาตามมาทั้งค่าน้ำมัน มลภาวะ กลิ่น เสียง การบำรุงรักษา และภาระงานที่เพิ่มขึ้นของเจ้าหน้าที่

 

พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดินนี้มีใจความหลักคือ กำหนดระยะเวลาให้ผู้จัดสรรที่ดินแจ้งหรือเรียกให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรจัดตั้งนิติบุคคลให้เสร็จสิ้นภายใน 3 ปี นับตั้งแต่ที่ได้มีการจดทะเบียนโอนทรัพย์สินดังกล่าวไม่น้อยกว่า 50% ของจำนวนแปลงย่อยตามแผนผังโครงการจัดสรรที่ดินแล้ว และกำหนดให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนแปลงย่อยตามแผนผังโครงการ สามารถแต่งตั้งตัวแทนเพื่อยื่นคำขอจดทะเบียนเพื่อจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรได้เอง

 

ธัญธรกล่าวต่อว่า ใน พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดินที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันในมาตรา 49 ระบุว่า ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคให้จัดเก็บเป็นรายเดือนจากที่ดินแปลงย่อยในโครงการจัดสรรที่ดินทุกแปลง ทั้งนี้ อาจกำหนดค่าใช้จ่ายในอัตราที่แตกต่างกันตามประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินหรือขนาดพื้นที่ได้ตามระเบียบที่คณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลางกำหนด หรือให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรออกค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคสำหรับที่ดินจัดสรรที่ตนซื้อ หรือให้ผู้จัดสรรที่ดินออกค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและจัดการสาธารณูปโภคสำหรับที่ดินแปลงย่อยที่ยังไม่มีผู้ซื้อ

 

ส่วนในร่างของ ครม. ที่เสนอเข้ามาใหม่นี้ ได้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา 49 และกำหนดให้ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาจัดการสาธารณูปโภคจัดเก็บเป็นรายเดือนจากที่ดินแปลงย่อยในโครงการจัดสรรที่ดินทุกแปลงหรือตามที่กำหนดในข้อบังคับของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ซึ่งเห็นว่าเป็นข้อดี เป็นการเปิดโอกาสให้สอดคล้องกับภาวะปัจจุบันในข้อเท็จจริงที่นิติบุคคลมีความหลากหลายตามแต่พื้นที่ อาจเลือกเก็บค่าส่วนกลางได้เป็นรายเดือน ราย 6 เดือน หรือรายปี ก็สามารถทำได้

 

แนะเพิ่มโทษหากผู้จัดสรรที่ดินฝ่าฝืนคำสั่ง

 

ธัญธรอภิปรายต่อว่า ใน พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดินปัจจุบันในมาตรา 65 กำหนดโทษให้ผู้ฝ่าฝืนของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือผู้ซึ่งคณะกรรมการมอบหมาย ให้ปฏิบัติตามคำสั่งและระวางโทษปรับอีกวันละ 1,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืน โดยร่างที่ ครม. เสนอได้เพิ่มโทษมาเป็นวันละ 2,000 บาท ซึ่งตนรู้สึกว่าค่าปรับอาจจะยังน้อยเกินไปสำหรับโครงการที่ละเมิดกฎระเบียบ อีกทั้งกฎหมายเดิมถูกบังคับใช้มาถึง 23 ปีแล้ว สภาพเศรษฐกิจและค่าเงินได้เปลี่ยนแปลงไปมาก และปัจจุบันผู้จัดสรรที่ดินมีการฝ่าฝืนคำสั่งของคณะกรรมการเพิ่มมากขึ้นด้วย

 

ทั้งนี้ จึงเห็นด้วยในหลักการในร่าง พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดินทั้ง 3 ฉบับที่มีการพิจารณาอยู่ และขอสนับสนุนให้มีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาศึกษา ผลักดัน และแก้ไขให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลง มาแก้ไขปัญหาหน้าบ้านของประชาชนที่พบเจออยู่ทั่วประเทศด้วยกัน

 

24 ปี ราชการอุ้ยอ้าย-การเมืองล้มเหลว ขาดพลังแก้ปัญหาประชาชน

 

ขณะที่ณัฐพงษ์ได้อภิปรายสรุปก่อนการลงมติว่า ปัญหาของหมู่บ้านจัดสรรตลอด 20 กว่าปีคือภาพสะท้อนปัญหาของรัฐราชการที่มีความอุ้ยอ้ายและระบบการเมืองไทยที่มีความล้มเหลว ความอุ้ยอ้ายของระบบรัฐราชการสะท้อนผ่านการที่ 2 ใน 3 ของโครงการหมู่บ้านจัดสรรในประเทศขณะนี้ยังไม่มีนิติบุคคล

 

ร่างของกรมที่ดินที่ส่งมาประกบนี้แม้จะมีความครอบคลุม แต่เมื่อกรมที่ดินเห็นปัญหาเหล่านี้มาตั้งแต่ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดินบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2543 ทำไมผ่านไป 24 ปีเพิ่งจะมีการแก้ไข ด้วยระบบแบบนี้เองที่ทำให้ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ หน้าบ้านประชาชนยังไม่มีการแก้ไข ถ้าเป็นแบบนี้หลายปัญหาใหญ่จะได้รับการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร ในเมื่อเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการในกรมที่ดินรู้ดีแต่ไม่ชงเรื่องว่ากฎหมายต้องแก้ไข ข้าราชการหลายคนรู้ปัญหาว่าเพราะระบบรัฐราชการเป็นแบบนี้จึงขาดพลังในการริเริ่มสร้างสรรค์แก้ไขปัญหาให้ประชาชน

 

ณัฐพงษ์กล่าวต่อไปว่า ส่วนระบบการเมืองที่ล้มเหลวสะท้อนผ่านการที่ทั้งร่างของตนและร่างที่ธีรรัตน์เสนอมาประกบล้วนถูก ครม. อุ้มกลับไปพิจารณาก่อนถึง 8 เดือน ระบบการเมืองที่ทำหน้าที่ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ทั้งที่ ครม. เห็นระเบียบวาระการประชุมสภามาตลอด ไม่จำเป็นต้องรอขนาดนี้เลย ถ้า ครม. เห็นระเบียบวาระแล้วส่งร่างกฎหมายไปให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาก่อนเข้าสภาก็จะสามารถร่นเวลารอแบบนี้ได้อีกมาก

 

“โครงสร้างระบบราชการที่อุ้ยอ้ายและระบบการเมืองที่ทำให้ดีกว่านี้ได้ หลายอย่างเราผลักดันร่วมกันได้ การทำให้ระบบรัฐราชการและการเมืองมีความโปร่งใส มีประสิทธิภาพในการทำงาน มีความเป็นประชาธิปไตย และมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง คือทางออกที่จะนำปัญหาของพี่น้องประชาชน ไม่ใช่เฉพาะในกรณี พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน แต่ทุกเรื่องที่ทำให้ประชาชน ได้รับการตอบสนองอย่างดียิ่งขึ้นในอนาคต” ณัฐพงษ์กล่าว

 

หลังการอภิปรายเสร็จสิ้น สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเสียงข้างมากเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดินทั้ง 3 ฉบับ และจะมีการพิจารณาร่างดังกล่าวในชั้นกรรมาธิการวิสามัญต่อไป

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising