×

กมธ.การทหาร เปิดคำร้องขอฝากขัง พอล แชมเบอร์ส ชี้ข้อความสำคัญหายไป สงสัยจงใจหลอกลวงศาลหรือไม่

โดย THE STANDARD TEAM
08.05.2025
  • LOADING...
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ประธานกรรมาธิการการทหาร แถลงผลการตรวจสอบคำร้องฝากขังในคดี ดร.พอล แชมเบอร์ส

วันนี้ (8 พฤษภาคม) ในการประชุมกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร ที่มี วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส. แบบบัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน เป็นประธานกรรมาธิการ พิจารณาต่อเนื่องกรณีกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ภาค 3 กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองพิษณุโลก ให้ดำเนินคดี กับ ดร.พอล เวสลีย์ แชมเบอร์ส อาจารย์มหาวิทยาลัยนเรศวร ในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา

 

โดยกรรมาธิการได้เชิญ พล.ต. วินธัย ทิวารี โฆษกกองทัพบก (ทบ.), พล.ต. ธรรมนูญ โฆษก กอ.รมน., พ.ต.อ. วัชรพงษ์ สิทธิรุ่งโรจน์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองพิษณุโลก และ ร.ต.อ. พรชัย ปลั่งกลาง พนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนเข้าชี้แจง 

 

อย่างไรก็ตาม ทาง ทบ. ทำหนังสือชี้แจงว่า ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว จึงไม่ได้เข้าร่วมชี้แจงต่อกรรมาธิการ ทำให้วิโรจน์กล่าวว่า เดิมทีตั้งใจเชิญ พล.ต. วินธัย มาเพื่อหารือเรื่องอำนาจหน้าที่ ตามวินัยทหารหากมอบอำนาจหน้าที่ให้ปฏิบัติแล้ว ก็ต้องเคารพในเนื้อหาสาระ ไม่ใช่เมื่อมีหนังสือให้ช่วยราชการของ กอ.รมน. แล้วก็จะทำได้ทุกหน้าที่ ไม่เช่นนั้นก็ควรตั้งสำนักอเนกประสงค์ขึ้นมาเลยจะเหมาะสมกว่า ซึ่งก็เห็นตรงกับหนังสือของ ทบ. ว่า ทบ. ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องตั้งแต่แรก

 

ขณะที่ พล.ต. ธรรมนูญ แจ้งว่าติดภารกิจ จึงไม่ได้เข้าชี้แจง ส่วน พ.ต.อ. วัชรพงษ์ พนักงานสอบสวน ประสานด้วยวาจาว่า ได้ลาพักผ่อน จึงไม่ได้เข้าชี้แจงเช่นกัน

 

กอ.รมน. ทำเกินอำนาจกฎหมายกำหนดหรือไม่

 

จากนั้น ที่ประชุมกรรมาธิการจึงได้พิจารณาในประเด็นของหลักฐานที่ใช้ในการดำเนินคดีและฝากขังว่าเพียงพอหรือไม่ ซึ่งในการประชุมกรรมาธิการครั้งก่อนหน้า ตัวแทน กอ.รมน. ชี้แจงว่า ดำเนินคดีตามมาตรา 7 (1) ของ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ซึ่งระบุไว้ว่า อำนาจหน้าที่ของ กอ.รมน. คือการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินแนวโน้มของสถานการณ์ที่อาจก่อให้เกิดภัย คุกคามด้านความมั่นคงภายในราชอาณาจักรและรายงานคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป

 

ผศ. ดร.กริช ภูญียามา คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นทางกฎหมายต่อมาตราดังกล่าว โดยระบุว่า ในกรณีนี้ เป็นการดำเนินการโดย กอ.รมน. ซึ่งเป็นหน่วยงานอยู่ในฐานะนิติบุคคล ที่มีกฎหมายกำกับไว้ ซึ่งเมื่อกฎหมายกำกับว่าต้องดำเนินการผ่าน ครม. ก็ต้องทำตามนั้น

 

ผศ. ดร.กริช ระบุว่า กรณีนี้จะไม่มีปัญหาเลย หากไปแจ้งความกล่าวโทษในฐานะส่วนตัว แต่น้ำหนักของการกล่าวโทษย่อมไม่เท่ากันอยู่แล้วโดยสภาพ พร้อมย้ำหลักการของหน่วยงานของรัฐว่า กฎหมายมีไว้แค่ไหน ต้องใช้อำนาจตามขอบเขตนั้น สิ่งแตกต่างจากเอกชนที่ทำได้ทั้งหมดยกเว้นเรื่องที่กฎหมายห้าม

 

จากนั้นกรรมาธิการได้ตั้งข้อสังเกตว่า หลักฐานที่ใช้ดำเนินคดีมีเพียงพอหรือไม่ เพราะยังไม่เห็นหลักฐานอื่นนอกจากเอกสารสูจิบัตรของสถาบันเอเชียอาคเนย์ศึกษา ยูซุฟ อิสฮัค (ISEAS-Yusof Ishak Institute) ทางตัวแทนของ กอ.รมน. ก็ไม่ได้กล่าวถึงหลักฐานอื่นใด 

 

จงใจละข้อความสำคัญหลอกลวงศาลหรือไม่

 

ต่อมา กรรมาธิการได้พิจารณาข้อความในหนังสือคำร้องขอฝากขัง ดร.พอล ที่มีการบรรยายพฤติการณ์แห่งคดี โดยระบุว่า ผู้ต้องหาคือ ดร.พอล ได้โพสต์ข้อความลงในเว็บไซต์ของ ISEAS สถาบัน Yusof Ishak และในช่วงหนึ่ง ได้มีการแปลข้อความดังกล่าวเป็นภาษาไทยระบุว่า 

 

“สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีการแบ่งฝ่าย อย่างมาก ซึ่งผู้ได้รับการแต่งตั้งระดับอาวุโสคนใหม่นั้น มาจากการแข่งขันที่มีการแบ่งฝ่ายและพวกพ้อง ในประเด็นข้อ ถกเถียงดังกล่าว… จะเปิดเผยให้ทราบว่าผู้ได้รับการแต่งตั้งใหม่นั้นเป็นใคร บุคคลเหล่านี้เป็นตัวแทนของฝ่ายใด”

 

วิโรจน์ชี้ว่า ข้อความ … ที่ได้ถูกละไว้ เมื่อนำมาเทียบกับข้อความดั้งเดิมที่คัดลอกมาจากเว็บไซต์ดังกล่าว ซึ่งได้นำมาเป็นหลักฐานประกอบการแจ้งความ จะเห็นว่าข้อความภาษาอังกฤษระบุไว้ว่า “In this discussion, Dr Paul Chambers will explore who the new appointees are, the factions they represent,” จึงจะเห็นได้ว่าข้อความ … ที่หายไปนั้น คือคำว่า Dr.Paul Chambers

 

วิโรจน์ตั้งข้อสังเกตว่าในส่วนนี้ถ้า ดร.พอล เป็นผู้โพสต์ข้อความนี้จริง ควรต้องใช้คำว่า I will explore แต่ถ้าเป็นบุคคลอื่นเขียนโดยไม่ใช่ ดร.พอล เขียน ก็จะใช้คำว่า Dr.Paul Chambers will explore แทน จึงขอตั้งเป็นประเด็นไว้ให้กรรมาธิการพิจารณา

 

ทั้งนี้ เพื่อให้ความเป็นธรรม กรรมาธิการได้บันทึกไว้ว่าข้อความในเว็บไซต์ขณะนี้ได้มีการปรับแก้เนื้อหาไปแล้วบางส่วน อย่างไรก็ตาม ในส่วนที่กล่าวว่า Dr.Paul Chambers will explore ก็ยังคงไว้เช่นเดิม ซึ่งวิโรจน์ให้ความเห็นว่า หากในหนังสือคำร้องขอฝากขังใช้คำว่า Dr.Paul Chambers แทนข้อความ … ที่หายไป ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ศาลอาจนำมาร่วมพินิจพิเคราะห์อย่างละเอียดด้วยว่า ดร.พอล อาจไม่ใช่ผู้เขียนงานชิ้นนี้ จึงขอตั้งคำถามถึงผู้ดำเนินการฝากขังว่า จงใจตัดข้อความดังกล่าวเพื่อหลอกลวงศาลว่า ดร.พอล เป็นผู้เขียนใช่หรือไม่

 

เชตวัน เตือประโคน สส. ปทุมธานี พรรคประชาชน ในฐานะกรรมาธิการ สนับสนุนข้อสังเกตของวิโรจน์ พร้อมมองว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าการใช้มาตรา 112 มีความข้องเกี่ยวกับการกลั่นแกล้งทางการเมืองพอสมควร และต้องเน้นย้ำว่า ในหนังสือคำร้องขอฝากขัง ในส่วนอื่นที่กล่าวถึง ดร.พอล แชมเบอร์ส ก็ใช้คำว่าผู้ต้องหา แต่เหตุใดจึงเว้นข้อความ … ไว้เพียงส่วนเดียว ซึ่งทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย และนิติกรก็เห็นตรงกันว่าเป็นข้อความส่วนที่มีความสำคัญ

 

อย่างไรก็ตาม วิโรจน์ระบุว่า ตอนนี้ยังสรุปไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงมีเพียงเท่านี้หรือไม่ แต่ถ้าหากมีเพียงเท่านี้จริง การดำเนินการดังกล่าวอาจจะเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ได้

 

ด้าน สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการทหาร ย้ำถึงงานวิชาการของ ดร.พอล ซึ่งเป็นคนระมัดระวังเรื่องการพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างมาก และจากประสบการณ์มั่นใจว่า ในงานสัมมนา คงไม่มีผู้เสวนาคนใดที่จะเขียนคำโปรยเพื่อแนะนำตนเอง 

 

สุภลักษณ์เน้นย้ำว่า การดำเนินคดีนี้ไม่ได้กระทำด้วยความละเอียดรอบคอบ และเคร่งครัดต่อกฎหมายเพียงพอ เพราะข้อความทั้งหมดในงานวิชาการ ไม่มีส่วนใดแสดงความอาฆาตมาดร้าย หรือดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ จึงเห็นว่าเป็นการใช้กฎหมายและหลักฐานประกอบอย่างผิดฝาผิดตัว โดยใช้โพสต์เฟซบุ๊กของบุคคลที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยไม่มีหลักฐานอื่นประกอบเลย

 

นอกจากนี้ วิโรจน์ยังกล่าวว่า กรรมาธิการจะเตรียมทำหนังสือถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร สอบถามกรณีเลิกจ้าง ดร.พอล เนื่องจากถูกเพิกถอนวีซ่าโดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และหากท้ายที่สุดกระบวนการยุติธรรมพิสูจน์ออกมาว่า ดร.พอล เป็นผู้บริสุทธิ์ ทางมหาวิทยาลัยนเรศวรมีนโยบายอย่างไรที่จะมอบความเป็นธรรม และมอบเสรีภาพทางวิชาการให้กับ ดร.พอล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising