เป็นอีกหนึ่งปีที่เราได้เห็นหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน เดินหน้าปูพรมพัฒนาโครงสร้างขั้นพื้นฐาน Infrastructure รถยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทยอย่างเป็นรูปร่างมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับเป้าหมายใหญ่ที่คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ได้วางเอาไว้ว่า ภายในปี 2578 ประเทศไทยจะต้องมีจำนวนการใช้รถไฟฟ้าสะสมรวมที่ 15.58 ล้านคันให้ได้
โดยเมื่อวันจันทร์ที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA กลายเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่รุกเข้าสู่สังเวียนรถยนต์พลังงานไฟฟ้าอย่างเต็มตัว โดยได้ประกาศความร่วมมือกับ ‘บางจาก’ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดตัวสถานีอัดประจุไฟฟ้า PEA VOLTA อย่างเป็นทางการ โดยชูคอนเซปต์การวางโครงข่าย (Network) จุดชาร์จรถยนต์ EV ให้ครอบคลุมทุกๆ ระยะทาง 100 กิโลเมตรทั่วประเทศไทย ในสถานีบริการน้ำมันของบางจาก
หลักๆ แล้วความตั้งใจของ PEA ก็คือ การสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้งานรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ว่าจะสามารถเดินทางทั่วประเทศได้อย่างอุ่นใจ มีสถานีอัดประจุให้แวะชาร์จได้ครอบคลุมทุกเส้นทางการขับขี่ ซึ่งในที่นี้คือครอบคลุมทุกๆ ระยะทาง 100 กิโลเมตร ผ่านแอปพลิเคชัน PEA VOLTA Application
ปัจจุบัน PEA VOLTA ได้เปิดให้บริการแล้วทั้งหมดรวม 17 สถานี หลังเริ่มโครงการในช่วงทดลองมาตั้งแต่ปี 2561 โดยส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในฟลีทสถานีบริการน้ำมันของบางจาก แต่ละสถานีจะประกอบด้วย 2 เครื่องชาร์จ 5 หัวจ่าย (1 AC ที่เหลือ DC) สามารถชาร์จพร้อมกันได้สูงสุดที่ 3 คัน ให้บริการต่อเนื่อง 24 ชั่วโมงทุกวัน โดยในสถานีที่ทำร่วมกับบางจากนั้น ทางบางจากจะไม่คิดค่าตั้งสถานี (ให้ใช้สถานที่ได้ฟรี ค่าติดตั้งสถานีมีต้นทุนอยู่ที่ 2 ล้านบาท)
ส่วนในสถานีที่คิดค่าบริการค่าชาร์จไฟ PEA จะเก็บค่าบริการในช่วงพีกที่ 7.548 บาท (09.00-22.00 น.) และช่วงไม่พีกที่ 4.1663 บาท (23.00-08.00 น.)
มองจากมุมของ PEA สมพงษ์ ปรีเปรม ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า การทำธุรกิจชาร์จไฟฟ้าจริงๆ แล้วเป็นธุรกิจที่ไม่ ‘ก่อให้เกิดกำไร’ กับองค์กรด้วยซ้ำ แต่สาเหตุที่พวกเขาต้องลงมาลุยสังเวียนนี้เอง ก็เป็นเพราะว่า PEA ดูแลการจ่ายไฟ การให้บริการด้านไฟฟ้าโดยตรง หากมองผ่านเทรนด์ที่เกิดขึ้นนี้ก็จะดูทะแม่งๆ อยู่พอสมควร ทั้งยังเป็นความตั้งใจของพวกเขาที่หวังจะร่วมขับเคลื่อนเทรนด์การใช้รถไฟฟ้าในกลุ่มผู้ใช้งานคนไทยด้วย
บวกกับการที่ลงมาอยู่ในธุรกิจนี้ก็จะทำให้พวกเขาเข้าถึงข้อมูล Data ผู้ใช้บริการ พฤติกรรมการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าได้โดยตรง เพื่อที่จะได้สามารถวางแผนการให้บริการไฟฟ้าในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพและตรงกับความต้องการของคนได้มากที่สุด สอดรับเทรนด์อนาคตที่คนกำลังหันมาใช้ EV กันมากขึ้น
ฝั่งบางจาก นอกจากจะเป็นการทรานส์ฟอร์มตัวเองไปจับกลุ่มธุรกิจใหม่ซึ่งจะเข้ามาดิสรัปต์ ‘ธุรกิจหลัก’ สถานีบริการน้ำมันของพวกเขาในอนาคต และการได้ ‘ภาพ’ ของการเป็นผู้ประกอบการที่ไม่ย่ำอยู่กับที่แล้ว บางจากยังจะได้ประโยชน์จากการที่คนมาใช้บริการสถานีชาร์จ EV ในปั๊มของพวกเขาอีกด้วย เพราะต้องไม่ลืมว่า การชาร์จรถไฟฟ้าแต่ละครั้งมักจะกินระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 30 นาทีขึ้นไป (เป็นอย่างน้อยสำหรับ Quick Charge) ซึ่งก็จะทำให้ร้านค้า ร้านอาหาร ที่เช่าพื้นที่ของพวกเขาอยู่ หรือแม้แต่ร้านกาแฟอินทนิล คอฟฟี่ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจ Non-oil ของบริษัทเองพลอยได้รับผลประโยชน์ กระทบชิ่งไปเต็มๆ
สำหรับแผนการระยะยาวของ PEA พวกเขาตั้งเป้าจะขยายสถานีชาร์จให้ครอบคลุม 263 สถานี ใน 75 จังหวัด ภายในปี 2566 หรืออีก 2 ปีต่อจากนี้ ส่วนในระยะสั้น หรือภายในกลางปี 2564 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องมีสถานีชาร์จ EV ที่ติดตั้งเสร็จแล้วรวม 62 สถานี
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล