×

ปัตตานี เที่ยวได้ ผู้คนน่ารัก

16.11.2019
  • LOADING...
ปัตตานี

เสียงระเบิดตูมตาม พื้นที่สีแดงเสี่ยงอันตราย ไม่เหมาะแก่การท่องเที่ยว คือภาพลักษณ์ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เราคุ้นชิน จนเผลอทำใจไปแล้วว่าต่อให้สวยอย่างไรก็คงไม่ไป อารมณ์แบบว่า ‘ฉันไม่เที่ยวก็ได้ ถ้ามันดูไม่ปลอดภัยขนาดนั้น’ แต่พอได้ไปเยือน จากที่เคยระแวดระวังก็กลายเป็นหลงรักเอาเสียดื้อๆ อาหารการกินอร่อย ผู้คนน่ารัก ทั้งสถานที่ท่องเที่ยวก็ยังสวยงามและเท่อย่าบอกใคร

 

ผู้เขียนเคยเยือนปัตตานีมาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อตอนงานเฉลิมฉลองเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ตอนนั้นว่าสนุกสนานกับเทศกาลในปัตตานีแล้ว มาครั้งนี้กลับสนุกยิ่งกว่า เมื่อองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ชวนไปสำรวจการท่องเที่ยวแบบชุมชนในปัตตานี

 

 

เริ่มต้นทริปด้วยหนึ่งจุดเช็กอินยอดฮิตของปัตตานี มัสยิดกรือเซะ หรือ มัสยิดสุลต่านมูซัฟฟาร์ชาห์ เป็นมัสยิดเก่าแก่อายุกว่า 200 ปีในจังหวัดปัตตานี ที่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 22 ร่วมสมัยกรุงศรีอยุธยา หากใครยังจำเหตุการณ์ปะทะกันอย่างรุนแรงเมื่อปี พ.ศ. 2547 ได้ ตอนนี้บรรยากาศโดยรอบนั้นไม่ได้น่ากลัวอย่างที่เราเข้าใจ ศาสนิกชนยังคงเข้ามาทำพิธีกรรมทางศาสนาอยู่เป็นนิตย์ ลูกเด็กเล็กแดงต่างใช้สวนสาธารณะเหล่านั้นเป็นที่วิ่งเล่นสนุกสนาน แม้ตามตัวอาคารจะเห็นร่องรอยของกระสุนบ้างก็เถอะ

 

จากมัสยิดกรือเซะไปไม่ไกล เป็นตัวเมืองเก่าปัตตานี ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว นักท่องเที่ยวสามารถสะพายกล้องเดินเล่นถ่ายรูปได้ตามจุดต่างๆ มีสตรีทอาร์ต ตึกเก่า และมุมสวยๆ ให้แชะภาพเต็มไปหมด 

 

ตัวอย่างสตรีทอาร์ต

ปัตตานี

ถึงจะดูเก่า แต่แชะภาพได้อยู่นะ

 

ปัตตานี

มีตึกเก่าสวยๆ ให้ถ่ายรูปเต็มไปหมด

 

 

จากตัวเมืองปัตตานี ชุมชนแรกที่เราไปเยือนชื่อว่า ‘ชุมชนบ้านทรายขาว’ เป็น 1 ใน 12 ชุมชนต้นแบบ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ทาง อพท. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของชุมชนต้นแบบ ลักษณะเด่นของชุมชนนี้อยู่ที่พื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ ซึ่งติดกับอุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาว นักท่องเที่ยวที่มาเยือนจะได้สัมผัสวิถีชุมชนของสองวัฒนธรรม พุทธและมุสลิม 

 

การเที่ยวชุมชนนั้น เราแนะนำให้ติดต่อยังประธานชุมชนท่องเที่ยวบ้านทรายขาว เพื่อใช้บริการรถจี๊ปนำเที่ยว ซึ่งเป็นรถจี๊ปโบราณในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มีอายุประมาณ 80 ปี มาปรับโฉมใหม่เพื่อให้บริการนักท่องเที่ยว โดยเส้นทางจะเริ่มต้น ณ อุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาว พาไปจุดชมวิวเขารังเกียบ สักการะพระพุทธมหามุนินทโลกนาถ ที่นี่มีจุดน่าสนใจอยู่หลายแห่ง เช่น ผาพญางูยักษ์ ถ้ำวิปัสสนาหลวงปู่ทวด

ปัตตานี

 

หลังจากนั้นพาเราลัดเลาะเข้าสวนผลไม้ ทุเรียนของชุมชนบ้านทรายขาว ได้ชื่อว่าอร่อยมาก ผู้ใหญ่บ้านพาชมสวนของชาวบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสวนผสม มีทั้งทุเรียน เงาะ ลองกอง ฯลฯ กินได้แบบไม่อั้น แถมยังหอบติดไม้ติดมือกลับบ้านไปกินได้อีกเพียบ

ปัตตานี

 

จากนั้น จึงแวะไปยังมัสยิดบาโงยลางา มัสยิดเก่าแก่อายุกว่า 300 ปี โดยความร่วมมือระหว่างเจ้าอาวาสวัดทรายขาวกับโต๊ะอิหม่ามในสมัยนั้น ลักษณะอาคารมีการผสมผสานระหว่างไทย-มุสลิม โดยได้รับอิทธิพลของสถาปัตยกรรมจากอาณาจักรลังกาสุกะ 

ปัตตานี

อีกชุมชนที่น่าสนใจ คือชุมชนบ้านบานา แหล่งท่องเที่ยวทางชุมชนในจังหวัดปัตตานีที่ผู้เขียนชื่นชอบมากเป็นพิเศษ เพราะสถานที่เดียวเราสามารถเห็นถึงวัฒนธรรม วิถีชีวิต และอยู่อาศัยร่วมกับธรรมชาติได้อย่างน่ารัก ‘บานา’ เป็นตำบลหนึ่งของอำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี มีประวัติความเป็นมายาวนาน ว่ากันว่าในอดีตมีฐานะเป็นเมืองท่าของอาณาจักรปัตตานีลังกาสุกะฝั่งทะเลตะวันออก และเดดาห์ ศูนย์กลางชุมชนตั้งอยู่บริเวณ ‘สะพานไม้บานา’ สะพานไม้หน้ากว้างเมตรนิดๆ ทอดยาวลงสู่อ่าวปัตตานี ทำหน้าที่เป็นทั้งท่าเรือรับส่งชาวบ้านในละแวก รวมถึงสถานที่แวะพักผ่อนหย่อนใจ

ปัตตานี

 

ด้วยความที่อยู่ติดทะเล ชาวบ้านในชุมชนส่วนใหญ่จึงมีอาชีพทำประมง แน่นอนว่าเป็นประมงพื้นบ้านไม่ได้โอ่อ่าใหญ่โตอย่างจังหวัดอื่น อยู่กันแบบพอมีพอกิน จับได้เท่าไรเก็บไว้กินก่อนแล้วจึงเหลือขาย พอเข้าสู่ช่วงสัตว์น้ำวางไข่ พวกเขาจะงดจับสัตว์น้ำ และนำเรือเหล่านั้นปรับเปลี่ยนหน้าที่มาขับรับจ้างเป็นอาชีพเสริม หรือรวมกลุ่มทำท่องเที่ยวแนวชุมชน ให้นักท่องเที่ยวและผู้สนใจมาเรียนรู้ความเป็นบ้านบานา

ปัตตานี

 

ใกล้กันกับสะพานไม้บานา ห่างกับเพียง 2 นาทีเดิน เป็นจุดชมวิวที่ควรค่าแก่การแวะชม ลำไม้ไผ่วางทอดอยู่บนกลุ่มต้นโกงกางขนาดใหญ่ เปลี่ยนบริเวณนั้นให้กลายลานโล่งบนไม้สูง คนในพื้นที่นิยมมานั่งรับลมเย็นๆ ดูพระอาทิตย์อัสดงบริเวณอ่าว หรือไม่ก็กลายเป็นสถานที่ไว้นั่งพูดคุย  

 

ปัตตานี

บริเวณนี้ต้นโกงกางใหญ่มาก และแตกกิ่งก้านสาขาไปทั่วบริเวณ

ปัตตานี

 

นอกจากการทำประมง การทำนาเกลือ เป็นหนึ่งผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของบ้านบานา และประจำจังหวัด ชาวบ้านทำนาเกลือมาหลายชั่วอายุคน ในบันทึกของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ รายงานทูลเกล้าถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2439 ความว่า “…ในเมืองปัตตานี มีนาเกลือแห่งเดียวตลอดแหลมมลายู สินค้าเกลือเมืองปัตตานี ขายได้อย่างแพงถึงเกวียนละ 16 เหรียญ ขายตลอดออกไปจนสิงคโปร์ และหมาก…” แม้ปัจจุบันพื้นที่นาเกลือบางส่วนจะถูกเปลี่ยนเป็นโรงงานอุตสาหกรรมและนากุ้ง แต่ก็มีผู้ทำนาเกลือหลงเหลืออยู่ราว 500 คน พื้นที่ 3,500 ไร่ ผลิตเกลือได้ปีละ 7,000 ตัน เกลือที่ได้เก็บขายกันเป็นกระสอบหรือเป็นกันตัง 1 กันตังเท่ากับ 4 ลิตร ตกกันตังละ 70 บาท 

 

ปัตตานี

เกลือของปัตตานีรสชาติแตกต่างจากที่อื่น ด้วยมีรสเข้มอมหวาน กลายเป็นที่มาของชื่อเกลือหวาน ทำกับข้าวอร่อยนัก

ปัตตานี

 

สถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งที่เราชอบมาก คือ อุโมงค์ป่าโกงกาง ซึ่งเกิดจากการโค้งรับกันของกิ่งก้านต้นโกงกางสองฝั่งคลอง มีหลายอุโมงค์ตามการแตกแขนงของลำน้ำ เรือลำเล็กค่อยๆ เคลื่อนตัวไปตามลำน้ำ ลัดเลาะคลองท่ามกลางผืนป่าใหญ่ ป่าโกงกางที่นี่ถือว่าอุดมสมบูรณ์มาก ลำตัวอวบใหญ่แตกแขนงรากใหญ่โต ชวนให้นึกถึงทรัพยากรทางน้ำอันเหลือล้น การมีป่าชายเลนที่ดี หมายถึงคุณมีแหล่งพักพิงให้แก่สัตว์น้ำชั้นเลิศ ไม่ว่าจะเป็นกุ้งหอยปูปลา ล้วนแต่ต้องพึ่งพาทั้งนั้น ฉันถามชาวบ้านว่า ป่าโกงกางที่นี่ดูแข็งแรงและมีอายุยืนมาก แลดูไม่เหมือนป่าปลูกใหม่ในหลายพื้นที่ของประเทศไทยเลย คุณลุงบอกเราว่า พวกเขาดูแลรักษากันมานานแล้ว บริเวณนี้ไม่มีโรงทำถ่านเหมือนจังหวัดอื่นๆ ไม่มีการปล่อยสัมปทานป่าไม้ให้นายทุนใด

 

ปัตตานี

 

คุณลุงชี้ชวนให้เราดูต้นโกงกาง คุยกันเรื่องผลประโยชน์และการรักษาดูแลของชาวบ้าน พานไปถึงสัตว์น้ำจำพวกหอย ซึ่งมีมากนับร้อยชนิด เก็บขายกันเป็นกระสอบ ว่าแล้วก็จอดเรือลงไปหาหอยโล่กัน ซึ่งเป็นหอยประจำถิ่นมาอวดเรา

 

ปัตตานี

 

ปิดท้ายทริปด้วยอาหารพื้นถิ่นบานา ของกินขึ้นชื่อ ได้แก่ ปลากระบอก กุ้งทะเล หอย และปู ฉะนั้นเมนูของเราวันนี้จึงเกี่ยวข้องกับวัตถุพวกนี้ซะส่วนใหญ่ มีปลากระบอกทอด หอยกระจกผัดขมิ้น ยำผักเบี้ย แกงแดงปลาดุกทะเล แกงเหลืองกะทิปลากระบอก ฯลฯ แต่ละอย่างน่ากิน แลดูอร่อยทั้งนั้น พวกเรายึดพื้นที่ในศาลาบริเวณสะพานไม้มานาเป็นสถานที่พำนักลงมือหม่ำอาหารฝีมือแม่บ้านในชุมชน แต่ละจานอร่อยมาก เติมข้าวแล้วเติมอีกจนอิ่มแปล้นั่นแหละถึงเอ่ยพอ 

 

ปัตตานี

 

ปัตตานีเป็นเมืองน่ารัก อาหารอร่อย ผู้คนอัธยาศัยดี ตลอดเวลาที่เราเยือนปัตตานี ไม่มีวันไหนเลยที่ไม่สนุก ไม่มีช่วงเวลาระแวดระวังภัย สามจังหวัดชายแดนไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด มาเถอะ รับรองไม่ผิดหวัง

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising