ธนาคารกลางจีน (PBOC) กำลังอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบการเงินมากขึ้น เพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลนเงินทุนและสภาพคล่องที่เกิดจากความต้องการสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
โดยล่าสุดในเดือนเมษายนนี้ PBOC ให้วงเงินกู้จำนวน 1.7 แสนล้านหยวน หรือ 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ แก่ธนาคารผ่านวงเงินสินเชื่อระยะกลาง (Medium-Term Lending Facility) พร้อมกับอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงไว้ที่ระดับ 2.75% อย่างไรก็ดี การอัดฉีดดังกล่าวถือว่ามีขนาดน้อยที่สุดนับจากเดือนพฤศจิกายนในปีที่ผ่านมา
การอัดฉีดเงินที่น้อยลงบ่งชี้ว่า PBOC กำลังประเมินผลกระทบของมาตรการผ่อนคลายในเดือนมีนาคม ที่ตัวเองได้ปรับลดอัตราส่วนเงินสำรองของธนาคาร ซึ่งจะช่วยให้มีเงินสดราว 5 แสนล้านหยวนไหลเข้าสนับสนุนการเติบโตของสินเชื่อในระบบมากขึ้น
โดยข้อมูลของเดือนที่แล้วระบุว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนกำลังดำเนินไปพร้อมกับการขยายตัวของสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นและการส่งออกที่สูงกว่าประมาณการ
“ผลลัพธ์ดูเหมือนจะเป็นไปตามความคาดหวังของ PBOC แม้ว่าเรามองว่าอัตราดอกเบี้ยจีนมีโอกาสจะปรับลดลงเล็กน้อยในปีนี้ แต่การปรับลดดังกล่าวดูเหมือนจะไม่ใกล้เข้ามา” ฟรานเซส เฉิง นักยุทธศาสตร์ด้านอัตราดอกเบี้ยของ Oversea-Chinese Banking Corp. ในสิงคโปร์กล่าว
อี้ กัง ผู้ว่าการ PBOC กล่าวระหว่างเข้าร่วมประชุม G20 ในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า เศรษฐกิจจีนกำลังฟื้นตัว และ PBOC เชื่อว่าเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจประมาณ 5% ในปีนี้เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ เนื่องจากตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีนเริ่มมีพัฒนาการที่ดีขึ้นแล้ว
แม้ว่า PBOC จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้ที่เดิม แต่ธนาคารขนาดเล็กของจีนบางแห่งได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลง เพื่อเพิ่มความสามารถในการทำกำไรและกระตุ้นการกู้ยืมมากขึ้น
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- มหาเศรษฐีจีนโล่งใจได้นานแค่ไหน? หลังรัฐบาลจีนเปลี่ยนท่าทีมาเป็นมิตรกับภาคธุรกิจมากขึ้น
- พญามังกรจะผงาดหรือกลับหัว? เมื่อเศรษฐกิจจีนโตเกินคาด แต่ภาระหนี้ยังจ่อทะลุเพดาน จับตาท่าที ‘สีจิ้นผิง’ ชี้ชะตาผลลัพธ์
- จริงหรือที่ ‘อินเดีย’ กำลังจะเป็นโรงงานของโลกแห่งใหม่ต่อจากจีน? ถึงขั้นที่การผลิต 1 ใน 4 ของ ‘iPhone’ จะย้ายมาที่นี่ภายในปี 2025
อ้างอิง: