×

ย้อนรอยมรดกคณะราษฎร ประวัติศาสตร์ที่ถูก (บังคับ) ให้ลืม

24.06.2022
  • LOADING...
มรดกคณะราษฎร

หลังการอภิวัฒน์สยามของคณะราษฎรในปี 2475 มรดกที่ทิ้งไว้มิใช่เพียงแค่ประชาธิปไตยที่อยู่จวบจนวันนี้ แต่ยังคงมีมรดกอื่นที่ทิ้งร่องรอยไว้ให้หวนนึกถึงวันเปลี่ยนผ่านการปกครอง ทว่า วันนี้…เมื่อสำรวจมรดกหลายชิ้นของคณะราษฎร กลับค่อยๆ เลือนหายไปตามกาลเวลา 

 

THE STANDARD ชวนย้อนรอยมรดกคณะราษฎรในประวัติศาสตร์การปกครอง ที่วันนี้กำลังจะกลายเป็นประวัติศาสตร์ถูก (บังคับ) ให้ลืม

 

มรดกคณะราษฎร

 

สถานที่: ศาลาเฉลิมไทย

สถานะปัจจุบัน: ถูกรื้อถอน (ปี 2492-2532)

 

ศาลาเฉลิมไทยถูกสร้างตามความต้องการของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เพื่อให้เป็นโรงละครแห่งชาติที่ทันสมัยทัดเทียมนานาอารยประเทศ โดยสถาปัตยกรรมภายนอกถูกออกแบบให้กลมกลืนกับสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ บนถนนราชดำเนินกลาง

 

ท่ามกลางเสียงครหาจากฝ่ายขวาว่า โรงมหรสพดังกล่าวน่าเกลียด ดูแข็งทื่อ ไม่ชดช้อย ทั้งยังบดบังทัศนียภาพอันสวยงามของโลหะปราสาท จนนำไปสู่มติคณะรัฐมนตรีให้รื้อศาลาเฉลิมไทยในสมัยรัฐบาล พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ 

 

แม้จะมีเสียงคัดค้านการรื้อถอนอยู่บ้างจากวงการภาพยนตร์ไทย แต่ด้วยศาลาเฉลิมไทยไม่ได้ขึ้นทะเบียนให้เป็นโบราณสถาน กรมศิลปากรจึงไม่ได้ให้ความสนใจนัก

 

นอกจากนี้ศาลาเฉลิมไทยยังเป็นที่หลบภัยและโรงพยาบาลของประชาชนที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในเหตุการณ์ 14 ตุลา อีกด้วย

ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์

 

อ้างอิง:

 


 

สถานที่: หมุดคณะราษฎร

สถานะปัจจุบัน: สูญหาย (ปี 2479-2560)

 

หมุดคณะราษฎรฝังอยู่กับพื้นถนนที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ฝั่งสนามเสือป่า ณ ตำแหน่งที่พระยาพหลพลพยุหเสนาอ่านประกาศคณะราษฎรในการอภิวัฒน์สยาม ปี 2475 โดยหมุดมีข้อความว่า

 

‘ณ ที่นี้ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ เพื่อความเจริญของชาติ’

 

ต่อมาเมื่อเดือนเมษายน 2560 หมุดนี้ได้ถูกแทนที่ด้วย ‘หมุดหน้าใส’ โดยมีข้อความบนหมุดว่า

 

ความนับถือรักใคร่ในพระรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดี ในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องทำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง ขอประเทศสยามจงเจริญยั่งยืนตลอดไป ประชาชนสุขสันต์ หน้าใส เพื่อเป็นพลังของแผ่นดิน

 

ด้านกรมศิลปากรชี้แจงต่อผู้สื่อข่าวมติชนว่า ไม่ทราบถึงการเคลื่อนย้ายหมุดดังกล่าว และถึงแม้จะมีการเคลื่อนย้ายจริง ก็ไม่ต้องแจ้งให้กรมศิลป์ฯ ทราบ เพราะหมุดคณะราษฎรไม่ได้อยู่ในความดูแลตั้งแต่แรก

 

ภาพถ่ายจาก Google Map เผยให้เห็นว่า หมุดหน้าใสอันใหม่ที่เข้ามาแทนที่หมุดเดิม ถูกปิดทับด้วยกระถางต้นไม้ที่นำมาตกแต่งรอบพระบรมรูปทรงม้า จนไม่สามารถมองเห็นหมุดได้

 

จากการค้นคว้าเบื้องต้นด้วย Google Earth พบว่า กระถางต้นไม้ถูกเอามาวางโดยรอบตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2560 หลังจากหมุดหน้าใสเข้ามาแทนที่เมื่อเดือนเมษายนในปีเดียวกัน

 

ปัจจุบันลานพระบรมรูปทรงม้าไม่สามารถเดินเข้าไปได้ เนื่องจากการล้อมรั้วปิดปรับปรุงพื้นที่ตั้งแต่ต้นปี 2564 และยังไม่พบว่าหมุดคณะราษฎรเดิมถูกนำไปไว้ที่ใด

 

อ้างอิง:

 


 

สถานที่: อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ

สถานะปัจจุบัน: สูญหาย (ปี 2479-2560)

 

อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญถูกสร้างขึ้นบริเวณวงเวียนหลักสี่ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดช เจ้านายฝ่ายทหารที่ลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา

 

จนนำไปสู่การปราบปรามอย่างเด็ดขาด ทำให้มีการสูญเสียเกิดขึ้นในเหตุการณ์ดังกล่าว ภายในอนุสาวรีย์ได้บรรจุอัฐิทหารและตำรวจที่เสียชีวิต 17 นาย

 

ปี 2553 กรมทางหลวงมีโครงการสร้างสะพานลอยบริเวณวงเวียนหลักสี่ ซึ่งอาจต้องย้ายอนุสาวรีย์ออก แต่ถูกกลุ่มประชาชนและนักโบราณคดีคัดค้าน และทางกรมศิลปากรเองก็ไม่มีความคิดที่จะย้ายอนุสาวรีย์ดังกล่าว

 

รายงานล่าสุดจากสำนักข่าว BBC ปี 2561 ระบุว่า อนุสาวรีย์ดังกล่าวถูกย้ายไปที่หนองบอน กรุงเทพมหานคร (กทม.) แต่ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. กลับปฏิเสธต่อสำนักข่าวประชาไท และไม่ทราบว่าปัจจุบันตัวอนุสาวรีย์เก็บไว้ที่ใด

 

อ้างอิง: 

 


 

สถานที่: อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ จังหวัดบุรีรัมย์

สถานะปัจจุบัน: ถูกรื้อถอน (ปี 2481-2557)

 

อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ จังหวัดบุรีรัมย์ ถูกสร้างขึ้นบริเวณวงเวียนกลางสามแยกหน้าทางเข้าศาลากลางจังหวัดเดิม สันนิษฐานว่าสร้างแล้วเสร็จในปี 2481 เพื่อรำลึกถึงการได้มาซึ่งประชาธิปไตย

 

วันที่ 6 พฤศจิกายน 2557 เทศบาลฯ ได้สั่งรื้อถอน โดยให้เหตุผลว่า เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร แล้วนำไปติดตั้งใหม่หน้าศาลากลางจังหวัดเดิมแทน 

 

ต่อมาในปี 2561 ได้มีการรื้อถอนอีกครั้ง โดยเทศบาลฯ อ้างว่า บดบังทัศนียภาพพระเมรุมาศจำลองของรัชกาลที่ 9

 

ล่าสุดในปี 2565 พบว่า เทศบาลฯ ได้มีการสร้างอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นบนถนนทางออกนอกเมือง มุ่งหน้าไปยังอำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ โดยไม่มีการประชาสัมพันธ์จากทางจังหวัดแต่อย่างใด

 

ภาพ: บุรีรัมย์น่าอยู่ (เอก), วิวัฒน์ โรจนาวรรณ

อ้างอิง:

 


 

สถานที่: อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ จังหวัดอุดรธานี

สถานะปัจจุบัน: สูญหาย

 

อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ จังหวัดอุดรธานี ถูกสร้างขึ้นบริเวณหน้าสถานีรถไฟอุดรธานี เพื่อรำลึกถึงประชาธิปไตย คาดว่าถูกสร้างไล่เลี่ยกับอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยสร้างเลียนแบบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ถนนราชดำเนิน

 

อนุสาวรีย์แห่งนี้สร้างขึ้นจากการตัดแต่งต้นไม้เป็นรูปร่างพานรัฐธรรมนูญและปีก 4 ด้าน

 

ปัจจุบันแม้ตัวโครงอนุสาวรีย์ต้นไม้จะถูกรื้อไปแล้ว แต่ยังคงปรากฏฐานทั้ง 4 ด้านหลงเหลืออยู่

 

ภาพ: Facebook อดีตวันวาน อุดรธานี

อ้างอิง:

 


 

สถานที่: อนุสาวรีย์พระยาพหลพลพยุหเสนา (ค่ายพหลโยธิน)

สถานะปัจจุบัน: สูญหาย (ปี 2503-2563)

 

อนุสาวรีย์พระยาพหลพลพยุหเสนาเคยตั้งอยู่ในศูนย์การทหารปืนใหญ่ จังหวัดลพบุรี หรือค่ายพหลโยธิน เพื่อรำลึกถึงพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร และนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ของประเทศไทย

 

เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2562 ได้มีกำหนดการจัดพิธีบวงสรวงอนุสาวรีย์พระยาพหลพลพยุหเสนาพร้อมกับอนุสาวรีย์จอมพล ป. พิบูลสงคราม (ค่ายพหลโยธิน) เพื่อเคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์ทั้งสอง โดยไม่มีรายละเอียดว่าจะเป็นการรื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายไปยังสถานที่ใด แต่ในวันที่ 27 ธันวาคม 2562 สำนักข่าว BBC รายงานว่า มีการประกาศเลื่อนพิธีออกไปอย่างไม่มีกำหนด

 

วันที่ 26 มกราคม 2563 อนุสาวรีย์พระยาพหลพลพยุหเสนาได้ถูกเคลื่อนย้ายโดยไม่ทราบสถานที่ปลายทาง

 

วันที่ 6 มีนาคม 2565 ได้มีการอัญเชิญพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 9 ประดิษฐานบริเวณลานเบื้องหน้าอนุสาวรีย์พระยาพหลพลพยุหเสนา

 

ภาพ:

  • Stampjangg James
  • ศูนย์การทหารปืนใหญ่ ค่ายภูมิพล

 

อ้างอิง: 

 


 

สถานที่: ค่ายพหลโยธิน

สถานะปัจจุบัน: เปลี่ยนชื่อ

 

วันที่ 16 มกราคม 2563 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชกฤษฎีกาถอนบริเวณประมาณ 45 ไร่ในค่ายพหลโยธิน จากการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน

 

วันที่ 24 มีนาคม 2563 ราชกิจจานุเบกษาประกาศเปลี่ยนชื่อค่ายพหลโยธิน เป็นค่ายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หรือค่ายภูมิพล

 

ภาพ: กิตติชัย ตันวัฒนะ ศูนย์การทหารปืนใหญ่ ค่ายภูมิพล

อ้างอิง:

 


 

สถานที่: ค่ายกองพลทหารปืนใหญ่ ค่ายพิบูลสงคราม

สถานะปัจจุบัน: เปลี่ยนชื่อ

 

วันที่ 24 มีนาคม 2563 ราชกิจจานุเบกษาประกาศเปลี่ยนชื่อค่ายพิบูลสงคราม เป็นค่ายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง หรือค่ายสิริกิติ์

 

อ้างอิง:

 


 

สถานที่: อนุสาวรีย์จอมพล ป. พิบูลสงคราม (สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ)

สถานะปัจจุบัน: สูญหาย

 

อนุสาวรีย์จอมพล ป. พิบูลสงคราม ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าอาคารสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ เพื่อรำลึกถึง จอมพล ป. พิบูลสงคราม แกนนำคณะราษฎร และนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งนานที่สุด

 

ในวันที่ 23 มกราคม 2563 มีภาพปรากฏในสื่อออนไลน์คล้ายเจ้าหน้าที่พยายามเคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์ สำนักข่าวประชาไทจึงไปตรวจสอบในเวลา 15.30 น. พบว่า อนุสาวรีย์ยังคงอยู่

 

อนุสาวรีย์ถูกเคลื่อนย้ายในวันที่ 26 มกราคม 2563 โดยไม่ทราบจุดหมายปลายทาง 

 

เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยกล่าวกับสำนักข่าวประชาไทว่า อนุสาวรีย์ดังกล่าวถูกนำไปเก็บไว้ ภายหลังปรับปรุงสถานที่จะนำกลับมาติดตั้งอีกครั้ง

 

อ้างอิง:

 


 

วัดประชาธิปไตย (วัดพระศรีมหาธาตุ)

 

วัดประชาธิปไตยถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ตั้งอยู่บนถนนพหลโยธิน ใกล้กับอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ขณะดำเนินการสร้างอยู่ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเปลี่ยนชื่อวัดเป็นวัดพระศรีมหาธาตุ

 

ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการหรือถวายเป็นเสนาสนะเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2485 วันครบรอบ 10 ปีประชาธิปไตยไทย โดยมีพระยาพหลพลพยุหเสนาอุปสมบทเป็นคนแรก

 

สัญลักษณ์สำคัญของวัดแห่งนี้คือ พระธาตุเจดีย์ที่มีบัวกลุ่ม 6 ชั้น สอดคล้องกับหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ภายในบรรจุอัฐิของสมาชิกคณะราษฎร เช่น จอมพล ป. พิบูลสงคราม, พระยาพหลพลพยุหเสนา, ปรีดี พนมยงค์ เป็นต้น

 

อ้างอิง:

 

ภาพประกอบ: พุทธิพงศ์ โรจน์ศตพงค์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X