นอกจากอารีย์จะเป็นย่านแห่งความคิดสร้างสรรค์ที่มีครบหมดตั้งแต่ร้านอาหาร กิจการโลคัล บาร์ แกลเลอรี ในช่วงเดือนสิงหาคมย่านแห่งนี้กำลังจะมีครีเอทีฟสเปซเพิ่มขึ้นอีกแห่งในนามว่า ‘People of Ari’ โรงละครขนาด 60 ที่นั่ง ที่ภายในอัดแน่นไปด้วยฟังก์ชันครบครัน ชนิดที่คอละครได้เห็นจะต้องดีใจ
ในขณะเดียวกันก็ยังสามารถปรับเป็นพื้นที่จัดแสดงศิลปะได้หลากหลาย ตั้งแต่คอนเสิร์ต ฉายหนัง ไปจนถึงเสวนา หรือแม้แต่เปลี่ยนเป็นบาร์ให้คนมานั่งสนทนาแชร์ความสนใจ
เบื้องหลังของ People of Ari คือ มาร์ก เซ็ม โคส หนุ่มออสเตรเลียผู้อยู่ในย่านอารีย์มากว่า 4 ปีที่เป็นผู้ริเริ่มไอเดีย เขาคือเจ้าของ Yellow Lane คาเฟ่ในซอยอารีย์ที่ช่วงนี้หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับชื่อนี้เป็นอย่างดีจากการจัดกิจกรรม Ari Weekend Market ทุกสิ้นเดือน หรือการจัดฉายสารคดี Mental-Verse จากทีมงาน Eyedropper Fill ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี้เอง
เขาอยากสนับสนุนให้เกิดอาร์ตสเปซ เพิ่มพื้นที่ทางศิลปะในอารีย์ และได้ ไพพ์เพอร์-ประภาพรรณ สุธิราวุธ ผู้คลุกคลีอยู่กับวงการละครเวที มาช่วยเป็นคิวเรเตอร์คัดเลือกงานแสดงและดูแลจัดการงานหลังบ้านให้โรงละครแห่งนี้เป็นไปตามเป้าหมาย
เมื่อเราอยากรู้จัก People of Ari และผู้อยู่เบื้องหลังให้มากขึ้น ไพพ์เพอร์จึงอาสาเป็นตัวแทนมาพูดคุยถึงภาพที่ People of Ari อยากเป็น
ในฐานะคนทำงานในพื้นที่ คุณว่าอารีย์มีแมตทีเรียลอะไรที่เหมาะกับการสร้างสรรค์พื้นที่ศิลปะแบบนี้ขึ้นมา
คาแร็กเตอร์ของอารีย์คือเขาเป็นพื้นที่ที่ยังมีความโฮมมี่ ดูเป็นชุมชน มีหลายคนทำงานเพื่อพื้นที่ เพื่อชุมชนของตัวเอง ทั้ง Ari Around และเพื่อนบ้านอารีย์ คนในพื้นที่เองก็เป็นผู้ประกอบการกันเยอะ ที่นี่มีร้านค้าหลากหลายแบบมาก ร้านอาหารก็มีหลายแนว ดูเป็นพื้นที่ที่เปิดรับสิ่งใหม่ๆ ใครอยากทำอะไรก็ทำได้ เช้ายันเย็นสามารถทำกิจกรรมในอารีย์ได้ครบทุกแบบ แต่สิ่งที่ยังขาดคืออาร์ตสเปซที่เน้นงานแนว Performing Arts แถวนี้ยังไม่มีเลย
จำเป็นไหมว่าการจะเกิดพื้นที่ศิลปะจะต้องมีคนเหล่านี้อยู่
เราว่ามันเกิดได้ทุกที่แหละ แต่ก็กลับมาที่เรื่องกำลังของคนสร้างด้วย อย่างเราอยู่โคราช ถ้ามีต้นทุนมากพอเราก็อยากสร้างอาร์ตสเปซเหมือนกัน ถ้าเราสามารถเปิดให้คนที่สนใจ ทำให้คนรู้สึกว่าการได้ออกมามีปฏิสัมพันธ์กันผ่านการทำอะไรสร้างสรรค์มันเป็นประโยชน์กับเขา ถ้าเราสามารถบาลานซ์ระหว่างอุดมการณ์กับรายได้ เราก็อยากทำ
มีคนรู้จักเราบางคนก็เลือกไปทำงานกับชุมชนห่างไกลเพื่อสร้างให้เห็นเลยว่างานศิลปะมันไม่ใช่แค่เอ็นเตอร์เทนเมนต์อย่างเดียวก็มี ซึ่งการทำ People of Ari ขึ้นมา เรายังต้องหาจิ๊กซอว์มาต่ออยู่ว่าควรจะทำให้มันเป็นไปในรูปแบบไหน หางานหรือศิลปินที่คนมาดูแล้วจะรู้สึกว่าเขาอยากจะมาอีก เป็นเหตุผลว่าสเปซของเราจะมีศิลปะหลายๆ รูปแบบให้คนได้ลองมาสัมผัส อยากทำให้มันกลายเป็นอาร์ตเฮาส์ ที่คนมาแล้วจะรู้สึกว่าได้ประสบการณ์ ได้ทำอะไรใหม่ๆ เรารู้สึกว่าแบบนี้น่าจะเป็นอะไรที่ทำให้การมีอยู่ของโรงละครยั่งยืนขึ้นมาได้ เพราะเรารู้เลยว่าละครอย่างเดียวคงไม่พอสำหรับการทำสเปซ และเราก็ไม่อยากทำให้โรงละครมันดูเก้กัง เขินที่จะเดินเข้ามา อยากให้คนรู้สึกว่ามันก็เป็นเอ็นเตอร์เทนเมนต์อย่างหนึ่งที่สามารถมาจอย มาเปิดประสบการณ์ได้ เราอยากทำให้คนรู้สึกว่าสถานที่แบบนี้มันเฟรนด์ลี น่ามามากขึ้น
เกณฑ์ในการคัดเลือกงานมาจัดแสดงเป็นแบบไหน
People of Ari กำลังพยายามจะสร้างพื้นที่ที่สามารถอยู่ได้ด้วยตนเองได้ ทำงานที่สร้างรายได้คืนกลับมา แต่ยังตอบสนองคนดูเป็นหลัก และทางเราพร้อมจะซัพพอร์ตศิลปินตลอดกระบวนการเพื่อสร้างงานให้ตอบโจทย์คนดู เราอยากให้ผู้ชมรู้สึกว่า ‘คุ้มค่าจัง’ ที่มาดูงานที่ People of Ari เลยมองหาศิลปะทุกรูปแบบเลย ถ้าเป็นไปได้เราอยากชวนศิลปินที่อยู่ในประเทศนี้ทุกคนที่รู้สึกว่าอยากทำอะไรจังเลย แต่ยังไม่มีพื้นที่หรืองบประมาณ มาช่วยกันคราฟต์งานขึ้นมาด้วยกัน
ตอนนี้งานส่วนใหญ่เลือกมาจากความชอบความสนใจของเรา พยายามจะเลือกงานที่คนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงาน อย่างงาน อารมณ์ภบท เกิดจากว่าเราเคยเห็นต่างชาติเขาเอาใบไม้มาทำเซ็นเซอร์ให้มันเกิดเสียง เราก็อยากให้มันมีอะไรอย่างนี้ขึ้นในย่านนี้บ้าง Yellow Lane เองมีสวนที่สวยมากอยู่พอดี เราเลยชวนศิลปินที่เขามีความรู้ด้านนี้ ก็คือ ทอมมี่ กับ ไรอัน คราฟต์มันขึ้นมา หรืออย่างงาน Mentalverse ก็เกิดจากเราเห็นว่าตอนงานนี้จัดที่ Bangkok Design Week มันได้ผลตอบรับดีมาก แต่เราเสียดายที่เหมือนพอดูจบแล้วคนไม่มีโอกาสได้แชร์ความรู้สึกหลังชมออกมา ครั้งนี้เราเลยชวน Eyedropper Fill มาจัดฉายใหม่ เพิ่มกิจกรรมอย่างการทอล์ก และโซนให้เขียนสะท้อนความรู้สึกจากสารคดี ให้ผู้ชมได้มีพื้นที่ทบทวนตัวเองและสะท้อนสิ่งที่ตัวเองรู้สึกกัน
