‘แพ็กซ์โลวิด’ (Paxlovid) เป็นยาต้านไวรัสโควิด-19 ที่ประเทศไทยนำเข้ามาใช้แล้ว แต่ยังไม่ค่อยมีใครพูดถึงมากนัก ความจริงแล้วยานี้มีประสิทธิผลสูงที่สุด และได้รับการบรรจุในแนวทางการรักษาโควิด-19 ขององค์การอนามัยโลก (WHO) และสมาคมโรคติดเชื้อสหรัฐอเมริกา (IDSA)
ยานี้ต่างจากยาต้านไวรัสอื่นอย่างไร สามารถลดอาการรุนแรงได้เท่าไร ถ้าไวรัสกลายพันธุ์ จะยังใช้ได้อยู่หรือไม่ และที่สำคัญผู้ป่วยรายใดควรได้รับยานี้บ้าง เราจะมาเจาะลึกกัน
ยาแพ็กซ์โลวิดคืออะไร
แพ็กซ์โลวิดเป็นยา ‘แพ็กคู่’ ประกอบด้วยยาต้านไวรัส 2 ชนิด คือ เนอร์มาเทรลเวียร์ (Nirmatrelvir) และริโทนาเวียร์ (Ritonavir) แต่ไม่ได้รวมอยู่ในเม็ดเดียวกัน ผู้ป่วยจะรับประทานยาเนอร์มาเทรลเวียร์ 2 เม็ด และยาริโทนาเวียร์ 1 เม็ด รวมเป็น 3 เม็ด วันละ 2 ครั้ง นาน 5 วัน หรืออาจต้องมีการปรับขนาดยาในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังโดยแพทย์ผู้ทำการรักษา
‘เนอร์มาเทรลเวียร์’ เป็นยาที่พัฒนาขึ้นสำหรับการรักษาโควิด-19 โดยเฉพาะ มีคุณสมบัติยับยั้งการสร้างโปรตีนของไวรัส ทำให้ไวรัสเพิ่มจำนวนต่อไม่ได้ ส่วน ‘ริโทนาเวียร์’ ถูกนำมาใช้เพื่อชะลอการสลายของยาเนอร์มาเทรลเวียร์ ทำให้ยาออกฤทธิ์นานขึ้น
ในขณะที่ยาต้านไวรัสชนิดอื่น เช่น โมลนูพิราเวียร์ และเรมเดซิเวียร์ ก็จะมีกลไกในการออกฤทธิ์แตกต่างออกไป
แพ็กซ์โลวิดเป็นยารักษาโควิด-19 แบบรับประทานชนิดแรกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA) เมื่อเดือนธันวาคม 2021 ส่วนในประเทศไทย ยานี้ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เมื่อเดือนมกราคม 2022
ประสิทธิผลของยาแพ็กซ์โลวิด
จากผลการศึกษาในผู้ป่วยโควิด-19 อายุ 18 ปีขึ้นไป ที่มีภาวะเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรง จำนวน 2,246 ราย พบว่ายาแพ็กซ์โลวิดสามารถลดการนอนโรงพยาบาลและเสียชีวิตได้ประมาณ 88-89% หากมีอาการมาไม่เกิน 3-5 วัน โดยกลุ่มที่ได้ยาแพ็กซ์โลวิดไม่มีผู้เสียชีวิต
สำหรับอาการข้างเคียงพบได้เล็กน้อยและไม่รุนแรง เช่น การรับรสชาติเปลี่ยนไป พบได้ประมาณ 5.6%, ท้องเสีย ประมาณ 3% และปวดศีรษะ คลื่นไส้ พบได้น้อยประมาณ 1.4% เมื่อเปรียบเทียบกับผลการศึกษาของยาต้านไวรัสชนิดอื่น เช่น ยาโมลนูพิราเวียร์ สามารถลดอาการรุนแรงได้ประมาณ 30% และยาเรมเดซิเวียร์ มีประสิทธิผล 87% ดังนั้นยาแพ็กซ์โลวิดจึงมีประสิทธิผลสูงกว่ายาต้านไวรัสตัวอื่นๆ แต่เมื่อไวรัสยังคงกลายพันธุ์ต่อเนื่อง ยาจะยังมีประสิทธิผลอยู่หรือไม่
ถ้าไวรัสกลายพันธุ์มากขึ้น
ข้อมูลจากการใช้ยาต้านไวรัสในประเทศต่างๆ ในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน มีออกมาเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นฮ่องกง อิสราเอล และสหรัฐอเมริกา ชี้ให้เห็นว่าแพ็กซ์โลวิดยังคงประสิทธิภาพที่ดีต่อการรักษาโควิด-19 ที่เกิดจากสายพันธุ์โอมิครอนอยู่ ทั้งในผู้ที่เคยฉีดวัคซีนและยังไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อน ในขณะที่ข้อมูลจากฮ่องกงชี้ว่า โมลนูพิราเวียร์อาจใช้ไม่ได้ผลต่อการรักษาโควิด-19 ที่เกิดจากสายพันธุ์โอมิครอน
ผู้ป่วยรายใดที่ควรได้รับยา
แพ็กซ์โลวิดเป็นยาต้านไวรัส 1 ใน 4 ชนิด นอกเหนือจากโมลนูพิราเวียร์ เรมเดซิเวียร์ และฟาวิพิราเวียร์ ที่กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ระบุไว้ในแนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ของไทย โดยแนะนำให้ใช้ในผู้ป่วยกลุ่ม ‘สีเหลือง’ คือยังมีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง เช่น มีอายุมากกว่า 60 ปี หรือมีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคปอดเรื้อรัง, โรคไตเรื้อรัง, โรคหัวใจ, โรคหลอดเลือดสมอง, เบาหวาน, อ้วน, ตับแข็ง, ภูมิคุ้มกันต่ำ และผู้ติดเชื้อเอชไอวี หรือมีปอดอักเสบเล็กน้อยถึงปานกลาง
โดยจากข้อมูลในปัจจุบัน แพ็กซ์โลวิดเป็นยาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และได้รับการแนะนำจากองค์การอนามัยโลก (WHO) และสถาบันสุขภาพแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (National Institutes of Health) ให้เป็นยาต้านไวรัสที่ควรใช้เป็นตัวแรกในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19
ทั้งนี้สำหรับในประเทศไทย การเลือกใช้ยาใดกับผู้ป่วยรายใดจะขึ้นกับวิจารณญาณของแพทย์ โดยพิจารณาจากหลายๆ ปัจจัยและสถานการณ์ ณ ขณะนั้นประกอบ
ยาแพ็กซ์โลวิดมีข้อห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัย และห้ามใช้ร่วมกับยาบางชนิด เช่น ยากันชัก ยารักษาวัณโรค รวมทั้งอาจต้องมีการปรับขนาดยาชั่วคราวสำหรับผู้ที่กำลังใช้ยารักษาโรคไขมันในเลือดผิดปกติกลุ่มสแตติน หรือยาบรรเทาปวดบางชนิด
โดยสรุป ‘แพ็กซ์โลวิด’ เป็นยาต้านไวรัสชนิดรับประทานที่มีประสิทธิภาพสูงกว่ายาต้านไวรัสตัวอื่นๆ สามารถลดอาการรุนแรงได้ 89% มีข้อมูลสนับสนุนว่ายังคงประสิทธิภาพดีต่อการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในช่วงการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน การรักษาควรต้องเริ่มให้เร็วที่สุด โดยไม่ควรเกิน 5 วันหลังจากที่เริ่มมีอาการ แพทย์สามารถพิจารณาจ่ายยาให้กับผู้ป่วยโควิด-19 ที่อาการยังไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรง เช่น อายุมาก หรือมีโรคประจำตัวเรื้อรัง โดยผู้ป่วยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม หากไปรับการรักษาตามสิทธิ
อ้างอิง:
- แนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ฉบับปรับปรุง วันที่ 11 กรกฎาคม 2565: https://covid19.dms.go.th/Content/Select_Landding_page?contentId=175
- NIH COVID-19 Treatment Guidelines. Updated 31 May 2022.: https://files.covid19treatmentguidelines.nih.gov/guidelines/covid19treatmentguidelines.pdf
- Therapeutics and COVID-19: living guideline – World Health Organization (WHO).: https://www.who.int/publications/i/item/WHO-2019-nCoV-therapeutics-2022.3
- เอกสารกำกับยา: แพ็กซ์โลวิด (Paxlovid): https://www.fda.moph.go.th/Pages/Covid-19/Paxlovid/Paxlovid_th_pil.html
- Coronavirus (COVID-19) Update: FDA Authorizes First Oral Antiviral for Treatment of COVID-19: https://www.fda.gov/news-events/press-announcements/coronavirus-covid-19-update-fda-authorizes-first-oral-antiviral-treatment-covid-19
- Oral Nirmatrelvir for High-Risk, Nonhospitalized Adults with Covid-19:
https://www.nejm.org/doi/full/10.1056/NEJMoa2118542 - Wong CK, et al. medRxiv pre-print 2022: https://doi.org/10.1101/2022.05.19.22275291
- Yip CF, et al. Lancet pre-print 2022 Available at: https://ssrn.com/abstract=4112160
- Dryden-Peterson, et al. medRxiv pre-print 2022.: https://doi.org/10.1101/2022.06.14.22276393
- Arbel R, et al., Research Square (Preprint posted June 1, 2022) Available at:
https://doi.org/10.21203/rs.3.rs-1705061/v1 -
-
IDSA Guidelines on the Treatment and Management of Patients with COVID-19