×

จะเป็นอย่างไร เมื่อประชาชนฟ้องรัฐบาล ฐานไม่แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศอย่างจริงจัง

27.09.2022
  • LOADING...
ปัญหามลพิษทางอากาศ

กรณีชาวเยอรมันกลุ่มหนึ่งตัดสินใจยื่นเรื่องต่อศาลฟ้องรัฐบาลของตน หลังระดับมลพิษทางอากาศอยู่ในเกณฑ์อันตราย เป็นตัวอย่างล่าสุดในประชาคมโลก เมื่อประชาชนฟ้องรัฐบาลฐานไม่แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศอย่างจริงจัง โดยชี้ว่า ประชาชนมีสิทธิที่จะหายใจในสภาพแวดล้อมที่อากาศสะอาดและบริสุทธิ์ สิ่งนี้เกี่ยวพันกับสุขภาพของประชาชนโดยตรง เป็นสิ่งที่รัฐบาลในแต่ละประเทศจะต้องรับผิดชอบ

 

มลพิษทางอากาศ หนึ่งในปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ต้องได้รับการแก้ไข

เยอรมนีเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบกับปัญหามลพิษทางอากาศ หลายพื้นที่ของประเทศมีระดับมลพิษทางอากาศสูงกว่าเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนด โดยค่าเฉลี่ยของอนุภาคละอองขนาดเล็กในช่วง 10 ปีล่าสุด ไม่ควรเกิน 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของไนโตรเจนไดออกไซด์ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการก่อตัวของหมอกควันและมลพิษที่เป็นอันตรายในช่วง 5 ปีล่าสุด ไม่ควรเกิน 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร 

 

จากข้อมูลโดยองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมในเยอรมนีอย่าง German Environment Agency และ ClientEarth เผยว่า ค่าเฉลี่ยของอนุภาคละอองขนาดเล็กในช่วง 10 ปีล่าสุดในกรุงเบอร์ลิน เมืองหลวงของเยอรมนี สูงถึง 19 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (สูงกว่าเกณฑ์ตามคำแนะนำของ WHO เกือบ 4 เท่า) ขณะที่ค่าเฉลี่ยของไนโตรเจนไดออกไซด์ในช่วง 5 ปีล่าสุดในเมืองมิวนิก สูงถึง 70.8 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (สูงกว่าเกณฑ์ตามคำแนะนำของ WHO กว่า 7 เท่า) 

 

ชาวเยอรมันที่ยื่นฟ้องต่อศาลนี้ ประกอบไปด้วยผู้ร้องทั้งหมด 7 คน พวกเขาต่างอาศัยอยู่ในกรุงเบอร์ลิน มิวนิก แฟรงก์เฟิร์ต และดุสเซลดอร์ฟ 4 ใน 7 เมืองที่ใหญ่ที่สุดในเยอรมนี ทั้งยังเป็นพื้นที่ที่มีระดับมลพิษทางอากาศอยู่ในเกณฑ์ที่สูงและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ในจำนวนนี้มีเด็กอาศัยอยู่ด้วยในครอบครัว สมาชิกบางรายมีอาการของโรคหอบหืด สิ่งนี้สะท้อนถึงความเสี่ยงด้านสุขภาพของประชาชนในรัฐ สะท้อนว่า รัฐบาลและผู้มีอำนาจทั้งหลายล้มเหลวในการจัดการกับปัญหานี้อย่างจริงจัง

 

Volker Becker-Battaglia ชาวเยอรมันที่อาศัยอยู่ในเมืองมิวนิก หนึ่งในพื้นที่ที่ประสบปัญหามลพิษทางอากาศรุนแรงมากที่สุดในประเทศ ชี้ว่า “มลพิษทางอากาศอาจเป็นปัญหาที่คุณอาจไม่ได้สนใจ อาจไม่ได้อยู่ในหัวของผู้คน แต่มันคือนักฆ่าตัวฉกาจ”

 

ขณะที่ Constanze ชาวเยอรมันจากเมืองดุสเซลดอร์ฟ เผยว่า เธอเข้าร่วมการฟ้องร้องรัฐบาลครั้งนี้ เพื่อปกป้องสิทธิของลูกทั้งสองคนของเธอ เธอระบุว่า “พวกเขาสมควรที่จะเติบโตขึ้นมามีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง อาศัยอยู่ในเมืองที่จะไม่ทำให้เขาต้องเจ็บป่วยจากปัญหามลพิษทางอากาศ พวกเขาไม่สมควรต้องแบกรับผลกระทบจากปัญหานี้ไปตลอดทั้งชีวิตที่เหลือของพวกเขา”

 

โดยการฟ้องร้องรัฐบาลเยอรมนีในครั้งนี้ ผู้ร้องไม่ได้เรียกร้องค่าชดเชยในรูปแบบของตัวเงิน เพียงแต่ต้องการให้รัฐบาลลงมือจัดการแก้ไขปัญหามลพิษนี้อย่างจริงจัง พร้อมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหามลพิษทางอากาศ และวิธีที่พวกเขาจะสามารถมีส่วนช่วย และร่วมมือกับทางภาครัฐ รวมถึงภาคเอกชน เพื่อบรรเทาวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมนี้ร่วมกัน

 

มลพิษทางอากาศ อาจอันตรายกว่าที่คุณคิด

เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมานี้ นักวิจัยค้นพบความเชื่อมโยงระหว่างมลพิษทางอากาศ กับความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งปอด ซึ่งทีมวิจัยของ Francis Crick Institute ที่ร่วมมือกับ University College London วิเคราะห์ข้อมูลด้านสุขภาพของผู้คนมากกว่า 4.6 แสนคนในอังกฤษ เกาหลีใต้ และไต้หวัน พบว่า การสัมผัสกับอนุภาคของฝุ่นละอองหรือมลภาวะขนาดเล็ก PM2.5 ซึ่งมีขนาดน้อยกว่า 2.5 ไมโครเมตร (ไมครอน) เพิ่มระดับความเสี่ยงของการกลายพันธ์ุในยีนตัวรับอย่าง EGFR

 

และจากการศึกษาในห้องปฏิบัติการกับหนู ชี้ว่า อนุภาคดังกล่าวก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในยีน EGFR เช่นเดียวกันกับยีนอีกชนิดหนึ่งอย่างยีน KRAS ซึ่งทั้งสองยีนมีความเกี่ยวพันกับการเกิดโรคมะเร็งปอด

 

ทีมวิจัยยังเผยอีกว่า แม้ว่าด้วยตัวยีนเองอาจจะไม่มีความสามารถมากพอในการกระตุ้นให้เกิดโรคมะเร็ง หากแต่เมื่อยีนดังกล่าวได้สัมผัสกับฝุ่นละอองหรือมลพิษทางอากาศ ก็จะยิ่งกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองและการอักเสบขึ้นได้ ถ้าเซลล์นั้นเกิดการกลายพันธ์ุ ก็จะกลายเป็นเซลล์มะเร็งในที่สุด

 

จากงานวิจัยคาดการณ์ว่า สิ่งนี้เชื่อมโยงกับการเสียชีวิตของผู้คนมากกว่า 8 ล้านรายต่อปี เกือบจะเท่ากับจำนวนของผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ในแต่ละปี ขณะที่งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งชี้ว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่าง PM2.5 เพียงสาเหตุเดียว นำไปสู่การเป็นมะเร็งปอดในผู้ป่วยกว่า 2.5 แสนรายต่อปี โดยอนุภาคขนาดเล็กเหล่านี้ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิล 

 

ทั้งนี้ ทีมวิจัยยังเน้นย้ำว่า “เราจะจัดการกับปัญหานี้ได้ ก็ต่อเมื่อเราตระหนักถึงความเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด ระหว่างคุณภาพอากาศและสุขภาพของมนุษย์” 

 

ตัวอย่างบทเรียน เมื่อรัฐบาลถูกฟ้องร้องจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม

โดยก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2021 ศาลสูงฝรั่งเศสเองก็เคยมีคำสั่งปรับรัฐบาลฝรั่งเศส ภายใต้การนำของประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง มูลค่า 10 ล้านยูโร (ราว 365 ล้านบาท) หลังล้มเหลวในการจัดการกับปัญหามลพิษทางอากาศ พร้อมยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลฝรั่งเศสแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ภายใน 6 เดือน หรือจะถูกปรับจำนวน 10 ล้านยูโร ทุกๆ 6 เดือนจนกว่าปัญหามลพิษจะได้รับการแก้ไขให้อยู่ในระดับที่น่าพอใจ และไม่เป็นอันตรายต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน

 

ขณะที่กลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในสหราชอาณาจักรอย่าง ClientEarth เองก็เดินหน้าฟ้องร้องรัฐบาลของตนเองหลายต่อหลายครั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลังสหราชอาณาจักรประสบปัญหามลพิษทางอากาศอย่างหนักในหลายพื้นที่ อีกทั้งรัฐบาลเองก็ไม่ได้จัดการกับปัญหานี้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะในช่วงปีก่อนหน้าที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ เมื่อปี 2021

 

ส่วนประเทศเพื่อนบ้านในย่านอาเซียนของไทยอย่างอินโดนีเซียเอง ศาลก็มีคำสั่งให้ประธานาธิบดี โจโก วิโดโด และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอินโดนีเซีย แก้ไขปัญหาด้านมลพิษทางอากาศอย่างจริงจัง หลังจากหลายพื้นที่คุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยประชาชนได้ยื่นเรื่องฟ้องร้องรัฐบาลตั้งแต่ปี 2019 ที่ผ่านมา 

 

แฟ้มภาพ: Stokkete / Shutterstock

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X