นอกจากด้านศิลปะ เราก็อยากซัพพอร์ตคนที่อยู่ในพื้นที่นี้ ทำให้คอมมิวนิตี้มันแข็งแรงมากขึ้นด้วย ทำตลาด Ari Weekend Market ทุกเดือนร่วมกับ Happy Grocers ให้คนได้มารู้จักกัน โตไปด้วยกัน
ในมุมนักเรียนละครเอง การมีสถานที่ที่พร้อมแบบ People of Ari มันดีแค่ไหน
แน่นอนว่าอย่างน้อยที่สุดมันจะทำให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะของแบบนี้มันต้องซ้อมจริงๆ และพื้นที่ที่มีว่างให้ซ้อมได้ในตอนนี้ก็เป็นสิ่งที่หาได้ยากมาก การมีสถานที่ที่พร้อมก็จะทำให้คนสัมผัสเมจิกของการที่คนเข้ามาอยู่ในโรงละคร โฟกัส แล้วดูโปรดักชันที่ Well-Crafted ไปด้วยกัน เราอยากส่งต่อคุณภาพ อยากให้นักดนตรี นักแสดงมาแล้วระเบิดพลังได้โดยไม่ต้องกังวล คนดูก็ได้ดูโปรดักชันที่มีคุณภาพดีจริงๆ การมีพื้นที่แบบนี้ขึ้นมาอาจจะทำให้มันช่วยเพิ่มกำลังใจให้ศิลปินให้เขาสู้กันอีกครั้งด้วย เพราะต้องยอมรับว่ากว่าศิลปินจะมีงานขึ้นมาสักงานมัน Struggle มากๆ แต่สุดท้ายแล้วศิลปินที่จะมาร่วมทำงานด้วยกันกับเราก็ต้องเข้าใจตรงกันก่อนว่าเราทำงานเพื่อตอบสนองคนดู มองหามุมช่วยกันว่าทำอย่างไรจะสื่อสารกับผู้ชมในอนาคตให้ได้มากที่สุด เพื่อในเชิงธุรกิจมันจะยั่งยืน และบริหารจัดการได้ด้วยงบประมาณของเรา
อุปสรรคอะไรทำให้พื้นที่แบบนี้มีน้อย
การทำงานโดยใช้มนุษย์มันมีต้นทุนที่สูงมาก คนที่จะมาดูเลยมักเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับเสน่ห์ของละครเวที คนที่มาสัมผัสประสบการณ์นี้แล้วรู้สึกว่ามันคุ้มสำหรับเขา ซึ่งเราไม่ได้ขัดเลยนะถ้าใครจะชอบดู Netflix หรือไม่ได้ชอบดูมหรสพอะไรแบบนี้ อันนั้นก็ดีเหมือนกัน ยิ่งเดี๋ยวนี้คอนเทนต์สมัยนี้ยิ่งดีมาก เพราะการแข่งขันมันสูงก็เลยยิ่งทำให้มันพัฒนาดีขึ้นไปอีก ก็อยากให้ละครเวทีเป็นแบบนั้นได้เหมือนกัน
ถ้าคนเข้าถึงมากขึ้นมันจะเปลี่ยนสังคมได้เลยไหม
ความเชื่อที่เราทำที่นี่เพราะเรารู้สึกว่าละครเวทีมันเปลี่ยนเราไปในทางที่ดีขึ้น นั่นเลยเป็นเหตุผลที่ทำให้เราไม่หมดหวังกับละครเวที เราเลยอยากให้คนมาสัมผัสประสบการณ์แบบนี้ไปด้วยกัน อยากเป็นอีกหนึ่งโอกาสให้เขาได้มาลองด้วยตัวของเขาเอง
สังคมจะเปลี่ยนไหมเราไม่กล้าทำนาย แต่อย่างเราเรียนละคร ก็ชัดเจนว่าละครมันเปลี่ยนเรา เปลี่ยนเพื่อนของเราให้มองโลกกว้างขึ้น มี Empathy มากขึ้น ถ้าเราไม่เรียนละครก็ไม่รู้เมื่อไรกว่าเราจะเข้าใจเรื่องสิทธิ ประชาธิปไตย หรือทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับสังคมเรา ละครทำให้เราเห็นทุกเหตุและผลในการกระทำของมนุษย์ เห็นแรงจูงใจของตัวละคร เห็นเลยว่ากว่ามนุษย์คนหนึ่งจะเติบโตขึ้นมา แบ็กกราวด์ทั้งหมดมันส่งผลต่อความนึกคิดของเขาหมด ทำให้เราเข้าใจที่มาที่ไปของการกระทำของคน ทำให้เรามองโลกและพยายามเข้าใจคนอื่นได้ดีขึ้น
แต่ถึงจะสู้แค่ไหน ถ้ารัฐไม่สนับสนุนมันก็ไปต่อได้จำกัดหรือเปล่า
เราก็หวังว่ามันจะอยู่ได้ และคนจะให้ค่าสิ่งนี้มากขึ้นจนเกิดเป็นคัลเจอร์ที่คนเข้าโรงมหรสพมาดูงานกัน เราว่าการจะทำอย่างไรให้มันยั่งยืนอยู่ได้นานที่สุดเป็นโจทย์ของทุกอุตสาหกรรม ไม่ใช่แค่กับศิลปะ การสร้างที่นี่ขึ้นมาเราไม่ได้คิดว่าจะไปสู้กับใครหรอก สู้กับตัวเองว่าจะทำงานอย่างไรให้มันตอบโจทย์มากที่สุด อย่างที่บอกว่า โจทย์ของ People of Ari คือต้องขายได้ (หัวเราะ) ทำงานให้คนอยากมาดู เราบอกว่าเราเป็น Supporter ก็จริง แต่อีกนัยหนึ่งคือเราไม่ใช่องค์กรการกุศลสำหรับศิลปิน เรายังต้องการคนดูงาน โจทย์ของเราจึงเป็นการสร้างงานตามความต้องการของคนดูมากกว่า
ถ้ามีรัฐเข้ามาสนับสนุนจริงๆ อย่างไรมันต้องดีอยู่แล้วแหละ แต่มันต้องมีรัฐบาลที่เข้าใจก่อนว่าสิ่งนี้มันสำคัญกับประชาชน ทำให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น เขาต้องเข้าใจตรงนั้นก่อนว่ามันสำคัญอย่างไร เขาถึงจะให้เงินมาสนับสนุน รัฐบาลเขาต้องให้ค่า เห็นความสำคัญของประชาชนให้ได้ก่อน
อะไรคือตัวชี้วัดความสำเร็จของ People of Ari
ชาเลนจ์ของเรากับมาร์กว่าจะทำอย่างไรให้ People of Ari ยั่งยืนและตอบโจทย์คนดูได้มากที่สุด เราต้องอยู่ได้ด้วยตัวเอง ต้องทำให้งานศิลปะเป็นประสบการณ์ที่ตีค่าเป็นเงินได้ และผู้บริโภคของเราได้รับประสบการณ์ที่ดีสุด ฟังดูยากมาก แต่คิดว่าต้องทำให้ได้ (หัวเราะ)
People of Ari & Yellow Lane Cafe
Open: เปิดให้บริการทุกวัน เวลา 9.00-17.00 น. (คาเฟ่)
Address: พหลโยธิน ซอย 5 (อารีย์ ซอย 1)
Contact: 06 5123 8378
Website: https://www.facebook.com/yellowlaneari/ และ https://www.facebook.com/peopleofaribkk
Map: https://g.page/yellow-lane?share