สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า ธนาคารกลางจีน (PBOC) กำลังใช้ความพยายามอย่างหนักในการต่อสู้กับการอ่อนค่าของสกุลเงินหยวนที่เข้าใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 16 ปี โดยในช่วงที่ผ่านมา PBOC ได้กำหนดอัตราอ้างอิง หรือ Midpoint ของเงินหยวนให้อยู่ในจุดที่สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ถึง 54 วันติดต่อกัน แต่ดูเหมือนว่ามาตรการดังกล่าวจะยังไม่มีประสิทธิภาพมากนัก
ปัจจุบันเงินหยวนยังถูกควบคุมอย่างใกล้ชิดโดยทางการจีน ซึ่งเปิดให้เคลื่อนไหวยืดหยุ่นตามกลไกตลาดได้ไม่เกิน 2% ทั้งในฝั่งอ่อนค่าและแข็งค่าต่อวัน โดยในแต่ละวัน PBOC จะมีการประกาศ Midpoint ออกมาเพื่อใช้เป็นอัตราอ้างอิง
แม้จะมีการกำหนด Midpoint ให้สูงขึ้น แต่การอ่อนค่าของเงินหยวนก็ยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยมีหลายครั้งที่เงินหยวนอ่อนค่าลงไปแตะเพดานในฝั่งอ่อนค่าที่ 2% ด้วยแรงกดดันที่เกิดจากความแตกต่างของดอกเบี้ยและนโยบายการเงินระหว่างจีนและสหรัฐฯ
Wei Liang Chang นักกลยุทธ์ด้านเศรษฐกิจมหภาคของ DBS Bank ระบุว่า การปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่ามากเกินไปอาจทำให้สกุลเงินในเอเชียอื่นๆ อ่อนค่าลงตาม นำไปสู่กระแสเงินทุนไหลออก และจะทำให้ภาคการส่งออกของจีนได้รับประโยชน์จากเงินหยวนที่อ่อนค่าไม่มาก
นับจากต้นปีที่ผ่านมา เงินหยวนอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐไปแล้วถึง 6% ซึ่งถือเป็นเงินสกุลหลักอื่นๆ ที่อ่อนค่าลงโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2% โดยในช่วงเช้าของวันนี้ (7 กันยายน) เงินหยวนมีการซื้อขายอยู่ที่ระดับ 7.32 หยวนต่อดอลลาร์
Brad Bechtel นักวิเคราะห์ของ Jefferies ระบุว่า การที่เงินหยวนยังเคลื่อนไหวอยู่เหนือระดับ 7.30 หยวนต่อดอลลาร์ สะท้อนว่าแรงกดดันในฝั่งอ่อนค่ายังอยู่ในระดับสูง และเชื่อว่า PBOC จะพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการอ่อนค่าอย่างรุนแรง ซึ่งจะส่งผลต่อเสถียรภาพในระยะยาวของเงินสกุลหยวนที่จีนมีเป้าหมายจะยกสถานะให้เป็นสกุลเงินกลางในการค้าขายและเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีความสำคัญมากขึ้นของโลกในอนาคต
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งก็เชื่อว่าจีนอาจจะยอมปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่าต่อไปอีกระยะหนึ่งโดยไม่ใช้มาตรการแทรกแซงที่รุนแรง
อ้างอิง: