วันนี้ (9 มกราคม) ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. เปิดเผยว่าช่วงหลังเที่ยงคืนวันที่ 10 เข้าสู่รุ่งเช้าวันเสาร์ที่ 11 มกราคม 2563 จะเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเงามัวในช่วงเวลาประมาณ 00.08-04.13 น. ตามเวลาในประเทศไทย เงามัวจะบังมากที่สุดในเวลาประมาณ 02.10 น. หากสังเกตด้วยตาเปล่าจะมองเห็นได้ไม่ชัดเจนนัก
เนื่องจากดวงจันทร์โคจรเข้าไปในเงามัวของโลกบางส่วน ไม่ได้ผ่านเข้าไปในบริเวณเงามืด ดวงจันทร์จึงไม่เว้าแหว่ง โดยยังคงมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวง แต่มีความสว่างในส่วนที่อยู่ในเงามัวลดลงเท่านั้น หากใช้กล้องโทรทรรศน์หรือการถ่ายภาพเปรียบเทียบความสว่างขณะเกิดปรากฏการณ์จะเห็นการเปลี่ยนแปลงความสว่างของดวงจันทร์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
สำหรับประเภทของจันทรุปราคาถูกแบ่งโดย สดร. ดังนี้
- จันทรุปราคาเต็มดวง (Total Lunar Eclipse) ดวงจันทร์ทั้งดวงเคลื่อนเข้าไปอยู่ในเงามืดของโลก จะมองเห็นดวงจันทร์เป็นสีส้มหรือสีแดงอิฐ
- จันทรุปราคาบางส่วน (Partial Lunar Eclipse) ดวงจันทร์เคลื่อนที่ผ่านเงามืดของโลกเพียงบางส่วน จะมองเห็นดวงจันทร์มีลักษณะเว้าแหว่ง
- จันทรุปราคาเงามัว (Penumbral Lunar Eclipse) ดวงจันทร์เคลื่อนที่ผ่านเข้าไปในเงามัวของโลกโดยไม่ผ่านเงามืด ยังคงมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวง แต่ความสว่างลดน้อยลง สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงค่อนข้างยาก
ทั้งนี้ในปี 2563 ปรากฏการณ์จันทรุปราคาครั้งต่อไปที่สามารถสังเกตเห็นในประเทศไทยคือ ‘จันทรุปราคาเงามัว’ วันที่ 6 มิถุนายน และ 30 พฤศจิกายน 2563
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์