กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ หรือเพนตากอน อยู่ระหว่างการตรวจสอบกรณีที่ข้อมูลลับด้านการทหารของสหรัฐฯ และองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) เกี่ยวกับสงครามในยูเครน ถูกนำไปเผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์
CNN ได้ตรวจสอบภาพสกรีนช็อตบางส่วนที่เผยแพร่บน Twitter และ Telegram แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นภาพจริงหรือผ่านการตัดต่อมา ขณะที่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ระบุว่า เอกสารดังกล่าวเป็นภาพจริง โดยเป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลข่าวกรองเกี่ยวกับสงครามที่เพนตากอนจัดทำขึ้น แต่ดูเหมือนว่าเอกสารดังกล่าวถูกแก้ไขในบางจุด
ซาบรินา ซิงห์ รองเลขานุการฝ่ายสื่อมวลชนของเพนตากอน ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นเกี่ยวกับความถูกต้องของเอกสารดังกล่าว แต่ระบุในแถลงการณ์ว่า กระทรวงกลาโหมรับทราบรายงานเกี่ยวกับข้อมูลที่ถูกเผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์ และกระทรวงกลาโหมกำลังตรวจสอบเรื่องนี้
ด้าน มีไคโล โปโดลีแอก ที่ปรึกษาหัวหน้าสำนักประธานาธิบดียูเครน กล่าวผ่านช่อง Telegram ส่วนตัวว่า เขาเชื่อว่ารัสเซียอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นี้ พร้อมทั้งระบุว่าเอกสารที่รั่วไหลและถูกนำไปเผยแพร่บนสื่อโซเชียลนั้นไม่ใช่ของจริง โดยข้อมูลจำนวนมากที่ถูกอ้างอิงนั้นเป็นข้อมูลที่แต่งขึ้น และไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับแผนการที่แท้จริงของยูเครน
รายงานข่าวระบุว่า เอกสารที่ปรากฏนั้นไม่ว่าจะเป็นของจริงหรือไม่ก็ตาม มุ่งนำเสนอเกี่ยวกับประเด็นที่ว่า การวางแผนตอบโต้ของยูเครนจะเริ่มขึ้นเมื่อใด และฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับการเตรียมการของอีกฝ่าย
ภาพหนึ่งที่เผยแพร่ในช่อง Telegram ของรัสเซีย และได้รับการตรวจสอบโดย CNN คือภาพถ่ายเอกสารฉบับพิมพ์ชื่อ ‘US, Allied & Partner UAF Combat Power Build’ เอกสารดังกล่าวซึ่งจัดทำขึ้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์และถูกระบุว่าเป็นความลับ เผยจำนวนระบบอาวุธของชาติตะวันตกที่ยูเครนมีอยู่ในมือ การส่งมอบระบบเพิ่มเติมโดยประมาณ และการฝึกอบรมการใช้ระบบที่ยูเครนกำลังดำเนินการอยู่หรือคาดว่าจะแล้วเสร็จ
เอกสารอีกรายการมีชื่อว่า ‘Russia/Ukraine Joint Staff J3/4/5 Daily Update (D+370)’ และระบุว่าเป็นความลับเช่นกัน โดย J3 หมายถึงกองอำนวยการยุทธการของฝ่ายเสนาธิการร่วมกองทัพสหรัฐฯ J4 ดูแลด้านโลจิสติกส์และวิศวกรรม และ J5 เสนอยุทธศาสตร์ แผนงาน และข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ‘D+370’ หมายถึงวันที่จัดทำเอกสาร หรือ 370 วันหลังจากวันแรกที่รัสเซียรุกรานยูเครน
เอกสารที่สามคือแผนที่ ซึ่งระบุว่าเป็นความลับสุดยอด แผนที่ดังกล่าวแสดงสถานะของการสู้รบ ณ วันที่ 1 มีนาคม โดยแสดงที่ตั้งและขนาดของกองทัพรัสเซียและยูเครน ตลอดจนความสูญเสียทั้งหมดที่ประเมินได้จากทั้งสองฝ่าย อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่เชื่อว่าจำนวนผู้เสียชีวิตในเอกสารนี้น่าจะถูกแก้ไข เนื่องจากจำนวนผู้เสียชีวิตจริงของฝ่ายรัสเซียนั้นสูงกว่าตัวเลข ‘16,000-17,500’ ที่ระบุไว้ในเอกสาร ขณะที่เอกสารระบุว่า ชาวยูเครน 61,000-71,500 คนถูกสังหารในปฏิบัติการ ซึ่งดูเหมือนว่าจะถูกแก้ไขให้สูงกว่าที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ประเมินไว้
เอกสารรายการที่สี่เป็นภาพพยากรณ์สภาพอากาศตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งประเมินว่าบริเวณใดในยูเครนที่พื้นดินอาจกลายเป็นน้ำแข็ง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเคลื่อนทัพ
หนังสือพิมพ์ The New York Times ซึ่งรายงานเรื่องการตรวจสอบของเพนตากอนเป็นรายแรก รายงานว่า ข้อมูลลับที่รั่วไหลทางออนไลน์นี้ บางส่วนอาจเป็นประโยชน์ต่อรัสเซีย เช่น ยูเครนจะใช้อาวุธในระบบจรวดที่สหรัฐฯ จัดส่งให้ได้เร็วเพียงใด
ขณะที่ ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกของเครมลิน ตอบคำถามของ CNN เกี่ยวกับภาพเอกสารลับที่เผยแพร่บน Twitter และ Telegram ผ่านทางแถลงการณ์ว่า “เราไม่มีข้อสงสัยแม้แต่น้อยเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมโดยตรงหรือโดยอ้อมของสหรัฐฯ และ NATO ในความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน
“ระดับการมีส่วนร่วมนี้กำลังค่อยๆ เพิ่มขึ้น” เขากล่าว “เราจับตาดูกระบวนการนี้ แน่นอนว่ามันทำให้เรื่องราวทั้งหมดซับซ้อนขึ้น แต่จะไม่ส่งผลต่อผลลัพธ์สุดท้ายของปฏิบัติการพิเศษ”
ภาพ: Getty Images
อ้างอิง: