ท่ามกลางสภาวะ Climate Change ที่รุนแรงขึ้นในปัจจุบัน หนึ่งในความเคลื่อนไหวด้านพลังงานที่น่าจับตา คือการที่ทั้งภาครัฐและเอกชนในประเทศไทย หันมาร่วมกันผลักดันเรื่องพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นมิตรต่อโลกมากกว่าการใช้พลังงานรูปแบบเดิม เช่น ถ่านหิน
ทั้งนี้ในบริบทของภาคอีสาน นับว่ามีศักยภาพหลายด้านในการพัฒนาและนำร่องการใช้พลังงานสะอาด โดยเฉพาะการเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าทางเลือกใหม่
ปัจจุบัน ภาคอีสานมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรวม 2,842 เมกะวัตต์ (MW) อยู่ในอันดับสองของประเทศ รองจากภาคกลางที่มี 4,143 MW และมากกว่าภาคเหนือ (2,387 MW) และภาคใต้ (989 MW) โดยพลังงานทางเลือกที่จะกลายมาเป็น ‘กำลังหลัก’ ในอนาคต ก็คือพลังงานแสงอาทิตย์
📌 3 ปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจ ‘โซลาร์เซลล์’ โตเร็ว
ประสิทธิ์ จันทรประสิทธิ์ รองผู้ว่าการธุรกิจและการตลาด การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
ชี้ว่า การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงการติดตั้งโซลาร์เซลล์ คือเทรนด์ที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยในอนาคตอันใกล้ พลังงานแสงอาทิตย์จะกลายเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนการผลิตไฟฟ้าในประเทศไทย โดยปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจโซลาร์เซลล์โตเร็ว มีดังนี้
– ราคาต้นทุนที่ลดลงต่อเนื่อง (ถูกมากเมื่อเทียบกับพลังงานอื่นๆ)
– เวลาติดตั้งสั้นมาก
– ประชาชน ภาคธุรกิจ ยอมรับและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
ทั้งนี้ หากพิจารณาจุดเด่นในแง่ภูมิศาสตร์ของภาคอีสาน จะพบว่าการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ นับเป็นทางเลือกที่มีศักยภาพสูง ด้วยพื้นที่กว้างใหญ่และแดดจัดเกือบตลอดทั้งปี ทำให้ภาคอีสานมีศักยภาพในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ทั้งแบบฟาร์มและแบบหลังคา
ในส่วนของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ประสิทธิ์ระบุว่า ภาคอีสานคือพื้นที่นำร่องสำคัญในการสร้างโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งนอกจากต้นทุนจะต่ำกว่าการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินแล้ว ยังสอดคล้องกับการผลักดันพลังงานสะอาดที่ช่วยลดภาวะ Climate Change ในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ในแง่ของผู้ประกอบการรายย่อย การหันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงการติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าด้วยตัวเอง แน่นอนว่าเป็น ‘โอกาส’ ทางธุรกิจที่สามารถต่อยอดได้อีกมากมาย โดย กฟภ. เอง มีการจัดเตรียมโครงการพื้นฐานไว้เพื่อรองรับและสนับสนุนผู้ประกอบการที่หันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในภาคธุรกิจ เช่น โครงการ PEA Solar ที่ให้บริการติดตั้งโซลาร์เซลล์แบบครบวงจร
ประสิทธิ์ยังให้มุมมองว่า การเลือกใช้พลังงานหมุนเวียน หากพิจารณาอย่างรอบด้านแล้ว ไม่ได้เป็นแค่การประหยัดค่าไฟ แต่ยังสามารถเพิ่ม ‘กำไร’ และ ‘ความสามารถในการแข่งขัน’ ได้ด้วย พร้อมทิ้งท้าย Checklist สำหรับผู้ประกอบการไว้ดังนี้
📌 Checklist ผู้ประกอบการ 5 ข้อ
– เรารู้ ‘ต้นทุน’ พลังงานของตัวเองจริงๆ หรือยัง?
– เราจะสามารถเปลี่ยนต้นทุนให้เป็น ‘กำไร’ ได้อย่างไร?
– ลูกค้าของเรา ‘แคร์’ เรื่องพลังงานสะอาดหรือยัง?
– ถ้าลงทุนวันนี้ ผลตอบแทนจะกลับมาเมื่อไร และในรูปแบบไหน?
– เรากำลัง ‘บริหาร’ พลังงาน หรือแค่ ‘จ่ายค่าไฟ’?