×

พี่ชาย พอล แชมเบอร์ส เขียนบทความ ชี้เจรจาภาษีไทย-สหรัฐฯ ไม่อาจเริ่มต้น จนกว่าน้องชายจะได้กลับบ้าน

22.04.2025
  • LOADING...
ภาษีไทย-สหรัฐฯ

คิต แชมเบอร์ส พี่ชายของ ดร.พอล แชมเบอร์ส อาจารย์ประจำสถานประชาคมอาเซียนศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก ที่ถูกยื่นฟ้องข้อหาความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ได้เผยแพร่บทความแสดงความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์สำนักข่าว The Oklahoman ระบุถึงการเจรจาระหว่างไทยและสหรัฐฯ เกี่ยวกับนโยบายภาษี โดยชี้ว่า หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม คือกรณีของพอล ซึ่งเขาอ้างว่าถูกกักขังอย่างผิดกฎหมายในประเทศไทย และมองว่า การเจรจาไม่อาจเริ่มต้นได้ จนกว่าพอลจะได้รับการปล่อยตัวกลับบ้านเกิดในรัฐโอคลาโฮมา

 

“ในขณะที่สหรัฐฯ พบกับคณะผู้แทนไทยเพื่อเจรจาเรื่องภาษีศุลกากรในวันที่ 21 เมษายน ประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม ประเด็นนี้ไม่มีความสัมพันธ์กับภาษีศุลกากรแต่อย่างใด แต่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และไทยทั้งหมด ประเด็นนี้คือการกักขังพลเมืองอเมริกัน คือพอล แชมเบอร์ส น้องชายของผม

 

“หากเราจะเจรจาเรื่องภาษีศุลกากร เราไม่สามารถเริ่มพูดคุยเรื่องนี้ได้ จนกว่าปัญหานี้จะได้รับการแก้ไข มันจะเป็นการหารือที่ค่อนข้างง่าย คือปล่อยน้องชายของผม พอล แชมเบอร์ส กลับบ้านที่โอคลาโฮมา หรือไม่เช่นนั้นก็เผชิญกับภาษีศุลกากรที่สูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”

 

บทความยังบรรยายถึงพอล ซึ่งจบการศึกษาระดับปริญญาเอก และเป็นอดีตศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยโอคลาโฮมา ซึ่งได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และการทหารของไทย และชี้ว่าข้อมูลเชิงลึกของพอล มักถูกนำไปใช้ทั้งในไทย และในกลุ่มผู้กำหนดนโยบายของสหรัฐฯ

 

นอกจากนี้ ยังระบุถึงข้อกล่าวหาต่างๆ ที่พอลได้รับ โดยเฉพาะข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งอาจเผชิญโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี โดยคิต อ้างว่าน้องชายของเขาเผชิญข้อกล่าวหาที่เป็นเท็จ และยืนยันว่าพอล ที่ใช้ชีวิตในไทยมากว่า 30 ปี เคารพวัฒนธรรมไทยและไม่เคยแสดงความไม่เคารพต่อราชวงศ์ของไทย

 

“พอลรู้จักกฎระเบียบ เขาใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยมานานกว่าสามทศวรรษ เขาเคารพวัฒนธรรมไทยและไม่เคยแสดงความไม่เคารพต่อราชวงศ์”

 

คิต ยังชี้ถึงที่มาของการยื่นฟ้องพอล โดยระบุว่า ในเดือนตุลาคม 2024 พอลได้รับการประกาศให้เป็นวิทยากรในงานประชุมที่จัดโดยสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาของสิงคโปร์ และดูเหมือนว่า มีใครบางคนในกองทัพไทย ได้อ่านคำอธิบายหัวข้อประชุมของเขา และนำไปใช้ในการยื่นฟ้องข้อหาอาญากับพอล ซึ่งเขายืนยันว่า พอลไม่ได้เขียนหรือมีส่วนร่วมในสิ่งที่เขียน ซึ่งหน่วยงานของสิงคโปร์ที่จัดงานเป็นผู้เขียน

 

“สิ่งนี้ถูกใช้เพื่อทำให้นักวิชาการที่น่านับถือคนนี้ถูกตั้งข้อหา ถูกกักขังชั่วคราวในเรือนจำอย่างน่าเวทนา และตอนนี้ก็ถูกกักขังในประเทศไทยโดยมีเครื่องติดตามที่ข้อเท้า ไม่มีหนังสือเดินทางและไม่มีวีซ่าทำงาน ห้ามออกนอกประเทศ”

 

เขาย้ำว่า สิ่งที่พอลต้องการคือออกจากประเทศไทย และย้ายกลับไปที่โอคลาโฮมา พร้อมทั้งชี้ถึงการเจรจานโยบายภาษีระหว่างไทยและสหรัฐฯ ว่าจะมีขึ้นในขณะที่พลเมืองอเมริกันคนหนึ่งกำลังเผชิญกับข้อกล่าวหาเท็จ และอาจสูญเสียอิสรภาพเพราะรัฐบาลไทย และอ้างว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แสดงความชัดเจนว่าต้องการให้ชาวอเมริกันที่ถูกกักขังอย่างผิดกฎหมายในต่างประเทศได้กลับบ้านในสหรัฐฯ

 

“รัฐบาลไทยไม่ควรทดสอบประธานาธิบดีของเราเรื่องภาษีศุลกากร พวกเขาไม่ควรทดสอบเขา (ทรัมป์) เรื่องการจับชาวอเมริกันเป็นตัวประกัน”

 

ขณะที่เขายังแนะให้ทีมเจรจาของสหรัฐฯ ที่กำลังเตรียมเจรจากับรัฐบาลไทย โดยชี้ว่า คำพูดแรกที่ผู้แทนไทยควรพูด ควรเป็นคำว่า “ดร.แชมเบอร์ส กำลังเดินทางกลับบ้านแล้ว”

 

สหรัฐฯ จับตามองสิทธิมนุษยชนไทย

 

ที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐฯ แสดงท่าทีจับตามองความเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนในไทยในประเด็นต่างๆ โดยก่อนหน้านี้มาร์โค รูบิโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เคยแสดงท่าทีคัดค้านการส่งตัวกลุ่มชาวอุยกูร์ กลับไปยังประเทศจีน พร้อมทั้งย้ำถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐฯ ที่อาจทำให้ไทยไม่ส่งตัวชาวอุยกูร์ให้แก่จีน

 

แต่ท้ายที่สุด ทางการไทยยังคงเลือกส่งกลุ่มชาวอุยกูร์ กลับไปยังจีน จนทำให้รูบิโอ ต้องออกแถลงการณ์ประณามการกระทำนี้อย่างรุนแรง ก่อนที่จะออกคำสั่งห้ามเดินทางแก่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลไทยที่เกี่ยวข้องกับการเนรเทศกลุ่มชาวอุยกูร์

 

อย่างไรก็ตาม ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา รูบิโอ ยังได้ส่งข้อความอวยพรแก่ชาวไทย และชื่นชมความสัมพันธ์อันใกล้ชิดและยาวนานระหว่างทั้งสองประเทศ พร้อมทั้งระบุว่า สหรัฐฯ มีความคาดหวังที่จะ ‘ค้นหาวิธีใหม่ๆ’ ในการทำงานร่วมกับไทย เพื่อพัฒนาชีวิตและอนาคตของทั้งชาวไทยและชาวอเมริกัน

 

โดยกรณีของพอล ยังคงเป็นคำถามสำคัญ ว่าจะส่งผลกระทบต่อความร่วมมือและความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐฯ หรือกระทบต่อความพยายามของไทยในการเจรจานโยบายภาษีกับรัฐบาลทรัมป์ หรือไม่

 

ภาพ: FORSEA Forces of Renewal Southeast Asia

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising