×

เปิดใจ ‘ปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์’ ผู้สมัครเลือกตั้งพัทยา เบอร์ 1 ไม่มีบ้านใหญ่ ตอนนี้มีบ้านเดียวคือเรารักพัทยา

08.05.2022
  • LOADING...
ปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์

THE STANDARD LIVE: #เกาะติดเลือกตั้งพัทยา โดย เอก-ธนกร วงษ์ปัญญา สัมภาษณ์ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกเมืองพัทยา กับศึกเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในรอบ 10 ปี

 

โดยวานนี้ (7 พฤษภาคม) ได้สัมภาษณ์ผู้สมัครหมายเลข 1 ปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ จากกลุ่มเรารักพัทยา ชูนโยบาย ‘ต่อยอด ต่อเนื่อง เพื่อเมืองพัทยา’

 

ชมคลิป

 

 

ปรเมศวร์ อดีต ส.ส. ชลบุรี เคยดำรงตำแหน่งรองนายกเมืองพัทยาสมัยที่ สนธยา คุณปลื้ม ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกเมืองพัทยา ล่าสุดปรเมศวร์ลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งมี อิทธิพล คุณปลื้ม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งนายกเมืองพัทยาครั้งนี้ 

 

ปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์

ปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์

 

ขณะที่ในช่วงค่ำวันเดียวกัน ปรเมศวร์ได้จัดเวทีปราศรัยที่ริมหาดจอมเทียน พัทยา เปิดตัวทีมรองนายกเมืองพัทยาและผู้สมัครสมาชิกสภาเมืองพัทยา มีประชาชนที่ให้การสนับสนุนเข้าร่วมฟังการปราศรัยจำนวนมาก 

 

ปรเมศวร์เล่าว่า ตนเองเป็นคนพัทยา เรียนมัธยมต้นโรงเรียนอัสสัมชัญ ศรีราชา มัธยมปลายโรงเรียนอัสสัมชัญ พาณิชย์ ไปเรียนต่อปริญญาตรีและโทด้านการเงินที่ California State University, San Bernardino 

 

ปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์

ปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์

ปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์

 

กลับมาทำงานธนาคารระยะหนึ่ง และมีโอกาสติดตามทำงานกับคุณพ่อ ซึ่งเป็นนักการเมือง เป็น ส.ส. และ ส.ว. ทำให้มีความสนใจการเมือง 

 

เริ่มต้นการเมืองท้องถิ่น เป็นสมาชิกสภาจังหวัดชลบุรี (ส.จ.) ตั้งแต่อายุ 26 ปี ต่อมาเป็นที่ปรึกษานายก อบจ. แล้วลงสมัคร ส.ส. ระหว่างนั้นมีการรัฐประหารก็มาทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ คอนโดมิเนียม ทำโรงแรม แล้วไปเป็นรองนายกเมืองพัทยาช่วงสั้นๆ หลังจากนั้นเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม 

 

ปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์

 

ตอนเป็นรองนายกเมืองพัทยาดูแลการท่องเที่ยว สาธารณสุข พัสดุ และโรงพยาบาลเมืองพัทยา 

 

สำหรับการดูแลประชากรในพัทยา ปรเมศวร์กล่าวว่า นโยบายมีเป้าหมายหลัก 4 เป้าหมาย คือ

 

  1. เมืองพัทยาพึ่งพิงการท่องเที่ยว 80% จึงต้องแก้ปัญหาเศรษฐกิจการสร้างรายได้ การจ้างงาน
  2. ยกระดับคุณภาพชีวิตคนพัทยาทุกช่วงวัย แก้ปัญหาน้ำท่วมและสิ่งแวดล้อม 
  3. สานต่อวิสัยทัศน์ ‘นีโอพัทยา’ ที่ทางนายกเมืองพัทยา สนธยา คุณปลื้ม ทำเอาไว้ 
  4. พัฒนาเทคโนโลยีเป็นสมาร์ทซิตี้ ปฏิรูปรูปแบบการศึกษา รองรับนักลงทุน จะทำเมืองเป็นศูนย์กลางเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

 

เมื่อถามว่าจำนวนประชากรในพื้นที่เมืองพัทยาตามทะเบียนบ้านประมาณหนึ่งแสนคน มีสิทธิเลือกตั้ง 8 หมื่นคน แต่คนที่อยู่จริงในพัทยาประมาณกี่คน

 

ปรเมศวร์กล่าวว่า ก่อนโควิดระบาดมีคนไม่ต่ำกว่า 5 แสนคนแน่นอน นโยบายของเราวิสัยทัศน์คือ เมืองน่าอยู่ น่าลงทุน ของคนทั้งโลก ทั้งคนพัทยา คนมาทำงาน และนักท่องเที่ยว

 

ส่วนสถานประกอบการ สถานบันเทิง จะมีการจัดระเบียบอย่างไร ปรเมศวร์กล่าวว่า ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะผู้ประกอบการสถานบันเทิงได้รับผลกระทบหนักมาก วันนี้ผับ บาร์ ยังเปิดไม่ได้ สิ่งที่เราคิดจะทำคือ อยากจะขยายโซนนิ่ง ขยายพื้นที่ครอบคลุม ซึ่งต้องเสนออำเภอ กระทรวงมหาดไทย ไปจนถึง ส.ส. แก้กฎหมาย 

 

และเมื่อขยายโซนนิ่งได้แล้ว ต้องแก้กฎหมายให้เมืองพิเศษอย่างพัทยาสามารถเปิด-ปิดได้เกินเวลาไม่เหมือนที่อื่น ในขณะที่กฎหมายครอบคลุมทั้งประเทศ แต่สามารถกำหนดบางเมืองให้เปิด-ปิดเกินเวลาได้ 

 

ถ้าสถานบันเทิงสามารถเปิดได้แล้ว ให้สามารถเปิดได้ถึงตีสอง ต้องแก้กฎหมาย โอกาสที่จะทำสำเร็จขึ้นอยู่กับ ส.ส. ด้วย เพราะต้องผ่านกฎหมาย 

 

ทุกวันนี้ผู้ประกอบการต้องการเวลาที่มากขึ้นโดยวิธีไหนก็แล้วแต่ เพราะมีหลายเรื่องเป็นภาระค่าใช้จ่าย และคนที่เที่ยวแบบนี้จะใช้เงินก็คือเที่ยงคืนไปแล้ว 

 

ปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์

 

เมื่อถามว่า หากได้รับการเลือกตั้ง สิ่งแรกๆ ที่อยากจะทำและทำได้เลยคืออะไร ปรเมศวร์กล่าวว่า แก้ปัญหาเศรษฐกิจ จัดพื้นที่ค้าขายให้กับคนพัทยาในพื้นที่ที่มีความสำคัญ เป็นแลนด์มาร์กของพัทยา เรามีข้อบัญญัติที่ทำเสร็จแล้ว สามารถเอาพื้นที่สาธารณะมาจัดประโยชน์ แล้วต่อยอดทัวร์ชุมชน ขอให้ไปพื้นที่ที่เราจัดสรรให้ พัทยามีกิจกรรมการจัดแข่งขันกีฬา จะผลักดันให้ความร่วมมือเอกชนจัดกิจกรรมในพัทยา เมื่อมีคนเข้ามาก็เกิดรายได้ แต่เราก็ไม่ทิ้งการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เรื่องเร่งด่วน ปากท้อง 

 

ส่วนกรณีโครงสร้างพื้นฐานขุดเจาะทำถนน ปรเมศวร์กล่าวว่า อยากพูดเรื่องนี้มาก เพราะโดนโจมตีตลอดเรื่องการขุด ต้องเล่าก่อนว่าเรารู้ปัญหาและรู้ข้อเท็จจริงที่อยากบอกประชาชน เมืองพัทยาเป็นเมืองเล็กๆ 50 กว่าตารางกิโลเมตร มีคนแสนกว่าคน ประชากรแฝง 5 แสนคน มีคนมาท่องเที่ยว 15 ล้านคน    

 

เรานับหนึ่งเมืองท่องเที่ยวตั้งแต่ทหารอเมริกันมาจากโคราชเมื่อ 60 ปีที่แล้วมาเที่ยวพัทยา วันนั้นนับหนึ่งเรื่องการท่องเที่ยว พัทยาเติบโตรวดเร็วมาก เหมือนบ้านที่คนเคยอยู่ 5 คน มีคนมาอยู่มากมายมหาศาล ท่อประปาเป็นของเก่า การประปาส่วนภูมิภาคมาทำ เพราะต้องการอัดแรงดันน้ำให้ผู้ประกอบการได้ใช้ ท่อก็แตก ก็ต้องทำใหม่ 

 

เรื่องที่สอง เป็นความโชคดีของพัทยาที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคให้เราเป็น 1 ใน 4 แห่งที่ได้รับงบประมาณหลายพันล้านมาทำสายไฟฟ้าลงดิน 9 เส้นทาง ส่วนอีก 3 แห่งเป็น 3 จังหวัด คือ โคราช เชียงใหม่ และภูเก็ต ส่วนพัทยาได้รับเลือกในฐานะเมืองพัทยา ไม่ใช่ทั้งจังหวัดชลบุรี การเอาสายฝังลงดินยังทำต่อเนื่อง เพื่อให้เมืองเจริญและสวยงาม

 

เรื่องที่สาม น้ำท่วม เพราะพัทยาเป็นที่ต่ำ ฝั่งตะวันตกเป็นทะเล ตะวันออกคือภูเขา น้ำไหลลงที่ต่ำ เราได้ตัดทางน้ำเพื่อลงคลองสาธารณะ แก้มลิง อ่างเก็บน้ำ การขุดเจาะยังมี เพราะท่อระบายน้ำของเรา 60 เซนติเมตร ตอนนี้ทำตั้งแต่ 2 เมตรลงมา ก็ต้องทำทั้งระบบ เดิมทั้งน้ำเสีย-น้ำดีอยู่ท่อเดียวกัน วันนี้จะแยกท่อ อุดช่องโหว่น้ำเสียลงทะเล วันนี้ฝนตกน้ำยังท่วม แต่ระบายเร็วขึ้นมาก และถ้าโครงการที่พูดมาทั้งหมดทำเสร็จก็จะช่วยได้เยอะ แต่ยังไม่เบ็ดเสร็จ เพราะมีเรื่องอุโมงค์น้ำที่ ครม. อนุมัติ

 

อีกเรื่องที่คนไม่รู้คือ ตั้งแต่โควิดที่ผ่านมาสมาคมผู้รับเหมาไปร้องรัฐบาลกรณีคนงานติดโควิดกลับบ้าน เขาขอให้ไม่ปรับถ้างานไม่เสร็จตามกำหนด รัฐบาลอนุมัติตั้งแต่ปี 2563 จนทุกวันนี้ยังปรับไม่ได้เลย งานที่ไม่เสร็จตามกำหนดปรับไม่ได้ การขุดในพัทยาจะแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำใช้ แก้ปัญหาภูมิทัศน์โดยเอาสายไฟลงดิน 

 

เมื่อถามถึงการเมืองเรื่องบ้านใหญ่ มีข้อครหาว่าอยู่ในตำแหน่งมานาน ต้องการความเปลี่ยนแปลง จะตอบคำถามประชาชนอย่างไร 

 

ปรเมศวร์กล่าวว่า เรื่องบ้านใหญ่ไม่มีแล้ว ตอนนี้มีบ้านเดียวคือบ้านเรารักพัทยา เราทำงานกันต่อเนื่อง ผูกพันกันมาตั้งแต่สมัยคุณพ่อ แล้วทางกลุ่มเห็นว่าเรามีศักยภาพที่จะทำงานตรงนี้ได้ ก็นำเสนอเรามาเพื่อมาทำงาน ต่อยอด ต่อเนื่อง เพื่อเมืองพัทยาที่ดีขึ้น Better Pattaya 

 

เพราะฉะนั้นต้องให้ความเป็นธรรม พัทยามีปัญหาโควิด ถ้าไม่มีโควิดจะไปได้อย่างมากมาย ลองย้อนกลับไปดูประโยชน์ที่เราประสานงานสิ่งดีๆ มีอะไรบ้าง สมัยก่อนรถติดเราประสานกรมทางหลวงชนบททำอุโมงค์รถลอด ชายหาดโดนกัดเซาะเราก็ประสานกรมเจ้าท่า ทุกวันนี้สวยงาม เรามีการวางผังเมือง ทำอะไรหลายๆ เรื่องที่เป็นการวางโครงสร้างให้พัทยามาต่อเนื่อง 

 

ปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์

 

“สมัยพ่อผมเป็น ส.ส. ก็ร่วมกับคุณน้าของ ท่านสนธนา คุณปลื้ม ผลักดันโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด แผนพัฒนาทะเลชายฝั่งตะวันออกที่แหลมฉบัง จนทำให้จังหวัดชลบุรีโชติช่วงชัชวาล หรือแม้กระทั่งผลักดันให้วิทยาเขตศรีนครินทรวิโรฒเป็นมหาวิทยาลัยบูรพาเราก็ทำอยู่ หรือแม้กระทั่งแหลมบาลีฮาย เมื่อก่อนตอนคุณพ่อเป็นประธานกรรมาธิการการท่องเที่ยว เชิญนายกรัฐมนตรีสมัยนั้นคือท่านบรรหาร มาเพื่อจะสนับสนุนว่าเรามีโครงการกับ JICA เพื่อจะทำที่ดินตรงนั้นให้เป็นแลนด์มาร์ก 100 กว่าไร่ แต่ไปติดสิ่งแวดล้อมไม่ผ่าน วันนี้เลยเหลือ 18 ไร่ที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ ทุกอย่างมีไดนามิก ต่อยอดทำให้ดีมาตลอด ถ้าทำดีอยู่แล้วจะเปลี่ยนทำไม อีกเรื่องเรานำเสนอว่าเราเป็นทีมงานมืออาชีพ มีคนรุ่นใหม่พร้อมกับคนรุ่นใหญ่ มีความสัมพันระดับท้องถิ่นที่ดีกับนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพื้นที่ที่ติดกัน ฝ่ายส่วนกลางก็ประสานงบประมาณกัน เพราะงบประมาณจำกัดกัดมาก มีคนบอกว่าพัทยาเป็นเมืองพิเศษ มีความพิเศษอย่างเดียวเองคือ งบประมาณมี 2 ช่องทาง ช่องทางแรกจัดเก็บภาษีเอง อีกช่องทางเป็นช่องทางพิเศษคือ ไปขอกับกรรมาธิการงบประมาณที่สภา เอามาพัฒนา 2 พันกว่าล้านกับการสร้างรายได้ให้ประเทศ 3 แสนกว่าล้าน งบน้อยเกินไป ดังนั้นผู้บริหารต้องมีวิสัยทัศน์ มีคอนเน็กชัน ที่จะสามารถเชื่อมโยง นำงบประมาณของกระทรวง ทบวง กรม มาลงที่พัทยาเหมือนอย่างที่ผ่านมา” 

 

ปรเมศวร์กล่าวว่า ขอฝากให้ผู้ติดตาม THE STANDARD คิด วิเคราะห์ ว่านโยบายของเราเป็นนโยบายที่ทำจริง ทำได้ ไม่เพ้อฝัน เป็นสิ่งที่เราได้ทำมา แล้วเราจะทำต่อไป สิ่งต่างๆ ทั้งหลายเหล่านี้มีความสำคัญคือ เราต้องการทำให้เมืองพัทยาเป็นเมืองน่าอยู่ น่าลงทุน ของคนทั้งโลก เป็นหม้อข้าวของคนทั้งประเทศ เราเป็นเหมือนลูกชายคนโต ไปหาเงินเข้าบ้าน รัฐบาลต้องส่งเสริมให้มีงบประมาณสำหรับเมืองพิเศษ ขอฝากให้คนพัทยาร่วมมือ ร่วมใจ เติบโตไปด้วยกัน เมืองนี้จะเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของคนพัทยารวมถึงคนที่อยู่พัทยา ขอให้เลือกเบอร์ 1 และสามารถติดตามได้ใน LINE Official: @beerpattaya

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising