×

ศาลจังหวัดปัตตานียกฟ้อง ‘อัสมาดี’ นักข่าวพลเมืองชายแดนใต้ กรณีขัดขวางเจ้าพนักงานขณะทำข่าววิสามัญฆาตกรรม

โดย THE STANDARD TEAM
24.02.2025
  • LOADING...
อัสมาดี

วันนี้ (24 กุมภาพันธ์) ศาลจังหวัดปัตตานีนัดฟังคำพิพากษาคดี อัสมาดี บือเฮง นักข่าวพลเมืองชายแดนใต้และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ที่ถูกพนักงานอัยการจังหวัดปัตตานียื่นฟ้องในข้อหาต่อสู้ ขัดขวางเจ้าพนักงาน ขณะลงพื้นที่เก็บข้อมูลทำข่าวเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงวิสามัญฆาตกรรม เนื่องจากมีความสนใจจัดทำเป็นบทความในหนังสือหรือรายงานข่าว เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ตามมาตรา 83, 138, 140 ประมวลกฎหมายอาญา และคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 พ.ศ. 2519 กับ แมะดะ สะนิ ซึ่งเป็นมารดาของผู้ตายที่ถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรมในคดีความมั่นคง 

 

ด้านอัสมาดีให้สัมภาษณ์หลังฟังคำพิพากษาว่า รู้สึกดีที่สามารถพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองในชั้นศาลได้ แม้กระบวนการทางกฎหมายจะยังไม่สิ้นสุด เนื่องจากพนักงานอัยการยังสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 1 เดือน หากอัยการยื่นอุทธรณ์ คดีจะถูกส่งต่อไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิจารณาคดีต่อไป 

 

แต่ยืนยันว่าจะทำหน้าที่สื่อมวลชนต่อไป โดยจะเดินหน้าติดตามประเด็นปัญหาต่างๆ ในพื้นที่ชายแดนใต้ โดยเฉพาะเรื่องการวิสามัญฆาตกรรม ซึ่งเป็นปัญหาที่ประชาชนให้ความสนใจ อย่างไรก็ตาม ยังคงรู้สึกเสียใจที่ในกระบวนการยุติธรรมยังไม่มีกฎหมายที่ให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์มากเพียงพอ 

 

อธิวัฒน์ เส้งคุ่ย ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า วันนี้ศาลจังหวัดปัตตานีมีคำพิพากษายกฟ้องอัสมาดี โดยให้เหตุผลว่าจำเลยไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง และพยานหลักฐานโจทก์ไม่เพียงพอที่จะพิสูจน์ความผิด จึงยกผลประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย 

 

คดีนี้นับเป็นอีกหนึ่งกรณีที่สะท้อนประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนในการทำหน้าที่ในพื้นที่ขัดแย้ง ซึ่งตลอดขั้นตอนของการต่อสู้คดี อัสมาดีได้ให้การปฏิเสธ ยืนยันความบริสุทธิ์ของตนมาตั้งแต่ต้น อย่างไรก็ตาม คดีที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพสื่อมวลชนไม่ควรกลายเป็นคดีอาญาตั้งแต่แรก เพราะเป็นภาระและต้นทุนทางกฎหมายที่จำเลยต้องแบกรับ และทำให้เกิดคำถามว่านักข่าวที่ปฏิบัติหน้าที่รายงานข้อเท็จจริงควรต้องมาถูกดำเนินคดีทางอาญาหรือไม่ 

 

ขณะเดียวกันศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกแมะดะเป็นเวลา 1 ปี และปรับเป็นเงินจำนวน 10,000 บาท ซึ่งศาลลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงเหลือจำคุก 6 เดือน ปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้เป็นเวลา 2 ปี 

 

สำหรับบรรยากาศก่อนรับฟังคำพิพากษา มีนักกิจกรรมและเครือข่ายประชาสังคมชายแดนใต้ เช่น มูลนิธิภาคใต้สีเขียว, เครือข่ายติดตามเฝ้าระวังโครงการพัฒนาปาตานี, นักวิชาการ, กลุ่ม The Patani, เครือข่ายบัณฑิตปาตานี, เครือข่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนและวัฒนธรรม และตัวแทนของกองทุนราชประสงค์กว่า 30 คน รวมถึงองค์กร Protection International เข้าร่วมสังเกตการณ์การอ่านคำพิพากษาในครั้งนี้ด้วย 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising